การมีอยู่ของ “Gothic Style” ฉากตอนในหนังสมัยใหม่ by “เกี๊ยง” นันทขว้าง สิรสุนทร

0
522
kinyupen

เราจะคิดถึงอะไรมากกว่ากัน ถ้าใครสักคนชวนให้นึกถึงฉาก นอร์แมน เบสต์ ยืนอยู่หน้าบ้านเก่าบนเนินเขาใน Psycho กับที่อยู่อาศัยของ “เอ็ดเวิร์ด” มือกรรไกรในหนัง Edward Scissorhands หรือใครจะจำอะไรได้มากกว่ากัน ถ้ามีคนอ้างถึงหนังอย่าง Sweeney Todd กับ A Tale of Two Sisters

 

เคยมีการสำรวจเล่นๆ จากมหาวิทยาลัยในโตรอนโตว่า กลุ่มหนัง หรือ ตระกูลหนังที่มีคนดู “จดจำ” อย่าง “ไม่ตั้งใจ” ได้มากที่สุด ก็คือ ภาพยนตร์ในตระกูล (genre) ที่เป็นพวก Film Noir หรือ dark movie ซึ่งอาศัยหรือพึ่งพาฉากหลังของ Gothic style มากที่สุด ฉะนั้นเวลาคุณเห็นตัวละครที่มีทรงผม (หรือเส้นผม) ที่โด่เด่ ชี้ไปมา หรือ ทรงผมที่ไปไม่ได้กับหน้าตาตัวละครนั้น ก็คงเข้าใจได้ว่า

 

มันเป็นภาพประหลาด เพราะความประหลาดนั้น หรือความไม่เข้าพวก ทำให้เกิดการสะดุดและจดจำได้มากที่สุด

 

นี่เป็นเหตุผลว่า ใครต่อใครที่ไม่เคยจะชอบหนังของ ทิม เบอร์ตัน กลับจะจดจำหนังและตัวละครของเขาได้ทันทีเมื่อมีการพูดถึง หรือมักจะมีฉากหลังในหนังกลุ่มนี้ ที่ถูกยกให้เป็นฉากที่คนดูจำได้มากกว่าฉากหวานๆ ในหนังรักโรแมนติคจากโรงงานฮอลลีวู้ด การที่โลเคชั่นหรือเครื่องแต่งกาย หรือรวมไปถึงการเมคอัพคาแรคเตอร์

ให้ไปด้วยกันได้กับแนวทางหนังแบบนี้นั้น มันถูกสำรวจออกมาแล้วว่า คนดูยังคงต้องการอะไรที่เป็นสไตล์โกธิคอยู่ในใจ

 

เรย์ คาร์นีย์ ศาสตราจารย์ด้านภาพยนตร์ของมหาวิทยาลัยบอสตัน เคยบอกว่า เพราะโกธิคมีความดาร์คที่เกินปรกติ และมันตอบสนองส่วนลึกของจิตใจมนุษย์ที่อยากเห็นอะไร “นอกลู่นอกทาง” ไปจากปรกติ อย่างน้อยก็พาพวกเขาออกพ้นไปจากเรื่องแบบแผนนิยม (พวก happy ending ที่เจ้าชายแต่งงานกับเจ้าหญิง) เมื่อพูดถึงสไตล์โกธิคนี้ ถ้าเราสำรวจย้อนหลังในช่วง 10 ปีมานี้

มันคือสิ่งที่เร้นซ่อนอยู่ในหนังยุคใหม่มากมายหลายเรื่อง

มันไม่เคยหายไปไหน ยาวนาน แถมยังปะปนและผสมผสานในหนังหลายตระกูล

 

 

หนึ่งในหนังที่ใช้สไตล์ของโกธิคได้ดี และผมเพิ่งได้ดู แถมยังถือว่าเป็นหนังที่เล่าเรื่องด้วยภาพอย่างแท้จริงก็คือ Stoker ของผู้กำกับอารมณ์ซาดิสต์อย่าง ปาร์ค ซัน-วูค ซึ่งเคยแจ้งเกิดในบ้านเรากับหนังอย่าง Old Boy เขามีแนวทางที่คล้ายๆ กับอั้ง ลี่ เมื่อได้เดินทางไกลในเส้นทาง และเข้าไปทำงานกับสตูดิโอในฮอลลีวู้ดกับหนังเรื่องนี้

 

โดยส่วนตัวผมคิดว่าคนที่ชอบหนังแนวนี้ น่าจะมีแค่บางส่วนเท่านั้น เพราะพล็อตเรื่องจะไม่สนใจการขึ้นตรงกับเวลา หรือการเล่าเรื่องจะไม่เอาใจแมสฯ แบบฮอลลีวู้ด

 

เนื้อหาของหนังก็กำกวมไปด้วยพฤติกรรมของคาแรคเตอร์แปลกๆ สาวน้อยหน้าตาสะสวยที่ชื่อ อินเดีย สโตคเกอร์ (มีอา วาสิคาวสกา) ต้องสูญเสียทั้งพ่อที่เธอรักและเพื่อนสนิทของเธออย่างริชาร์ด จากเรื่องพิศวงกับรถยนต์ในวันเกิดของเธอตอนอายุ 18 ปี ชีวิตอันเงียบสงบของเธอบนคฤหาสน์ของครอบครัวลึกลับ ค่อยๆ พังทลายในพริบตา และ อินเดีย แสดงออกถึงความรู้สึกที่ลึกลับอย่างไม่อาจเปิดเผยได้ ซึ่งมีเพียงพ่อของเธอเท่านั้นที่สามารถเข้าถึงได้

 

ไม่นานนัก “อินเดีย” ได้พบกับพี่ชายของพ่อที่ขาดการติดต่อกันไปนาน ชาร์ลี (แมทธิว กู้ด) ที่มาร่วมงานศพอย่างไม่คาดฝัน เขาตัดสินใจพักอยู่กับเธอและแม่ของเธอที่มีอารมณ์แปรปรวน อีวี่ (นิโคล คิดแมน) ในช่วงแรก อินเดีย หวาดระแวงในตัวลุงผู้ลึกลับ แต่ดูมีเสน่ห์ชวนหลงใหล เขาเองก็หลงเสน่ห์เธอเข้าเช่นกัน เธอเริ่มรู้ตัวว่าต่างฝ่ายต่างมีใจให้กันอย่างไร

ตัวของ ชาร์ลี ค่อยๆ เผยตัวตนให้อินเดียเห็นทีละนิด จนเธอเริ่มหลงในตัวญาติของเธอมากขึ้นเรื่อยๆ จนเริ่มคิดว่าการมาถึงของเขาไม่ใช่เรื่องบังเอิญแน่ๆ จากคำโน้มน้าวของลุงเธอ ทำให้เธอหลงเชื่อในพรหมลิขิตที่ไม่ชอบมาพากลครั้งนี้

 

ผมคิดว่านี่เป็นหนังที่น่าวิเคราะห์ในเชิงจิตวิทยามากที่สุด เพราะมันการนำเอา element เกี่ยวกับซาวน์ทางธรรมชาติ มาใช้อย่างรอบจัดและรอบด้านมากที่สุด ตั้งแต่สีของดอกไม้, เสียงของสายลมและการเคลื่อนภาพเกี่ยวกับระยะของกล้อง (โดยมีความเย้ายวนของเพศ เข้ามายั่วคนดู) ฉากการมาสเตอร์เบชั่นของ อินเดีย ในห้องน้ำ

เชื่อมโยงไปกับสไตล์ลึกลับของโกธิคที่หนังใช้ตลอดเวลา

 

น่าสนใจว่าในหนัง Stoker นั้น เงื่อนไขหนึ่งที่หนังทำได้ดีก็คือ มันเป็นบรรยากาศและชีวิตที่ไม่ต้องการเรื่องของเวลาและสถานที่ว่า ต่อเนื่องกันอย่างไร หนำซ้ำ ตัวบรรยากาศของหนัง โนมเนื้อและการสัมผัส ยังถูกแนวทางของโกธิคทำให้เหมือนฝัน มีกลิ่นอายของอีโรติก มีการใช้ตัวละครที่เคลื่อนไหวเข้าออกผ่าน “เฟรมภาพ” ในเกมซ่อนหากับผู้ชม โดยใช้กล้องที่มีการเตรียมมาอย่างยาวนานซึ่งเป็นกล้องที่ทำมุมพิเศษ และออกแบบดนตรีที่มีความซับซ้อนเพื่อบรรยายถึงนักล่าจากผู้ถูกล่าในหมู่ตัวละคร

 

ถ้าเทียบกับงานของ ทิม เบอร์ตัน หรือหนังอย่าง A Tale of Two Sisiters แล้ว ความโกธิคของพวกนั้น ถูกใช้อย่างรวดเร็วเพื่อให้เกิดความลึกลับ กระเดียดไปทางน่ากลัว ต่างจากโกธิคของปาร์ค ที่เจตนาให้เกิดความเย้ายวน และมีความสวยงาม

 

ปาร์คทำหนังของตัวเองโดดเด่นขึ้นมา เพราะเขามีคู่หูอย่าง “ชุง” ซึ่งเป็นคนถ่ายภาพที่เก่ง ซึ่ง ชุง บอกนักข่าวว่า พอปรับบท คุยกันถึงรูปภาพ ภาพถ่าย หรือสิ่งที่ภาพยนตร์อิงภาพมาจากหนังเรื่องอื่น แต่การเลือกวิธีการถ่ายทำแต่ละฉากเป็นการเทียบรองลงมาถึงความเข้าใจอารมณ์ของตัวละครจากบทภาพยนตร์

 

ตั้งแต่เริ่มพิจารณาบทอย่างละเอียดแบบเดียวกับที่นักแสดงทำ ชุงทำหนังในส่วนของการสร้างภาพ ที่เขาบอกว่า มันเหมือนการสร้างบ้าน เพราะจะไม่เห็นรูปร่างของภาพยนตร์จนกว่าเวลาจะผ่านไปสักพัก รายละเอียดบนสตอรี่บอร์ดจะเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเดาง่ายขึ้นว่าภาพยนตร์จะออกมาแนวไหน”

 

หนังเรื่อง Stoker นั้น เนื้อของมันไม่ได้มีแค่เรื่องราวปัญหา แต่ยังมีการพัฒนาเรื่องราวที่สะท้อนจากการถ่ายภาพด้วย ภาพเริ่มต้นอย่างเรียบง่าย แต่เมื่อเรื่องราวดำเนินไป ตัวละครต่างเผยธาตุแท้ออกมา ความสัมพันธ์ก็ดูซับซ้อน ความตื่นเต้นและท้าทายที่สุด การแสดงให้เห็นถึงการพัฒนา ไม่ว่าเอวี่หรือชาร์ลีจะรู้สึกอย่างไร กล้องต้องคอยจับภาพไว้

เล่นแสงให้แรงขึ้นและนุ่มลง

 

ในความเป็น neo-noir ของหนัง Stoker นั้น เคยมีการตั้งข้อสังเกตว่า มันมีอิทธิพลในการคิดคล้ายกับ Black Swan เมื่อหลายปีก่อน เพราะเล่นกับจินตนาการและซอกมุมของบ้านได้อย่างสนุกสนาน เรื่องราวส่วนใหญ่ในหนัง เกิดขึ้นในคฤหาสน์ของสโตคเกอร์ ปกติหนังจะสร้างฉากขึ้นเป็น “บ้าน” เพื่อจัดวางตำแหน่งกล้องและไฟ เพราะบ้านสโตคเกอร์คือสถานที่จริง

 

แต่หนังเอามุมบ้านมาเล่นกับนิสัยตัวละครได้มากขึ้น เหมือนนักแสดงบางคนที่กล้องจับภาพได้ต่างไปจากบางมุม คนดูก็ค่อยๆ เรียนรู้ว่าบ้านจะดูหม่นหมองหรือเปี่ยมไปด้วยความหวังได้ ขึ้นอยู่กับมุมที่จะมอง  มีอยู่ 2-3 ฉากที่ Stoker มีความแข็งแรงในการถ่ายหนังออกมาเป็นโกธิคมาก นั่นก็คือ การสร้างฉากเต้นรำโดยเน้นความละเอียดระหว่างกล้อง นักแสดง และบรรยากาศที่เป็นไปได้ (เพราะความคิดของปาร์ค ซัน-วูคด้านการผลิต เน้นเรื่องรายละเอียดมาก เขาสามารถสร้างตัวละครและเนื้อเรื่องผ่านด้านวิชวลและผลงานภาพได้ ผู้กำกับปาร์คเตรียมตัวเยอะมาก

 

 

ส่วนที่สองคือ ตอนที่ อินเดีย กับชาร์ลี เล่นเปียโนด้วยกัน จนอีโรติคและดูเป็นการเล้าโลมทางเพศมากกว่าเล่นดนตรี ฉากนั้นสไตล์ภาพที่ดูเหมือนฝัน ผสมอารมณ์ระทึกขวัญสั่นประสาท และส่วนที่สามที่ผมชอบคือ การทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง อินเดีย กับแม่ ที่ผิดปรกตินั้น สัมผัสได้ถึงการไร้ความผูกพันและกาลเวลา “อินเดีย” กับแม่ของเธอมีตัวตนอย่างไร้สถานที่และกาลเวลา มันมีความลึกลับอยู่ใกล้ชิดกับบริเวณบ้านพวกเขา ให้มีความรู้สึกแห่งความเป็นนิรันดร์อยู่ภายในบ้าน และ “ครอบครัว” คล้ายกับเป็นอีกโลกหนึ่ง

 

ผมได้บทสัมภาษณ์ของทีมงาน และพบว่าพวกเขาสามารถสร้างฉากตอนแบบโกธิคที่คมคายมาก พวกเขาออกแบบฉากและแปลงสภาพบ้าน ที่ดูโบราณเป็นคฤหาสน์สโตคเกอร์ใหม่ทั้งหลัง ไม่มีการมองข้ามรายละเอียดใดเลยแม้แต่เรื่องสีและสไตล์ รายละเอียดวอลเปเปอร์ ข้าวของบนโต๊ะของริชาร์ด และแม้แต่ชุดอาบน้ำในห้องน้ำ ฉากนั้น ริชาร์ด สโตคเกอร์

พาครอบครัวมาอยู่ที่บ้านหลังนี้เพื่อกั้นพวกเขาออกจากโลกภายนอก

 

การหาบ้านที่สวยงามเหมาะสมสำหรับนักออกแบบ และสมาชิกในตระกูลเศรษฐีเก่าอเมริกันชน คือ เรื่องที่ท้าทายเป็นพิเศษ มีการตกแต่งด้วยข้าวของน้อยชิ้น ที่สื่อถึงความร่ำรวยของครอบครัว องค์ประกอบแต่ละส่วนคัดสรรมาอย่างพิถีพิถัน มีข้อคิดแฝงอยู่ในทุกรายละเอียด เมื่อบวกกับถ้วยรางวัลแห่งการล่าที่ อินเดีย และพ่อของเธอได้รับร่วมกันส่วนใหญ่ คือ

“การล่านก” ที่ถูกแขวนอยู่ในบ้าน และช่วยเสริมคอนเซ็ปต์ของบ้านให้เดอเปรได้ในภาพ 3 มิติ

 

จากตรงนี้ หนังสื่อสารกับคนดูผ่านสไตล์ของโกธิคว่า “บ้าน” เหมือน “รังนก” ที่เปิดกว้าง ส่วนตัวละครเปรียบเหมือนนก “เอวี่” เหมือน “นกยูง” ตัวลุง “ชาร์ลี” กลายเป็นแม่ไก่ และ อินเดียคือ “ลูกไก่” พวกเขาไล่จับกันอยู่ในบ้านหลังนี้ เป็นการย้อนกลับไปหาไอเดียของการ “ไล่ล่า” นั่นหมายความว่า ทุกคาแรคเตอร์ต่างมีความลับ และมีลักษณะของการไล่ล่าและหนี

ซึ่งตรงกับอารมณ์ความรู้สึกของสไตล์โกธิคที่หนังใช้

 

ในทางจิตวิทยา นับจากหนังของเอ็ดเวิร์ดมือกรรไกร มาจนถึง dark night ไตรภาค และเลยมาจนถึงเรื่องนี้ นักวิจารณ์หลายคนของเมืองนอก คิดว่า ในช่วง 5 ปีนับจากนี้ “โกธิค สไตล์” จะกลายเป็นฉากหลังที่สำคัญในหนังหลายเรื่อง

 

เพราะแม้ว่า คำพูดเราจะใฝ่ฝันถึง vintage (ผ่านการซื้อข้าวของเครื่องใช้และการเที่ยว)

 

แต่ในใจของเราทุกคน มีซอกมุมและซอกหลืบของ “โกธิค”

 

จะลึกแค่ไหน คงแล้วแต่ “การขุด” …

 

หมายเหตุ :

  • โกธิค สไตล์ หรือ Gothic Style ลักษณะฉากที่มักแสดงภาพลักษณ์ออกมาในรูปแบบของความเศร้าโศก หดหู่ หมองหม่น เหมือนเรื่องราวฆาตกรรม ลึกลับ หรือพวกพ่อมดหมอผี

เกร็ดน่ารู้ คำว่า โกธิค แบ่งออกเป็น 3 ยุคใหญ่ๆ คือ

  1. Goths ราวๆศตวรรษที่2-3 เป็นจุดเริ่มต้นของเรื่องราวทั้งหมดGoth เป็นชื่อเรียกชนเผ่าหนึ่งที่อยู่ตอนเหนือของยุโรป
  2. Classic Gothic คือGothic ยุคมืด (Dark Age)เกิดขึ้นศตวรรษที่ 12 – 16 ยุคนี้เริ่มต้นที่ฝรั่งเศส และแผ่ขยายไปทั่วยุโรป เป็นสมัยที่นักบวชเป็นใหญ่ นักบวชเริ่มแสดงอำนาจบาตรใหญ่ ออกกฎต่างๆ นานา กับประชาชนที่ถูกสงสัยว่าเป็นอริกับพระเจ้า เช่น นับถือนิกายอื่น มีความขัดแย้งกับนักบวช เป็นรักร่วมเพศ หรือแม้แต่นับถือเวทมนตร์ และมีบทลงโทษที่รุนแรง เช่น การจับเผาทั้งเป็น

Dark Age เป็นยุคของสงครามศาสนา ซึ่งเรื่องราวก็เริ่มที่เกี่ยวพันธ์กับ Dracula และเรื่องมืดมนๆ เกิดการต่อต้านศาสนาขึ้นมานิดๆ การเกิดนิกายใหม่ๆ นำไปสู่นิกายใหม่ๆ ของศาสนาคริสต์

  1. Neo Gothicเป็นช่วงศตวรรษที่18-19 Gothic ยุคนี้ แสดงถึงความเก็บกดของประชาชนที่มีต่อสังคมและศักดินาประชาชนเริ่มเป็นห่วงสวัสดิภาพของตนเองจนไม่กล้าออกจากบ้าน มีอาชญากรรมไปทั่วเมือง นำไปสู่ Anachy (การต่อต้าน)  และท้ายสุดนำไปสู่การปฎิวัติ (Revolutions) ยุคนี้มีเรื่องสำคัญๆ เช่น ฆาตกรโรคจิต Jack the Ripper นิยายวิทยาศาสตร์เรื่อง Frankenstein การจับผู้ที่สงสัยว่าเป็นแม่มดเผาทั้งเป็นในอเมริกาก็เกิดในยุคนี้เช่นกันส่วน Gothic อื่นๆ จะมีอยู่ประปรายในสมัยหลังๆ เช่น สมัย ฮิตเลอร์ (ที่มาจาก : http://gothicth.blogspot.com/)

 

  • ฟิล์มนัวร์ (Film Noir) ชื่อเรียกประเภทของภาพยนตร์ประเภทหนึ่ง โดยที่คำว่า “Noir” เป็นภาษาฝรั่งเศสแปลว่า “ดำ” หากจะแปลกันตรง ๆ ตัว ฟิล์มนัวร์ จึงแปลว่า “ฟิล์มดำ” หรือ “ภาพยนตร์ดำ” หรือ “ภาพยนตร์มืด” ภาพยนตร์ที่จะจัดให้อยู่ในประเภทฟิล์มนัวร์นั้น จะเป็นภาพยนตร์ที่ใช้แสงและสีมืดทึบหรือขาวดำเป็นหลัก แสดงให้เห็นถึงด้านมืดในใจมนุษย์ แต่ที่สำคัญที่สุดคือ เรื่องราวที่เกิดในเรื่องก็ไม่ได้บ่งบอกว่าใครดีใครเลวกว่ากัน ทุกๆ คนมีปนกันไปทั้งดีและเลว เราจึงลองรวบรวม 9 ผลงานภาพยนตร์ฟิล์มนัวร์ (Film Noir) ที่พอจะทำให้เห็นภาพรวมของพลังด้านมืดในใจมนุษย์ผ่านโลกบนแผ่นฟิล์ม ที่มา boomerangshop.com/

 

มองผ่านหนัง by “เกี๊ยง” นันทขว้าง สิรสุนทร

kinyupen