เช็คด่วน!! ดอกเบี้ยจากค่าประกันมิเตอร์ กฟน.– กฟภ. จ่ายแล้วผ่านบิลค่าไฟเดือน ก.พ.
พร้อมเปิดรายละเอียดการขอคืนค่าประกันมิเตอร์ฯ ตามนโยบายลุงตู่
หลังถูกวิจารณ์อย่างหนักจากนโยบายของกระทรวงการคลังในการแจกเงินสนับสนุนค่าครองชีพให้กับประชาชนที่มี่รายได้น้อย ด้วยการโอนเงินผ่านระบบพร้อมเพย์ให้ผู้มีรายได้น้อย เกษตรกร รวมถึงผู้มีอาชีพอิสระ รายละ 1,000-2,000 บาท ซึ่งระบุว่าเป็นหนึ่งในมาตรการช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจจากการระบาดของโรคโควิด 19
ล่าสุดพล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา แถลงภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะหัวหน้าส่วนราชการระดับกระทรวง จะยังไม่มีการจ่ายเงิน 1,000 บาท ตามที่ได้มีการเสนอก่อนหน้านี้ โดยจะกลับไปดูว่าสามารถช่วยเหลือประชาชนในด้านใดบ้าง เช่น การคืนค่าประกันมิเตอร์ไฟฟ้าที่ทุกบ้านจะได้ทั้งหมด รวมถึงมาตรการลดผลกระทบอื่น ๆ ด้วย
สำหรับมาตรการดังกล่าว เป็นขอเสนอของกระทรวงพลังงาน โดยคณะกรรมการบริหารนโยบายพนักงาน หรือ กบง. อนุมัติ 4 มาตรการ ช่วยบรรเทาผลกระทบจากไวรัสโควิด-19 วงเงิน 45,000 ล้านบาท ไปก่อนหน้านี้ ได้แก่
- คืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทครัวเรือน และกิจการขนาดเล็ก จำนวน 5 ล้านราย วงเงิน 30,000 ล้านบาท โดยให้การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง ไปกำหนดวิธีการคืนเงินอีกครั้งว่าจะออกมาในรูปแบบใด ทั้งการหักเป็นค่าไฟฟ้า หรือคืนเงินสด ซึ่งจะเริ่มทยอยคืนได้ในรอบบิลเดือนมีนาคมนี้
- ลดค่าไฟฟ้าเป็นเวลา 3 เดือน (เม.ย.- พ.ค.) ซึ่งปัจจุบันค่าไฟเฉลี่ยที่ 64 บาทต่อหน่วย ลดลงเหลือ 2.50 บาทต่อหน่วย โดยใช้วงเงินราว 10,000 ล้านบาท หรือราว 23.2 สตางค์ต่อหน่วย
- กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้า บ้านที่อยู่อาศัย กิจการขนาดเล็ก และโรงแรม สามารถขยายเวลาชำระค่าไฟฟ้าเดือนเมษายน-พฤษภาคม เป็นเวลา 6 เดือน โดยคาดว่าช่วงดังกล่าวจำนวนนักท่องเที่ยวยังคงน้อยอยู่ หลังได้รับผลกระทบจากโรคโควิด-19 จนส่งผลกระทบต่อผู้ประกอบการและประชาชนในกลุ่มนี้
- ใช้เงินจากกองทุนพัฒนาพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า วงเงิน 4,000 ล้านบาท นำมาสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก เช่น ขุดบ่อบาดาล แก้ปัญหาภัยแล้ง เป็นต้น
ทั้งนี้ในส่วนของมาตรการที่ 1 ในการคืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้า ครม. มีมติเห็นชอบแล้ว (เมื่อเวลา 16.00 น. วันที่ 10 มี.ค. 63) ข้อเสนอของกระทรวงพลังงานมาตรการนี้ ถือเป็นเงินที่ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าส่วนใหญ่จะได้รับเงินคืนโดยไม่ได้จำกัดเฉพาะกลุ่มผู้มีรายได้เท่านั้น ทำให้มีการสอบถามถึงรายละเอียดการคืนเงินดังกล่าวอย่างกว้างขวาง
ต่อที่ 1 : เช็คด่วน !!! ดอกเบี้ยจากค่าประกันมิเตอร์จ่ายแล้วผ่านบิลค่าไฟเดือน ก.พ.
อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ กบง. มีมติสร้างความเป็นธรรมให้ผู้บริโภคด้านพลังงาน โดยให้การไฟฟ้าฯ คืนดอกผลจากจากเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้าด้วย โดยจะมีการจ่ายคืนผลประโยชน์จากเงินประกันการใช้ไฟฟ้า หรือเงินมัดจำมิเตอร์ไฟฟ้า โดยให้การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) จ่ายคืนผลประโยชน์หรือดอกผลที่ได้รับจากเงินประกันการใช้ไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า
สำหรับเงินค่ามิเตอร์ไฟฟ้านี้ ในส่วนของการไฟฟ้าทั้งนครหลวง และการไฟฟ้าภูมิภาค จะเรียกว่า “เงินประกันการใช้ไฟฟ้า”เป็นเงินที่ผู้ขอใช้ไฟฟ้าจะต้องจ่ายเมื่อเริ่มต้นขอใช้ไฟฟ้าตามขนาดที่ขอใช้ โดยเงินส่วนนี้การไฟฟ้าฯ จะเก็บไว้เพื่อเป็นประกัน เนื่องจากการให้บริการไฟฟ้า เป็นการให้บริการก่อนเรียกเก็บค่าไฟฟ้า เพื่อเป็นการประกันกรณีที่ไม่มีการจ่ายค่าไฟ ก็จะมีการยึดเงินประกันการใช้ไฟฟ้าของผู้ที่ไม่จ่ายเงินส่วนดังกล่าวกลับเข้ารัฐ โดยเงินจำนวนนี้จะได้คืนเมื่อมีการทำเรื่องยกเลิกใช้ไฟฟ้า และจะมีการจ่ายคืนผลประโยชน์หรือดอกผลที่ได้รับจากเงินประกันการใช้ไฟฟ้าซึ่งจ่ายไว้ตั้งแต่เริ่มขอใช้ไฟฟ้าให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าด้วย โดยได้เริ่มจ่ายคืนให้กับประชาชนโดยทั่วไปตั้งแต่เดือน ก.พ.63 ตามรายละเอียดดังนี้
- ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทกิจการขนาดกลาง กิจการขนาดใหญ่ และกิจการเฉพาะอย่าง ที่นำเงินสดมาเป็นหลักประกันการใช้ไฟฟ้า จ่ายคืนในรูปของดอกเบี้ยปีละ 1 ครั้ง ตามอัตราดอกเบี้ยออมทรัพย์เฉลี่ยท้ังปีของธนาคารกรุงไทย ต้ังแต่ปี 2556 เป็นต้นมา
- ผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย และกิจการขนาดเล็ก จ่ายคืนในรูปของดอกเบี้ยออมทรัพย์เฉลี่ยทั้งปีของธนาคารกรุงไทยคืนทุก 5 ปี เนื่องจากดอกผลเงิน ประกันเป็นจำนวนเงินน้อย โดยจะเริ่มจ่ายในปี 2563
โดย กฟน. จะพิจารณาดำเนินการคืนดอกผลสะสม 5 ปี โดยจะคืนเงินดังกล่าวในรูปแบบการหักลดกับค่าไฟฟ้า ในบิลค่าไฟฟ้ารอบเดือนกุมภาพันธ์ 2563 ที่ผ่านมามีข้อกำหนด ดังนี้
- กรณีเงินค่าไฟฟ้าที่แสดงในบิลเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มียอดมากกว่าดอกผลที่จะได้รับ กฟน. จะนำเงินดอกผลมาหักออกจากยอดค่าไฟฟ้า ทำให้คงเหลือยอดที่ต้องชำระลดลง
- กรณีเงินค่าไฟฟ้าที่แสดงในบิลเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มียอดน้อยกว่าดอกผลที่ได้รับ กฟน. จะนำเงินดอกผลหักลดค่าไฟฟ้า และจะแสดงยอดเงินดอกผลที่ยังเหลืออยู่เป็นเงินล่วงหน้า เพื่อใช้หักลดยอดค่าไฟฟ้าในเดือนถัดไป หรือผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถติดต่อขอรับเงินส่วนที่เหลือคืนที่ได้ทุกที่ทำการไฟฟ้านครหลวงเขต
- กรณีเงินค่าไฟฟ้าที่แสดงในบิลเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มียอดชำระเท่ากับดอกผลที่ได้รับ กฟน. จะนำเงินดอกผลหักลดค่าไฟฟ้าทั้งหมด และแสดงค่าไฟฟ้าที่ต้องชำระเป็นเงินจำนวน 0 บาท
- กรณีเงินค่าไฟฟ้าที่แสดงในบิลเดือนกุมภาพันธ์ 2563 มียอดชำระ 0 บาท (ไม่มีการค้างชำระ) ดอกผลที่ได้รับจะแสดงให้ผู้ใช้ไฟฟ้าเห็นบนใบแจ้งค่าไฟฟ้า ซึ่ง กฟน. จะนำยอดเงินดังกล่าวไปหักลดค่าไฟฟ้าในเดือนถัดไป หรือผู้ใช้ไฟฟ้าสามารถติดต่อขอรับเงินดังกล่าวคืนได้ทุกที่ทำการไฟฟ้านครหลวงเขต
ทั้งนี้ในส่วนของดอกเบี้ยที่ได้รับจากเงินประกันการใช้ไฟฟ้าได้ถูกดำเนินการผ่านบิลค่าไฟเดือนกุมภาพันธ์ไปแล้ว
ต่อที่ 2 : เตรียมขอคืนค่าประกันมิเตอร์ (การใช้ไฟฟ้า) ได้เดือน มี.ค.นี้
ผู้ที่จะได้รับเงินคืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้า มีจำนวนประมาณ 21.5 ล้านราย คิดเป็นวงเงินประมาณ 3 หมื่นล้านบาท โดยอัตราค่าธรรมเนียมเงินประกันคืนเมื่อยกเลิกใช้ไฟฟ้า มีรายละเอียดเบื้องต้นคือ
- มิเตอร์ขนาด 5(15) เงินประกันการใช้ไฟฟ้า 300 บาท (บ้านพักขนาดเล็ก ที่มีเครื่องใช้ไฟฟ้าไม่มาก)
- มิเตอร์ขนาด 15(45) เงินประกันการใช้ไฟฟ้า 2,000 บาท (เป็นขนาดมิเตอร์ที่ครัวเรือนส่วนใหญ่ใช้)
- มิเตอร์ขนาด 30(100) เงินประกันการใช้ไฟฟ้า 4,000 บาท (บ้านพักขนาดใหญ่ มีเครื่องใช้ไฟฟ้าหลายชนิด) มิเตอร์ขนาด 15(45) เฟส 3 เงินประกันการใช้ไฟฟ้า 6,000 บาท (ประชาชนไม่นิยมใช้ จะมีประชาชนส่วนน้อยที่ได้รับอัตราเงินจำนวนนี้)
ขั้นตอนการคืนเงินประกันมิเตอร์ไฟฟ้า
- เริ่มทยอยคืนได้ในรอบบิล “สิ้นเดือนมีนาคม 2563”
- สามารถดำเนินการขอคืนเงินกับหน่วยงานที่ยื่นเรื่องขอใช้ไฟฟ้า แบ่งเป็น
– กฟน. ให้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯ นนทบุรี และสมุทรปราการ
– กฟภ. ให้บริการในทุกจังหวัดของประเทศไทย ยกเว้น 3 จังหวัดในข้อ 1
- ผู้ที่ได้รับเงินจะเป็นผู้ที่ขอติดตั้งมิเตอร์ไฟฟ้าเท่านั้น ยกเว้นในกรณีที่ผู้ขอเสียชีวิตแล้ว สามารถให้ผู้อื่นรับแทนได้
ขอบคุณภาพจาก Facebook : การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค PEA