4 เรื่องควรรู้..เตรียมรถพร้อมรับฤดูฝน

0
418
kinyupen

ฤดูฝนมาถึงเต็มตัวแล้วนะครับ การเตรียมความพร้อมรถยนต์รับหน้าฝนจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ถามว่าเป็นเรื่องที่ยุ่งยากอะไรมั้ย ไม่เลย สามารถทำได้ง่ายๆ ด้วยตัวเอง เพราะการใช้รถใช้ถนน จำต้องปรับเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ทั้งรูปแบบการขับขี่ และตัวรถเองที่จะต้องเตรียมความพร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป

 

เริ่มกันที่ “ระบบไฟ” ซึ่งเป็นสิ่งที่มีความสำคัญมาก

โดยเฉพาะในช่วงที่ทัศนวิสัยการขับขี่ลดลงจากการที่ฝนตก ดังนั้นจึงต้องตรวจสอบดูให้แน่ใจว่าพร้อมใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นไฟส่องสว่าง ไฟเลี้ยว ไฟท้าย ไฟเบรก ไฟถอยหลัง รวมไปถึงไฟส่องสว่างในห้องโดยสาร

 

ภาพจาก : www.confused.com

 

ผมอยากแนะนำวิธีการง่าย ๆ ในการตรวจเช็คเบื้องต้นพวกนี้ โดยเฉพาะเมื่อเราไม่สามารถพึ่งพาใครให้มาดูหรือมาตรวจเช็คให้เราได้

โดยขณะที่เราจอดรถในลานจอด “เมื่อสตาร์ทรถแล้วก่อนออกรถให้ลองเหยียบเบรก และมองไปที่กำแพงข้างหลังว่าไฟเบรกสว่างหรือไม่” ให้ลองทำแบบนี้กับสัญญาณไฟเลี้ยว ไฟถอยหลัง ยิ่งถ้าทำในลานจอดรถที่มืดๆ เราจะเห็นชัดเจนครับ  

 

นอกจากนี้ สิ่งสำคัญในขณะขับรถยามที่ฝนตกคือ การเปิดไฟหน้า (ไฟใหญ่ไม่ใช่ไฟหรี่) เมื่อฝนตกทุกครั้ง หรือ แม้แต่ช่วงที่ครึ้มฟ้า ครึ้มฝน โพล้เพล้ หรือเรียกว่าช่วงที่ทัศนวิสัยต่ำกว่าปกติ ก็ควรเปิดเช่นกัน หลายคนไม่นิยมเปิดไฟเมื่อฝนตกตอนกลางวัน เพราะเข้าใจว่าไม่มีประโยชน์อะไร เนื่องจากตนเองยังมองเห็นเส้นทางได้ดีโดยไม่ต้องพึ่งพาแสงไฟ หรือลองเปิดแล้วก็ไม่เห็นความแตกต่างอะไร

 

แต่ความจริงแล้ว เป้าหมายของการเปิดไฟนั้น ไม่ใช่ให้เราเห็นทาง แต่เพื่อให้รถคันอื่นเห็นเรา เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเกิดอุบัติเหตุ

 

ถึงตรงนี้ให้ลองสังเกตดูว่าช่วงที่ฝนตก เรามองเห็นรถคันอื่น ๆ บนท้องถนนได้ชัดเจนหรือไม่ ไม่ว่าจะมองตรงไปด้านหน้า หรือมองผ่านกระจกมองข้างทั้ง 2 ด้าน มองผ่านกระจกมองหลังในห้องโดยสาร และสังเกตว่าระหว่างรถคันที่เปิดไฟกับรถคันที่ไม่เปิด เราเห็นคันไหนชัดเจนกว่ากัน นั่นคือคำตอบว่าทำไมถึงต้องเปิดไฟเมื่อฝนตก

 


ถัดมาเป็นเรื่องของ “ที่ปัดน้ำฝน” ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่สำคัญเช่นกัน

เพราะใบปัดน้ำฝนส่งผลต่อทัศนวิสัยในการขับขี่รถยนต์ ให้ตรวจสอบดูว่ายางปัดน้ำฝนยังมีคุณภาพดี ตรวจสอบก้านปัดว่าสปริงมีแรงกดเพียงพอหรือไม่ ถ้าหากว่าไม่พร้อมใช้งาน ก็ควรจะเปลี่ยนใหม่ และก็ไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนทั้งหมด เช่น ถ้าเป็นแค่ใบปัดชำรุด ก็เปลี่ยนเฉพาะใบปัด เพื่อความประหยัด

 

ภาพจาก : https://masii.co.th

 

สำหรับใบปัดน้ำฝน บางทีอาจทำงานได้ 80-90% ที่เหลือ 10% ที่ทำงานไม่ดีพอ คือ เมื่อปัดแล้วเป็นเส้น ๆ เป็นริ้ว ๆ อยู่บ้าง ซึ่งผู้ขับก็อาจจะมองผ่านเห็นเส้นทางด้านหน้าได้ชัด แต่แนะนำว่าควรจะเปลี่ยน เพราะริ้วรอยที่เกิดจากการปัด จะรบกวนสมาธิในการขับขี่ได้โดยเฉพาะหากต้องขับทางไกล จะเริ่มรู้สึกเกะกะสายตา ทำให้ลดความเพลิดเพลินในการขับขี่ รวมถึงสมาธิได้

 


 

พูดถึงใบปัดน้ำฝนก็ต้องพูดถึง “น้ำฉีดกระจก” 

ซึ่งต้องตรวจสอบว่ายังฉีดได้ดี และทิศทางของน้ำเข้าเป้า คือลงบริเวณกระจกบังลมหน้า หากไม่ตรงก็ควรปรับแต่งทิศทางเสียใหม่ ยกเว้นรถรุ่นใหม่ ๆ บางรุ่นที่ออกแบบให้น้ำฉีดกระจกออกจากใบปัดกระจกโดยตรง

 

ภาพจาก : www.sanook.com

 

น้ำฉีดกระจก ก็ควรจะตรวจสอบเป็นประจำ เพราะช่วงหน้าฝนต้องใช้บ่อย เนื่องจากเมื่อฝนตกพรำ ๆ หรือหยุดตก ฝุ่นต่าง ๆ จะกลายเป็นโคลนบนพื้นผิวถนน และพร้อมจะกระเด็นขึ้นมา ดังนั้นก็จำเป็นจะต้องใช้น้ำฉีดล้างทำความสะอาด

 

สิ่งสำคัญของน้ำฉีดกระจกควรมีน้ำยาทำความสะอาดผสมอยู่ด้วย เพราะบางครั้งสิ่งที่มาพร้อมฝุ่นโคลน คือ คราบน้ำมัน หรือ ไขมันต่างๆ รวมถึงแม้แต่ช่วงที่ไม่มีฝน พวกคราบแมลงต่างๆ ก็มีไขมัน ซึ่งทำความสะอาดยากด้วยน้ำเปล่า

 

แต่หากไม่ต้องการเปลืองค่าใช้จ่ายกับน้ำยา จะเอาสิ่งที่มีอยู่ในบ้านมาใช้ก็ได้ ไม่ว่าจะเป็นน้ำยาล้างจาน หรือ แชมพู แต่การผสมอย่าใช้การเติมเข้าไปในถังเก็บน้ำโดยตรง เพราะอาจทำให้เกิดการอุดตันได้ วิธีการคือ หาขวดมาสักใบ ใส่น้ำยาล้างจาน หรือแชมพูลงไปผสมกับน้ำ จากนั้นเขย่าให้ผสมเป็นเนื้อเดียวกัน แล้วจึงค่อยเติมลงไปในถัง ก็เป็นอันเรียบร้อย 

 


 

อีกชิ้นส่วนที่มีความสำคัญมากกับเรื่องความปลอดภัยก็คือ “ยาง” 

ซึ่งหน้าฝนเช่นนี้ ต้องใส่ใจให้มาก ๆ ให้แน่ใจว่ายางนั้นมีความพร้อมต่อการใช้งาน ยางรถยนต์นั้นมีอายุการใช้งาน ซึ่งอาจยืดหยุ่นได้บ้าง แต่สิ่งที่ไม่สามารถยืดหยุ่นได้คือ สภาพของยาง หากไม่สมบูรณ์ต้องเปลี่ยนใหม่เท่านั้น

 

ภาพจาก : www.daysoftheyear.com

 

 

เรื่องของสภาพยางที่เราจะต้องตรวจสอบกันทั่วไปก็เช่น ร่องรอย บวม แตก รั่ว ซึม ซึ่งจะต้องหมั่นสังเกตเป็นประจำ วิธีการที่ทำได้เองที่บ้านคือ เดินดูรอบ ๆ รถ จากนั้นก้มลงไปดูยางด้านใน โดยอาจใช้ไฟฉายช่วย และขยับรถเดินหน้าหรือถอยหลังเล็กน้อยสักสองสามครั้ง เพื่อให้ยางเปลี่ยนตำแหน่ง จะได้เห็นสภาพด้านในในครบรอบวง

 

หากพบว่ายางรั่ว ถูกวัสดุทิ่มตำ หากไม่ใหญ่เกินไป และเกิดขึ้นที่บริเวณหน้ายาง ก็สามารถปะ นำกลับมาใช้ใหม่ได้ แต่ถ้าเกิดที่แก้มยาง ต้องเปลี่ยนใหม่ เพราะแก้มยางเป็นจุดเปราะบางที่สุด และยังต้องรับน้ำหนักอีกด้วย 

 

ส่วนกรณีเป็นรอยบาด หากยาว และลึกถึงชั้นโครงยาง ก็ควรต้องเปลี่ยนเส้นใหม่ ไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่หน้ายางหรือแก้มยาง เช่นเดียวกับ อาการบวม ก็ต้องเปลี่ยนใหม่เช่นกัน เพราะแสดงว่าโครงสร้างบริเวณนั้นอ่อนแอ เสี่ยงต่อการระเบิดในการใช้งาน หรือ แม้แต่ช่วงการเติมลมเสียด้วยซ้ำ

 

อีกส่วนหนึ่งที่สำคัญกับการใช้งานหน้าฝนมาก คือ ดอกยาง กับ ร่องยาง ดอกยางต้องมีความสูงเพียงพอ ร่องยางต้องลึกเพียงพอ ซึ่งจริงๆ แล้ว 2 อย่างนี้มีความสัมพันธ์กัน หมายถึงถ้าดอกยางเตี้ยลง ร่องยางก็ตื้นขึ้นนั่นเอง

 

ดอกยางทำหน้าที่ยึดเกาะถนน ส่วนร่องยางมีหน้าที่รีดน้ำออกจากยาง เพื่อเพิ่มการยึดเกาะถนน  

ยางทุกเส้น ผู้ผลิตจะออกแบบให้มีสะพานยางเพื่อใช้เป็นจุดสังเกตว่าดอกยางสึกมากจนร่องยางตื้นเกินไปหรือยัง ซึ่งเมื่อไรก็ตามที่ดอกยางสึกลงไปเรื่อย ๆ จนกระทั่งมีความสูงเท่ากับสะพานยาง นั่นหมายถึงว่าถึงเวลาต้องเปลี่ยนยางแล้ว เพราะความลึกของร่องยางน้อยเกินที่จะสามารถรีดน้ำได้อย่างปลอดภัย

 

วิธีหาว่าสะพานยางอยู่ตรงไหน ก็คือ มองหาเนื้อยางที่ขวางอยู่ในร่องดอกยาง หรือง่ายกว่านั้นให้ดูที่บริเวณแก้มยาง ผู้ผลิตจะทำสัญลักษณ์เอาไว้เป็นรูปสามเหลี่ยม ปลายแหลมชี้ไปทางดอกยาง ซึ่งหากมองตามไป ก็จะเจอสะพานยางได้โดยง่าย

 

นอกจากยางแล้ว การเติมลมยางที่เหมาะสมก็มีความสำคัญเช่นกันครับ อย่าลืมเช็คลมยาง อย่างน้อยทุกสองสัปดาห์

ทั้งหมดเป็นวิธีง่ายๆ สำหรับการตรวจเช็ครถก่อนหน้าฝน ซึ่งจริง ๆ แล้วไม่จำเป็นต้องฤดูฝนก็ได้นะครับ ไม่ว่าจะฤดูไหน เมื่ออยู่หลังพวงมาลัย ทั้งคนและรถต้องพร้อมควบคู่กัน เรื่องของการขับขี่รถยนต์มีอีกมากมาย แต่นี่คือเบื้องต้นที่เรานำมาบอกกล่าวกัน คุณผู้อ่านหรือแฟนเพจ “กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต” อยากรู้เรื่องอะไรเกี่ยวกับรถยนต์ inbox หรือ comment มาได้นะครับ 

 

ท้ายนี้ขอให้ทุกท่านใช้รถหน้าฝนด้วยความปลอดภัยนะครับ

 

kinyupen