เกียวโตกับวันที่ลมหายใจแผ่วเบา.. โควิด19 ทำท่องเที่ยว ความหวังสุดท้ายพัง

0
525
kinyupen

เกียวโตอาจถึงคราวล่มสลายอย่างแท้จริง?

เกียวโต หนึ่งในเมืองหลักของญี่ปุ่นที่นักท่องเที่ยวทั่วโลกนิยมมากที่สุด แต่ละปีสร้างรายได้ขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้ญี่ปุ่นมหาศาล หากวันนี้กำลังได้รับผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 อย่างหนัก  จนสื่อญี่ปุ่นวิเคราะห์ว่าเกียวโตอาจถึงคราวล่มสลายอย่างแท้จริงหลังเพิ่งประสบสภาวะ “ฟองสบู่” มาก่อนหน้านี้

 

ด้วยการที่เคยเป็นเมืองหลวงเก่าของญี่ปุ่น จึงทำให้ “เกียวโต” มีแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมที่สำคัญหลายแห่ง ดังนั้นเมื่อญี่ปุ่นเริ่มนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวอย่างจริงจัง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2546 ซึ่งต่อมาได้รับความสำเร็จอย่างสูงโดยในปี พ.ศ.2559 ญี่ปุ่นระบุว่ามีจำนวนนักท่องเที่ยวสูงถึง 40 ล้านคน กระตุ้นการใช้จ่ายสะพัดกว่า 8 ล้านล้านเยน ซึ่งรายได้จำนวนมากมาจากเมืองเกียวโตทั้งโรงแรมที่พัก ร้านอาหาร รวมถึงของที่ระลึกต่างๆ ที่ขายดิบขายดีสร้างความยินดีให้กับชาวเกียวโต แม้ต้องแลกมาด้วยความแออัดวุ่นวาย

 

ในปี 2563 ญี่ปุ่นตั้งความหวังสร้างรายได้จากท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีก ด้วยอานิสงส์จากการเป็นเจ้าภาพโตเกียวโอลิมปิก2020 ที่จะกระจายนักท่องเที่ยวและรายได้ให้สะพัดไปยังเมืองต่างๆ ทั่วประเทศ แต่ล่าสุดเหตุที่โตเกียวโอลิมปิกถูกเลื่อนออกไปอีก 1 ปี จึงดูเหมือนว่าความหวังทุกอย่างกำลังพังสลายโดยสิ้นเชิง เมื่อยอดจองโรงแรม ที่พักและธุรกิจเกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวถูกยกเลิกเกือบทั้งหมด

 

“เกียวโต” ถือเป็นหนึ่งในเมืองที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เพราะรายได้หลักของเมืองล้วนมาจากการท่องเที่ยว โรงแรมที่พักซึ่งมีอยู่จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นโรงแรมขนาดเล็ก ขนาดใหญ่ หอพักที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับการท่องเที่ยวแบบทัศนศึกษาของเด็กนักเรียนเกือบทั้งหมดถูกยกเลิกได้รับผลกระทบอย่างหนักไปตามกัน

 

ฟองสบู่ท่องเที่ยวแตก ทุบรายใหญ่ทรุด รายเล็กร่อแร่

 

รายงานสมาคมการท่องเที่ยวเมืองเกียวโต เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 ระบุว่าหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 ตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ส่งผลให้นักท่องเที่ยวลดลงจนน่าตกใจ ยอดจองที่พักถูกยกเลิกแล้วกว่า 70% บางแห่งแทบไม่มียอดจองเหลือเลย นอกจากผลกระทบของโรคระบาดแล้ว นักวิเคราะห์ในญี่ปุ่นยังเชื่อว่า ส่วนหนึ่งเกิดจากที่ผ่านมามีการลงทุนสร้างโรงแรมที่พักในเกียวโตเพิ่มสูงขึ้นเป็นจำนวนมากในลักษณะ “ฟองสบู่” ดังนั้นเมื่อมีวิกฤติด่วนธุรกิจเหล่านี้จึงได้รับผลกระทบมากจน “ฟองสบู่แตก”

 

โรงแรมเกียวโต บริษัทจดทะเบียนเพียงแห่งเดียวของเมือง ประกาศคาดการณ์รายได้ไตรมาสแรกว่า ผลประกอบการขาดทุนเมื่อเทียบกับรายได้ปีที่แล้ว โดยยอดจองห้องพักของโรงแรมลดลงประมาณ 40% และหลังมีคำสั่งห้ามจัดเลี้ยงตั้งแต่ปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ทำให้การประชุมและจัดเลี้ยงทั้งจากสโมสรโรตารีและไลออนส์ ตลอดจนองค์กรอื่นๆ ที่เป็นขาจร อันถือเป็นรายได้ประจำได้ถูกยกเลิกเกือบหมดแล้ว โดยโรงแรมเองก็ไม่ได้เก็บค่าธรรมเนียมยกเลิกในส่วนนี้

 

สำหรับธุรกิจโรงแรมขนาดกลางและขนาดเล็กถือว่าเป็นกลุ่มที่รับผลกระทบรุนแรงไม่แพ้กัน เพราะก่อนหน้านี้ผุดขึ้นมากมายเหมือนดอกเห็ดเพื่อรองรับการเติบโตช่วงที่การท่องเที่ยวเกียวโตบูมใหม่ๆ บ้านเรือนหลายแห่งถูกดัดแปลงเป็นโฮสเตล หรือ ห้องพักราคาถูก โดยกลุ่มนี้พบว่าอัตราการเข้าพักลดลง 60% และ 70%

 

กลุ่มที่รับผลกระทบมากที่สุดคือหอพักราคาถูก หรือ โรงแรมขนาดเล็กมาก ที่สร้างเพื่อรองรับกลุ่มนักเรียนที่มาทัศนศึกษาในเกียวโตซึ่งส่วนใหญ่จะมีรายได้หลักจากโรงเรียนต่างๆ เท่านั้น เพราะโดยทั่วไปแล้วโรงแรมกลุ่มนี้จะไม่รับบุคคลทั่วไปนอกจากช่วงสั้นที่ไม่ใช่ช่วงทัศนศึกษาของเด็กเท่านั้น แต่เมื่อเกิดโรคระบาด โรงเรียนต้องยกเลิกเพราะคำนึงถึงความปลอดภัยของเด็กเป็นสำคัญ ทำให้ยอดจองของกลุ่มโรงแรมนี้อยู่ในสภาวะ “ยอดขายเป็นศูนย์” และยังไม่สามารถคาดว่าจะขายห้องพักได้อีกเมื่อไหร่

 

สิ่งน่าห่วงอีกอย่าง คือ โรงแรมขนาดเล็กเหล่านี้ส่วนใหญ่ไม่มีเงินสำรองที่แข็งแกร่งมากนัก หากสถานการณ์ยังคงดำเนินต่อไปจนไม่สามารถที่จะนำรายได้เข้ามาเติมส่วนที่ขาดหายไปได้แล้ว ก็ดูเหมือนว่าอนาคตธุรกิจนี้อาจจะถึงจุดจบในที่สุด

 

บทความข้างต้นเห็นได้ว่า สถานการณ์เกียวโตในวันนี้บางเสี้ยวมีความเหมือน หรือ คล้ายคลึงกับประเทศไทยเป็นอย่างมาก เนื่องจากช่วง 10 ปีที่ผ่านมาธุรกิจท่องเที่ยวไทยมีการเติบโตและสร้างรายได้เข้าประเทศแต่ละปีสูงมากจนกลายเป็นหนึ่งในเครื่องยนต์เศรษฐกิจของประเทศ กอปรกับการโหมลงทุนเป็นจำนวนมากโดยเฉพาะผู้ประกอบการขนาดกลางและเอสเอ็มอี ดังเห็นได้ว่ามีโฮมสเตย์ผุดขึ้นทุกภาคของประเทศรวมถึงเป็นที่แจ้งเกิดธุรกิจเกี่ยวข้องมากมาย

 

หากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้สกัดกั้นการเติบโตของทุกซัพพลายเชนในธุรกิจท่องเที่ยวให้หยุดชะงักและเข้าขั้นวิกฤตไม่แพ้เกียวโต ต้องรอดูว่ามาตรการที่รัฐกำลังดำเนินการจะสามารถเยียวยาได้มากน้อยเพียงใด ธุรกิจท่องเที่ยวจะกลับมาพลิกฟื้นได้อีกครั้งเมื่อใด คำตอบในวันนี้ยังคงมืดมน คงได้แต่รอจนกว่าวิกฤตไวรัสที่เกิดขึ้นทั่วโลกครั้งนี้จะผ่านพ้นไป ซึ่งทีมงานกินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอเอาใจช่วยให้ทุกคนสามารถก้าวผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันในเร็ววัน

 

ขอบคุณข้อมูลและรูปภาพจาก headlines.yahoo

kinyupen