“ไร้หนี้..แต่ไม่มีเงินเก็บ” เสี่ยงหรือไม่ เริ่มจากไหนดี?

0
824
kinyupen

พร้อม 3 เทคนิคง่ายๆ สำหรับผู้อยากมีเงินเก็บ

มีใครเป็นบ้าง..ทำงานมาตั้งนานแต่ไม่มีเงินเก็บ บางคนอาจให้เหตุผลว่า “เพราะฉันมีทั้งหนี้บ้าน หนี้รถ และต้องดูแลครอบครัวน่ะสิ ฉันจึงยังไม่มีเงินเก็บ” แต่ในความเป็นจริงแล้ว ถ้าวางแผนให้ดียอมตัดค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยบางส่วน ก็อาจเริ่มมีเงินเก็บได้เล็กๆ น้อยๆ ได้ แต่ก็ต่างกรรมต่างวาระดังนั้นกลุ่มนี้จึงขอละไว้ก่อนในฐานที่เข้าใจได้

 

 

แต่กลุ่ม ”ไร้หนี้..แต่ไม่มีเงินเก็บ” นี่สิค่อนข้างน่าเป็นห่วง

เพราะแม้วันนี้จะไร้กังวลเรื่องหนี้สิน ไม่มีภาระใดที่ต้องรับผิดชอบดูแล สามารถกิน เที่ยว ช็อปได้ตามใจ ตามกำลังเงิน แต่ถ้าวันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เช่น เป็นพนักงานประจำแต่ต้องตกงานกะทันหัน เป็นฟรีแลนซ์แต่ลูกค้าหดหาย ถูกแคนเซิลงานจากพิษเศรษฐกิจแบบไม่ทันตั้งตัว เหมือนเหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นช่วงโควิด-19 ถ้าสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น การ “ไร้เงินเก็บ” จะส่งผลกระทบต่อความเสี่ยงด้านการเงินของตัวคุณใน 3 ส่วน

 

ภาพจาก : www.changemyrate.com

 

ส่วนที่ 1 : ค่าใช้จ่ายรายวัน

นี่คือผลกระทบส่วนแรกที่คุณต้องเผชิญระหว่างหางานใหม่ หรือ มองหาช่องทางตั้งต้นธุรกิจส่วนตัว เพราะคุณต้องควักเงินออกอย่างเดียวสำหรับการกิน ใช้ หรือ เดินทางในแต่ละวัน ช่วงแรกอาจยังไม่กระทบ แต่ถ้าเงินเริ่มร่อยหรอลงไปเรื่อยๆ แล้วยังไม่มีวี่แววจะได้งานเสียทีอาจมีทรุด

ส่วนที่ 2 : เงินสำรองฉุกเฉิน

เงินส่วนนี้เป็นรายจ่ายแห่งอนาคตที่อาจเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว ซึ่งส่วนใหญ่มาจากปัจจัยที่เหนือการควบคุม ทั้งจากโรคภัยไข้เจ็บ อุบัติเหตุของตัวคุณเอง หรือ คนในครอบครัว รถเสีย ข้าวของเครื่องใช้จำเป็นเกิดชำรุด ถ้าเป็นวงเงินเล็กๆ น้อยๆ อาจพอไหว แต่ถ้าต้องใช้เงินก้อนใหญ่ในคราวเดียวแล้วดันไม่มีเงินสำรองไว้นี่สิ อาจต้องไปกู้ยืมจนเป็นหนี้ตามหลังก็ได้

ส่วนที่ 3 : เงินสำหรับอนาคต

ถ้าไม่มีเงินเก็บคุณจะไม่สามารถวางแผนต่อยอดชีวิตได้เลย ทั้งการลงทุนทำธุรกิจส่วนตัว หรือ การลงทุนในหุ้น กองทุนต่างๆ ที่จะช่วยสร้างทรัพย์สินให้งอกเงยขึ้นมา ซึ่งสุดท้ายแล้ว จะส่งผลต่อชีวิตหลังเกษียณที่ต้องใช้ชีวิตต่อไปอย่างน้อย 10-20 ปี โดยที่รายจ่ายยังคงต้องมีทั้งการกินใช้ หรือ การรักษาตัวเมื่อเจ็บป่วย

ดังนั้นถ้าวันนี้คุณยังไม่เริ่มออมเงิน ให้เริ่มคิดใหม่ก็ยังทันนะ เพราะสุดท้ายแล้วชีวิตเป็นของเรา อยากให้เป็นแบบใด…เราสามารถเลือกเส้นทางได้ตามใจ

 

3 เทคนิคง่ายๆ สำหรับผู้อยากมีเงินเก็บ

 

ภาพจาก : Sharon McCutcheon

 

1.“ตั้งคำถาม” ก่อนจ่าย..จำเป็นจริงหรือ

ถ้าทุกวันนี้ ใครยังต้องใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน ต้นเดือนเป็นราชา กลางเดือนกินมาม่า และกลายร่างเป็นยาจกทุกปลายเดือนละก็ ลองหาวิธีลดค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นลงบ้าง แต่ไม่ได้หมายความว่าต้อง “งด” ทั้งหมดนะ เพียงแต่คิดก่อนใช้ให้มากขึ้น อาทิ เราจำเป็นต้องออกไปปาร์ตี้สังสรรค์ทุกสัปดาห์หรือไม่ ลดความถี่การกินบุฟเฟต์ลงดีหรือไม่ เสื้อผ้าจำเป็นต้องซื้อใหม่ทุกเดือนหรือเปล่า ของเก่าใส่หมดหรือยัง กาแฟจากวันละ 2 แก้ว เหลือวันละแก้วดีไหม หรือ ลองกาแฟราคาถูกลงมา โปรโมชั่นโทรศัพท์มือถือที่ใช้อยู่คุ้มหรือไม่

สิ่งเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ถ้าลองจดลงบัญชีจะเห็นได้เลยว่า แต่ละเดือนคุณมีค่าใช้จ่ายไม่จำเป็นจริงๆ เท่าไหร่ “เงินส่วนนี้แหล่ะ คือ เงินออมก้อนแรกของคุณ”

 

2.“ตั้งเป้า” ต้องมีเงินออมอย่างน้อย 3 – 6 เท่าของรายจ่ายต่อเดือน

เผื่อกรณีเกิดเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด อาทิ ตกงาน เจ็บป่วย อุบัติเหตุ หรือ ช่วยเหลือครอบครัว

 

3.“ตั้งใจทำ” แบ่งเงินใช้จ่ายและเงินออมออกจากกันให้ชัดเจน

เมื่อเงินเดือนเข้ามาให้ตัดออกไปเป็นเงินออมขั้นต่ำผ่านบัญชีเงินฝากประจำให้ได้อย่างน้อย 500 บาทต่อเดือนก่อนก็ยังดี หัดทำทุกเดือนให้ติดเป็นนิสัย แล้วค่อยๆ เพิ่มจำนวน หรือ รูปแบบเงินออมแต่ละเดือนไปเรื่อยๆ ตามกำลังของเรา

 

ภาพจาก : https://bobatoo.co.uk

 

การออมเงินก็เหมือนการปลูกต้นไม้ เมื่อปลูกแล้วต้องรอเวลากว่าจะเห็นดอกเห็นผล ช่วงแรกที่เริ่มออมอาจยังไม่เห็นอะไรมากมายเพราะยังเป็นเงินก้อนเล็กๆ แต่เมื่อทำไปเรื่อยๆ  ก็จะเริ่มเติบโตเป็นเงินก้อนใหญ่ให้เราอิ่มอกอิ่มใจ และสามารถนำมากินดอกกินผลได้อย่างสมน้ำสมเนื้อ ซึ่งสิ่งที่ยากที่สุดของการออมเงิน คือ “การเริ่มต้นทำจริง” ดังนั้นเมื่อคิดแล้วให้เริ่มทำเลย…

 

 

kinyupen