“ข้าวทุกจานอาหารทุกอย่าง
อย่ากินทิ้งขว้างเป็นของมีค่า
ผู้คนอดอยากมีมากหนักหนา
สงสารบรรดาเด็กตาดำๆ”
คุ้นๆ ไหมคนไทย แล้วเรายังกินเหลือกันอยู่ไหม?
การกินเหลือนอกจากสิ้นเปลือง เสียโอกาสแก้ผู้อื่นแล้ว ยังกระทบความมั่นคงทางอาหาร เรื่องกินจึงกลายเป็นวาระแห่งชาติในหลายๆ ประเทศไปแล้ว เช่น กฎหมายฝรั่งเศสที่ห้ามมีอาหารเหลือในร้านค้า โครงการบริจาคอาหารแก้ผู้ยากไร้ รวมไปถึงการแปลงอาหารเป็นพลังงาน
แม้จะมีฐานะ หรืออยู่ในประเทศที่มีอาหารมากมาย แต่คงน่าเสียดายถ้ากินทิ้งขว้าง แต่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารยังไม่ได้เป็นเรื่องสำคัญระดับต้นๆ ของไทย คนฟุ่มเฟือยก็ยังมีพฤติกรรมการกินอย่างหรูหราเช่นเดิม สุดท้ายอาหารก็ไม่พ้นต้องกำจัด หวังว่าไทยจะมีการขับเคลื่อนเรื่องพฤติกรรมการบริโภคอย่างจริงจังบ้างนะ
หรือว่าเราควรเริ่มจากต้นเหตุก่อน ต้นเหตุที่ทำให้เหลือทิ้ง ต้นเหตุที่ทำให้เปลืองทรัพยากร
กระแส “กินจนเกลี้ยง” ที่จีนมาแรงมาก คือ พอประมาณ ห้ามกินเหลือ อันที่จริงแคมเปญนี้มีมา 8 ปีแล้ว แต่กลับมาอีกครั้งด้วยเวอร์ชัน 2.0 จากเดิมสั่งแค่ข้าราชการ แต่ตอนนี้รวมไปถึง “คนจีนทั้งประเทศ” แล้ว แก้ปัญหาตรงจุดสุดๆ ในเมื่อกินหมดก็ไม่มีอาหารเหลือ! กินข้าวเหลือแม้แต่เม็ดเดียว โดนคนจีนด่าตายเลย
เหตุเกิดจากวัฒนธรรมจีนที่เวลาสั่งอาหารเลี้ยงแขกต้องให้อาหารเหลือ จึงเป็นการให้เกียรติ อย่ากระนั้นเลย สังคมไทยก็มี เมื่อเพื่อนเลี้ยงข้าว มักจะสั่งอาหารมาเต็มโต๊ะ สั่งเอาๆ และคนเรายังเหนียมอาย เวลาขอห่ออาหารกลับบ้านอีกต่างหาก
เรามาลอง “กินจนเกลี้ยง” บ้างดีกว่า สั่งอาหารมาแต่พอกิน ไม่อิ่มค่อยสั่งเพิ่ม เหมือนคำพิจารณาอาหารที่เราท่องกันตั้งแต่เด็กนั่นเอง