ทำไมใครๆ เลือกให้ผลิตภัณฑ์เพื่อความงามของญี่ปุ่นเป็น อันดับ 1 ในใจ

0
632
kinyupen

สาวๆ หนุ่มๆ เคยลังเลใจเวลาต้องเลือกสกินแคร์มาดูแลผิวกันมั้ย? แน่นอนว่าทุกแบรนด์ย่อมมีการโฆษณาอวดอ้างสรรพคุณกันอย่างเต็มที่ แต่อันดับ 1 ในใจสาวไทยอย่างเราก็คงไม่มีใครสู้พี่ญุ่นได้ ไม่ว่าจะจากผลสำรวจต่างๆ เรื่องความงามก็คงต้องยกให้พี่เค้า  ดูได้จาก ของฝากจากญี่ปุ่น ที่ทุกคนต้องเสริชหาก่อนเดินทาง…ตัวไหนดี ตัวไหนดัง ทั้งๆ ที่ไม่ได้มีการโฆษณาโหมกระแสอะไรให้มากความ แต่กระแสต่างๆ กลับมาจากที่นี่ ไม่ว่าจะเป็นกระแสน้ำตบฟีเวอร์, ไฮยาลูรอนสุดฮิต, วิปปิ่งโฟมตัวดัง และอีกหลายตัว ตั้งแต่หัวจรดเท้าที่ขนกันมาให้สาวๆ ประทินโฉม กิน อยู่ เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต จึงชวนมาดูประวัติศาสตร์ ที่ทำให้ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่ขึ้นชื่อ..มาดูกันว่าเสียงลือ เสียงเล่าอ้าง อันใดพี่เอย ทำไมของดี ต้องโดน หิ้วกลับบ้านกันตัวโยนตลอดๆ

 

 

มาเข้าเรื่องกันเลย…หลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2 จบลง อเมริกาเข้ามามีบทบาทในการปกครองญี่ปุ่น ในช่วงยึดครอง (ค.ศ. 1945-1952) ทำให้ญี่ปุ่นเกิดการเปลี่ยนแปลงสำคัญ 3 ด้าน คือ การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง เศรษฐกิจ ตลอดจนสังคมและวัฒนธรรม สินค้าเพื่อการอุปโภคและบริโภคส่วนใหญ่จึงเป็นสินค้าจากอเมริกา แต่ในขณะนั้นผลิตภัณฑ์ของอเมริกาที่นำเข้ามาเพื่อให้คนญี่ปุ่นใช้อุปโภคบริโภคกลับไม่มีคุณภาพ

 

“การผ่าตัดเศรษฐกิจเพื่อผลประโยชน์ทางการเมืองแทนที่จะเป็นผลดี กลับทำให้เศรษฐกิจทรุดหนักลง นโยบายดังกล่าวจึงถูกยกเลิกและหันมาฟื้นฟูอุตสาหกรรมของญี่ปุ่นขึ้นมาใหม่” จากส่วนหนึ่งของ บทความวิชาการ : สหรัฐอเมริกากับการปฏิรูปประเทศญี่ปุ่นในช่วงยึดครอง(ค.ศ.1945-1952), นโยบายและผลกระทบ ของ นิพัทธพงศ์  พุมมา

 

ขณะเดียวกันการเติบโตของเศรษฐกิจในญี่ปุ่นก็ไม่ดี ท้ายที่สุดสื่อหลายสำนักจึงลุกขึ้นมาช่วยผู้คนในประเทศโดยการเสนอแนวคิดที่กลายเป็นบรรทัดฐานในท้ายที่สุดว่า ทำไมเราคนญี่ปุ่นถึงไม่มีของดีๆใช้ สื่อเองก็ช่วยนำเสนอ หรือหากเป็นปัจจุบันก็คือการรีวิว (Review) แสดงตัวอย่างการใช้งาน

 

แนวคิดของการผลิตสินค้าของญี่ปุ่นสะท้อนจากซีรี่ย์ เรื่อง Daddy Sister (2016) หรือรู้จักกันในชื่อ Toto Nee-chan ที่สร้างจากเค้าโครงเรื่องจริงของ Shizuku Ohashi ผู้ก่อตั้งนิตยสาร Kurashi no techo และบรรณาธิการ Yasuji Hanamori  โดยตัวละครหลักของเรื่อง คือ สึเนะโกะ ที่หลังจากสูญเสียพ่อ เธอต้องทำหน้าที่เป็นหัวหน้าครอบครัว และต่อมาเลือกที่จะทำงานเพื่อผู้หญิงญี่ปุ่น โดยมีแนวคิดที่ว่า “to be there for women’s lives หรือ อยู่ที่นั่นเพื่อชีวิตของผู้หญิง”

 

หลังจากสงครามโลก เธอเปิดตัวนิตยสารไลฟ์สไตล์ที่สร้างขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์แก่ผู้หญิง โดยนิตยสารดังกล่าวได้รับความนิยมอย่างมากและกลายเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับผู้หญิงที่อาศัยอยู่ในช่วงที่เศรษฐกิจเติบโตสูง โดยนิตยสารนี้ปฏิเสธที่จะยอมรับการโฆษณา กลายเป็นรูปแบบสำหรับการสื่อสารมวลชนรูปแบบใหม่ที่ทำเพื่อผู้อ่านอย่างแท้จริง

 

กลับมาที่ความเป็นจริงที่สื่อต้องการนำเสนอ โดยในหลายครั้งก็มีการนำผลิตภัณฑ์ชนิดเดียวกันในหลากหลายแบรนด์ มาตั้งเพื่อทดสอบคุณภาพให้เห็นกันจะๆ กลายเป็นการปลูกฝังทั้งผู้ผลิตและผู้นำเข้าผลิตภัณฑ์ต่างๆว่า  “ถ้าคุณทำของไม่ดี คุณจะขายไม่ได้”

 

อ้างอิง : บทความวิชาการ สหรัฐอเมริกากับการปฏิรูปประเทศญี่ปุ่นในช่วงยึดครอง (.1945-1952) : นโยบายและผลกระทบ

 

 

แต่ถ้าพูดกันในมุมมองของคนใช้จริง หลายเสียงจาก pantip และโซเชียลคอมมูนิตี้หลายแหล่ง ต่างลงความเห็นว่า เครื่องสำอางของคนญี่ปุ่น มีความใกล้เคียงกับสภาพผิวของคนไทยมากกว่าทางฝั่งยุโรป หรือแม่แต่เพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างเกาหลี เพราะด้วย Under Tone ของสีผิวที่มีความใกล้เคียงกับคนไทย เพราะคนไทยส่วนใหญ่จะมีอันเดอร์โทนเหลือง

 

 

ทั้งในส่วนของการบำรุง การทำความสะอาด หรือแม้แต่เมคอัพที่ปลอดภัย เพราะผลิตภัณฑ์ส่วนใหญ่ มีส่วนผสมที่ชัดเจน ตรวจสอบได้ ไม่ค่อยปรุงแต่งสี เติมกลิ่น ใส่แอลกอฮอล์ให้ต้องกังวล และที่สำคัญใช้ได้นานมาๆ กระปุกนึงใช้ไป 1 ปีแบบจุกๆ เพราะไม่ต้องประโคมเยอะ ใช้เพียงนิดผิวก็ฟิตแล้ว มั่นใจได้ในคุณภาพราคาน่าคบหา มีให้เลือกตั้งแต่ราคามัธยมจนส่งออกนอกกันเลย

kinyupen