กลุ่มเสี่ยงโควิด-19 รู้แต่ยังปิด ผิดกฎหมาย พ.ร.บ. โรคติดต่อ พ.ศ.2558

0
469
kinyupen

สาธารณสุขชี้มาตรการรับมือโรคติดต่ออันตราย “ป้องกัน” และ “ควบคุม”

หลังเกิดการระบาดของโรค COVID19 ขึ้นในหลายประเทศ ทำให้หน่วยงานสาธารณสุขของแต่ละประเทศต้องออกมาหามาตรการรับมือเพื่อป้องกันการแพร่ระบาดเพิ่มขึ้นภายในประเทศของตนรวมถึงประเทศไทยด้วย ซึ่งล่าสุดกระทรวงสาธารณสุขของไทยได้ออกมาประกาศกำหนดให้ COVID19 เป็น “โรคติดต่ออันตราย” ตาม พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ.2558 เพิ่มเติมจากเดิมที่เคยไปประกาศไปแล้ว 13 โรค

 

การประกาศนี้มีความสำคัญอย่างไร และจะช่วยในการป้องกันการระบาดได้อย่างไร หรือมีผลบังคับทางกฎหมายอย่างไร วันนี้ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอนำรายละเอียดมาเพื่อไขความกระจ่างสำหรับผู้ที่อาจจะยังไม่ทราบในรายละเอียดของการประกาศนี้

 

ตาม “พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558” ให้คำจำกัดความของคำว่า “โรคติดต่ออันตราย” ว่าหมายถึงโรคติดต่อที่มีความรุนแรงสูงและสามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้อย่างรวดเร็ว และเพื่อให้เกิดข้อกำหนดในการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค และสามารถควบคุมโรคได้มีประสิทธิภาพ ลดผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคม  จึงได้มีออกข้อกำหนด และ คำสั่งต่างๆ ออกมาเพื่อใช้เป็นข้อกำหนดให้เป็นไปตามกฎหมาย ที่ทั้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุข และประชาชนทุกคนต้องปฏิบัติตาม ไม่ใช่แค่เป็นเพียงข้อแนะนำ หรือคำเตือนเท่านั้น แต่หมายถึง หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามจะถือว่ามีโทษตามกฎหมาย บางมาตรการจะกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพส่วนบุคคลของประชาชน เช่น สิทธิและเสรีภาพในชีวิตและร่างกาย ในเคหสถาน การเลือกที่อยู่อาศัย การเดินทาง ความเป็นส่วนตัว เป็นต้น ก็ตาม

นั่นคือ หากผู้ใดที่เจ็บป่วยด้วยโรคระบาดที่ถูกประกาศตาม พ.ร.บ.ฉบับนี้แล้วไม่ปฏิบัติ หรือ หลบเลี่ยงต่อข้อกำหนดต่างๆ ถือเป็นการกระทำผิดกฎหมาย

 

หากพบว่าเจ็บป่วยด้วย “โรคติดต่ออันตราย” ที่ถูกประกาศแล้ว 14 โรค (รวมถึงโรค COVID19) ตามพระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558 มาตรา 34 ในการป้องกันและควบคุมโรคติดต่อ มีข้อกำหนดที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม หลัก ๆ ได้แก่

 

  1. ให้ผู้ที่เป็นหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าเป็นโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด หรือผู้ที่เป็น ผู้สัมผัสโรคหรือเป็นพาหะ จะต้องเข้ารับการตรวจหรือรักษา หรือรับการชันสูตรทางการแพทย์ และเพื่อความปลอดภัย อาจดำเนินการโดยการแยกกัก กักกัน หรือคุมไว้สังเกต ณ สถานที่ซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อกำหนด จนกว่าจะได้รับการตรวจและการชันสูตรทางการแพทย์ว่าพ้นระยะติดต่อของโรคหรือสิ้นสุดเหตุอันควรสงสัย
  2. ผู้ที่มีความเสี่ยงที่จะติดโรคจะต้องเข้ารับการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ตามวัน เวลา และสถานที่ ซึ่งเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อกำหนด เพื่อมิให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป
  3. จะต้องนำศพหรือซากสัตว์ที่ตายหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าตายด้วยโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดไปเข้ารับการตรวจ หรือจัดการทางการแพทย์ หรือจัดการด้วยประการอื่นใดเพื่อป้องกันการแพร่ของโรค
  4. เจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้พักอาศัยในบ้าน โรงเรือน สถานที่ หรือพาหนะที่มีโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดเกิดต้องกำจัดความติดโรคหรือทำลายสิ่งใด ๆ ที่มีเชื้อโรคติดต่อหรือมีเหตุ อันควรสงสัยว่ามีเชื้อโรคติดต่อ หรือแก้ไขปรับปรุงการสุขาภิบาลให้ถูกสุขลักษณะ เพื่อการควบคุมและป้องกันการแพร่ของโรค
  5. ให้เจ้าของ ผู้ครอบครอง หรือผู้พักอาศัยในบ้าน โรงเรือน สถานที่ หรือพาหนะที่มีโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดเกิดขึ้น ดำเนินการเพื่อการป้องกันการแพร่ของโรคด้วยการกำจัดสัตว์ แมลง หรือตัวอ่อนของแมลงที่เป็นสาเหตุของการเกิดโรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาด
  6. ห้ามผู้ใดกระทำการหรือดำเนินการใด ๆ ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะที่ไม่ถูกสุขลักษณะซึ่งอาจเป็นเหตุให้โรคติดต่ออันตรายหรือโรคระบาดแพร่ออกไป
  7. ห้ามผู้ใดเข้าไปหรือออกจากที่เอกเทศ เว้นแต่ได้รับอนุญาตจากเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ หรือหมายถึงจะต้องไม่ออกไปแพร่เชื้อในสถานที่สาธารณะ แต่หากมีความจำเป็นจะต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐก่อน
  8. ให้เจ้าพนักงานสามารถเข้าไปในบ้าน โรงเรือน สถานที่ หรือพาหนะที่มีหรือสงสัยว่ามีโรคติดต่ออันตราย หรือโรคระบาดเกิดขึ้นเพื่อเฝ้าระวัง ป้องกัน และควบคุมมิให้มีการแพร่ของโรค

 

โดยโรคติดต่ออันตรายตาม “พระราชบัญญัติโรคติดต่อ พ.ศ. 2558” ประกอบด้วย

  1. กาฬโรค
  2. ไข้ทรพิษ
  3. ไข้เลือดออกไครเมียนคองโก
  4. ไข้เวสต์ไนล์
  5. ไข้เหลือง
  6. โรคไข้ลาสซา
  7. โรคติดเชื้อไวรัสนิปาห์
  8. โรคติดเชื้อไวรัสมาร์บวร์ก
  9. โรคติดเชื้อไวรัสอีโบลา
  10. โรคติดเชื้อไวรัสเฮนดรา
  11. โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง หรือโรคซาร์ส
  12. โรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง หรือโรคเมอร์ส
  13. วัณโรคดื้อยาหลายขนานชนิดรุนแรงมาก
    และล่าสุดคือ COVID19 เป็นลำดับที่ 14
kinyupen