เมื่อชีวิตออกแบบได้..เออรี่รีไทร์ก็ไม่ใช่ปัญหา

0
697
kinyupen

เพราะกำหนดนิยามชีวิต..ว่าชีวิตคือการเดินทาง “รักษ์-สุพัฒน์ วัฒนกุลจรัส” อดีตครีเอทีฟของบริษัทโฆษณาชั้นนำที่ประจำในต่างประเทศ คิดสร้างสรรค์ผลงานให้กับคอนซูเมอร์แบรนด์ระดับโลกจึงเลือกเกษียณตนเองก่อนเวลา

 

เหตุผลในการลาออกครั้งนั้น เพราะต้องการ “เวลา” และ “อิสระ” ที่จะทำเรื่องที่ค้างในใจ 2 เรื่อง จากที่ตัดสินใจและยื่นใบลาออกในวันครบรอบคล้ายวันเกิดของตัวเองเมื่อ 8 ปีก่อน ปัจจุบัน รักษ์ สุพัฒน์ ยืนยันว่าเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้อง เพราะทุกวันนี้ชีวิตดี๊ดี มีความสุขกับสิ่งที่ทำได้ทุกวัน

 

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต นำท่านมาพบกับเรื่องราวฟรีแลนซ์เชอร์รุ่นใหญ่ ซึ่งมีบุคลิกเต็มไปด้วยความสดใสสะท้อนผ่านสีสันเสื้อผ้าแสนเฉี่ยว ที่มาพร้อมรอยยิ้มและเสียงหัวเราะตลอดการสนทนา โดยคุณรักษ์เริ่มต้นเล่าให้ทีมงานฟังว่า ก่อนหน้านี้เคยเป็นครีเอทีฟไดเร็คเตอร์ให้กับบริษัทโฆษณาชั้นนำ ซึ่งมีประสบการณ์ทั้งในไทยและต่างประเทศกว่า 30 ปีก่อนผันตัวมาเป็นฟรีแลนซ์เซอร์จนถึงปัจจุบัน

 

วินัยการเงินสำคัญมาก

 

“ถ้าเราต้องการเป็นอิสระจริงๆ จากใครก็แล้วแต่สิ่งสำคัญอย่างหนึ่งคือการเงิน ถ้าเกิดการเงินเราเพียงพอ เราก็มีอิสระเพียงพอ โดยปัจจุบันจะใช้จ่ายกับเรื่องที่เรามีความสุขเท่านั้น อะไรที่นอกเหนือจากนั้นช่วงหลังๆ แทบจะไม่ได้ใช้เลย”

 

คุณรักษ์ เล่าว่า ตัดสินใจรีไทร์เมื่ออายุ 50 ปี โดยขณะนั้นเป็นครีเอทีฟไดเร็คเตอร์ให้กับเอเยนซี่ที่มี Regional Hub อยู่ที่มาเลเซีย โดยทำงานโฆษณาเพื่อใช้ครอบคลุมทั้งในอาเซียน เอเชียใต้ และออสเตรเลีย

 

เหตุผลสำคัญการรีไทร์ คือ

1. ต้องการรู้จักตนเองผ่านการฝึกตน เช่น นั่งสมาธิ-วิปัสสนา

2.เกิดจากความคิดที่ว่า “เป็นนักคิดแต่ไม่เคยปฏิบัติจริง” ดังนั้นจากที่ทำโฆษณาเกี่ยวกับเส้นผมมาตลอด จึงอยากเรียนรู้ว่าการทำผมจริงแล้วมันยากขนาดไหน เพราะฉะนั้นสองอย่างที่อยากจะทำไปพร้อมๆ กันก็คือ เรียนทำผมและฝึกตน มันคือการเริ่มต้นใหม่อย่างหนึ่ง

 

หลักสำคัญก่อนคิดเกษียณ คือ ต้องเตรียมตัวให้พร้อมล่วงหน้าคำนวณทรัพย์สินเงินทองที่มีอยู่เพียงพอต่อการใช้ชีวิตหรือไม่ พยายามไม่สร้างหนี้ อย่าใช้เกินที่ได้รับ และหารายได้เสริม โดยคุณรักษ์เล่าว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้สามารถรีไทร์ไเออร์รี่ด้อย่างสบายใจ นั่นคือ ไม่มีภาระครอบครัว ดังนั้นต่อจากนี้ไปเวลาร้อยทั้งร้อย เงินร้อยทั้งร้อยที่สะสมมาทั้งหมด จึงขึ้นอยู่กับว่าจะบริหารจัดการอย่างไรให้เพียงพอ

 

สิ่งที่มีอยู่ก็ไม่ได้หมายความว่าเคยเก็บเงินอยู่ที่ร้อยบาทแล้วก็ปล่อยให้มันอยู่ที่ 100 บาท เราก็หาประโยชน์จากเงิน 100 บาทที่เราเก็บว่าทำยังไงให้มันงอกเงยได้บ้าง เช่นลงทุนซื้อกองทุนหรือ ซื้อหุ้นกู้ เพราะมันจะทำให้เงิน 100 บาทมีมูลค่าอย่างน้อยเท่าเดิมในเวลาที่ผ่านไป บางครั้งได้มากกว่าก็เป็นโชคดี แต่อย่าลืมบางครั้งก็มีการเสียเหมือนกัน การลงทุนก็มีความเสี่ยง แต่พยายามเสี่ยงให้น้อยที่สุด

 

“พี่พยายามไม่สร้างหนี้ หรือ ว่าไปซื้อสิ่งของ เช่น ซื้อบ้าน ซื้อคอนโดอะไรเพิ่มเติมที่จะต้องมาลงตรงนี้อีก เพราะว่าที่มีอยู่ก็น่าจะพอแล้ว แล้วก็หารายได้จากมัน ยังผันตรงนั้นให้เป็นรายได้ด้วยซ้ำไป”

บาลานซ์ชีวิต ท่องเที่ยว ท่องธรรม สู่จิตอาสา

“หลังจากที่ออกมาจากการเป็นลูกจ้าง ที่เหลือคือการบริหารเวลา เวลาเป็นของเราเลย 100 % เราจะทำอะไรก็เป็นเรื่องของเรา อย่างที่บอกอยากเรียนรู้ทั้งเรื่องของความงามที่เกี่ยวข้องกับงานของเราโดยตรง และการปฏิบัติทางด้านจิต การฝึกจิต การทำสมาธิ งานที่เราทำก็เป็นเหตุผลที่เรามาเรียนรู้เรื่องความงาม เพราะเป็นงานที่เราถนัดและเราอยู่กับมัน”

 

นอกจากท่องเที่ยวทั้งในประเทศและต่างประเทศแล้ว การฝึกวิปัสสนาและปฏิบัติธรรมก็เป็นกิจวัตรที่ไม่เคยขาดมาตลอด 8 ปีที่เกษียณ ซึ่งหากมีเวลาช่วงยาวๆ ก็จะปลีกตัวไปปฏิบัติธรรม ฝึกวิปัสสนา ในวันเสาร์ – อาทิตย์ ถ้าไม่ติดภารกิจอะไรก็จะออกไปสวดมนต์ที่วัดข้างบ้าน ส่วนการเรียนทำผมก็เรียนสำเร็จเรียบร้อย โดยปัจจุบันสามารถทำได้แบบครบวงจรทั้งทำผม แต่งหน้า และกิจกรรมยามว่างอีกอย่างก็คือออกกำลังกาย เพราะมองว่าคนเราเมื่ออายุมากขึ้น ก็ต้องให้เวลากับการออกกำลังกาย หันมาใส่ใจในเรื่องของสุขภาพให้มากขึ้น

 

อีกสิ่งที่ทำอยู่เสมอไม่เคยขาด คือ “งานจิตอาสา” ทำมานานกว่า 6-7 ปี หลักๆ คือการเป็นอาสาสมัครให้กับองค์กรหรือมูลนิธิการกุศลต่างๆ ที่ทำมาแล้วมากมาย ล่าสุดก็คือ Operation Smile มูลนิธิสร้างรอยยิ้ม โดยเข้าไปเป็นหนึ่งในทีมของหมอ พยาบาลและอาสาสมัครที่ไปช่วยกันผ่าตัดให้กับน้องๆ ที่เป็นปากแหว่งเพดานโหว่ โดยบทบาทที่รับผิดชอบ คือ เจ้าหน้าที่คัดกรอง คอยซักประวัติคนไข้ เพื่อทำเวชระเบียนของคนไข้ ก่อนที่จะถูกคัดเลือกให้เข้ารับการรักษาในขั้นตอนต่อไป นอกจากนี้บางเวลายังเป็นแม่หมอ (ดู) อาสาดูเส้นลายมือให้เหล่าแพทย์ พยาบาลที่สนใจด้วย

 

ยิ่งให้ ยิ่งรู้จักตัวเอง

สิ่งที่ได้จากการเป็นจิตอาสา นอกจากความสุขทางใจที่ได้เป็น “ผู้ให้” ตอบแทนสังคมแล้ว คุณรักษ์บอกต่อว่ามีข้อดีอีก 2 ประการ ที่ค้นพบคือ

 

1. ทำให้รู้จักตัวเองมากยิ่งขึ้น อย่างเมื่อก่อนก็จะหลุดมากพอสมควร อาจจะเป็นเพราะว่าในช่วงที่ทำงาน ก็จะคาดหวังกับผลงานที่ออกมา รู้สึกใจจดใจจ่อมากจนเกินไป จนลืมไปว่าคนรอบข้างก็ต้องการใส่ใจความรู้สึกของเขาบ้าง ไม่ใช่แค่เพียงผลลัพธ์ของงานเท่านั้น

2.ทำให้ทันกับความรู้สึกตัวเอง ช่วงหลังๆ จะอารมณ์ดีขึ้น โดยเวลาอารมณ์เสีย เกรี้ยวกราด หรือ อะไรก็แล้วแต่ที่มากระทบตัว ก็จะรู้สึกตัวเร็วขึ้น ตั้งตัวได้เร็วขึ้นว่าต้องระงับยับยั้งอารมณ์นี้ และเมื่อรวมกับการเข้าวัด วิปัสสนากรรมฐานที่ทำอยู่เป็นประจำ จึงทำให้มีความสุขตามมากขึ้น ขณะที่การออกกำลังกายก็อย่าให้ขาด เพราะทำให้มีสติ มีสมาธิมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งจะส่งผลต่อความสุข ส่งผลต่อประสิทธิภาพในเรื่องต่างมากขึ้นตามไปด้วย

 

บทความอื่นๆ สร้างแรงบรรดาลใจ ใช้ชีวิต

 

“ฝากถึงทุกๆ คน ที่สนใจการเป็นจิตอาสาว่า การจะเป็นจิตอาสาหรือการทำการกุศลใดๆ ในฐานะของผู้ให้ ก็ขอให้กระทำเท่าที่กำลังแรงของเราไหว มีมากก็ให้มาก มีน้อยก็ให้น้อย ไม่ต้องไปเครียด เพราะถ้าให้แล้วทำให้เราลำบาก ตัวเราเองก็จะกลายเป็นทุกข์ได้ ฉะนั้นการเป็นผู้ให้ก็ขอให้มันมีความพอดีกับตัวเรา ถ้าเรามีเวลาก็ขอให้เราแบ่งปันเวลาสักเล็กน้อย เพราะถือว่าการแบ่งปันเป็นการให้ในส่วนที่เป็นประโยชน์กับผู้อื่น ก็ให้อย่างพอดิบพอดี” คุณรักษ์ กล่าวทิ้งท้าย

kinyupen