หมอนหลอด…พลังบวกใครก็มีส่วนร่วมได้

0
1422
kinyupen
  • “หมอนหลอดพลาสติก ช่วยยืดระยะเวลาพลิกตะแคงตัวผู้ป่วยจาก 2 ชั่วโมงเป็น 2 ชั่วโมงครึ่ง” เพราะมีคุณสมบัติที่ดีในการคืนรูป มีช่องว่างระบายอากาศ รองรับสรีระผู้ป่วยได้ดี
  • “หมอน 1 ใบ ใช้หลอดประมาณ 2,000 หลอด” หรือ ปริมาณ 5 ถ้วยตวง น้ำหนักเฉลี่ย 948 กรัม
  • “หลอดที่เหมาะจะทำหมอน คือ หลอดกาแฟมาตรฐาน” ส่วนหลอดที่เล็กเกินไป อาทิ หลอดนม หลอดยาคูลท์ หรือ ใหญ่เกินไป เช่น หลอดชานมไข่มุก จะตกคุณสมบัติ เพราะไม่ยืดหยุ่นทำให้อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วย รวมถึงหลอดย่อยสลายได้ก็ไม่สามารถนำมาใช้ได้เช่นกัน
  • โครงการต่ออายุหลอดจะนำ “หลอดตกคุณสมบัติไปทำเชื้อเพลิงจากขยะ” ต่อไป

 

เริ่มกล่าวกันมากขึ้นว่า ขณะนี้ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงวัย โดยมีสัดส่วนประชากรอายุมากกว่า 65 ปีเพิ่มสูงเป็น 17% ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดตามมาก็คือ โรคภัยไข้เจ็บที่ตัวผู้สูงอายุและคนรอบตัวต้องเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบดูแล โดยกลุ่มที่น่าเป็นห่วงก็คือ “กลุ่มผู้ป่วยติดเตียง” อาทิ ผู้ป่วยอัมพฤกษ์ – อัมพาต ผู้ป่วยที่เป็นโรคทางสมอง กล้ามเนื้ออ่อนแรง ฯลฯ ซึ่งจำเป็นต้องใช้เวลา ค่าใช้จ่าย รวมถึงอุปกรณ์ดูแลที่มีลักษณะเฉพาะเพื่อป้องกันปัญหา “แผลกดทับ” ที่อาจก่อให้เกิดโรคต่างๆ ตามมา อาทิ ภาวะขาดอาหารรุนแรง การติดเชื้อรุนแรงในระบบทางเดินหายใจและในระบบทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น

 

“หมอนหลอดจากพลาสติกใช้แล้ว” กลายเป็นอีกหนึ่งสิ่งประดิษฐ์ ที่ถูกนำมาใช้ในการดูแลผู้ป่วยติดเตียงและได้รับการยืนยันว่าสามารถใช้งานได้จริง อาทิ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสริมเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ระบุว่า “หมอนหลอดดีกับผู้ป่วยที่ต้องนอนในโรงพยาบาลจริง เพราะนอกจากจะมีความยืดหยุ่น ระบายอากาศเหมาะกับผู้ป่วยที่นอนติดเตียงเป็นเวลานานไม่ให้เป็นแผลกดทับแล้ว ยังช่วยลดปัญหาเรื่องไรฝุ่น ภูมิแพ้ให้กวนใจเหมือนหมอนที่ทำจากนุ่นหรือฝ้ายทั่วไป”

 

ขณะที่ มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ก็ระบุข้อมูลที่สอดคล้องกันว่า “จากที่ได้วิจัยในเบื้องต้นร่วมกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พบว่าหมอนหลอดพลาสติกสามารถยืดระยะเวลาในการพลิกตะแคงตัวผู้ป่วย ช่วยลดภาระงานให้แก่พยาบาล จากสองชั่วโมง เป็นสองชั่วโมงครึ่ง เนื่องจากหลอดมีคุณสมบัติที่ดีในการคืนรูป มีช่องว่างระบายอากาศ สามารถรองรับสรีระผู้ป่วยได้ดี”

 

ฮีโร่จากซีโร่เวสท์…พลังบวกที่ใครก็มีส่วนร่วมได้

ปัจจุบันมีองค์กร หน่วยงาน หรือ กลุ่มจิตอาสาหลายกลุ่มที่เปิดให้ผู้สนใจเข้ามามีส่วนร่วมในการประดิษฐ์หมอนหลอดเพื่อผู้ป่วยติดเตียง หนึ่งในนั้นคือ โครงการ “ต่ออายุหลอด” ของมูลนิธิพลังที่ยั่งยืน ของบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ที่เริ่มดำเนินตั้งแต่ปี 2562 โดยรับบริจาคหลอดพลาสติกใช้แล้วจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ บริษัท ห้างร้านทั่วไป ตลอดจนประชาชนผู้สนใจ (ปิดรับชั่วคราวเนื่องจากมีพื้นที่ในการจัดเก็บหลอดที่ไม่เพียงพอ) เพื่อนำมาล้างและตากแดดให้แห้ง ก่อนเปิดกิจกรรมจิตอาสาตัดหลอดขนาด 1 เซนติเมตร และนำมาล้างอีกครั้งเพื่อประกอบเป็นหมอนสำหรับส่งมอบ

 

โดยปัจจุบันมีการส่งมอบ “หมอนหลอด” ทั่วประเทศรวมแล้วกว่า 147 ใบ อาทิ บ้านคนไร้ที่พึ่งหญิงธัญบุรี โรงพยาบาลพระจอมเกล้าเพชรบุรี โรงพยาบาลกลาง โรงพยาบาลมาบตาพุด แม่ล้าน หน่วยนาวิกโยธินชลบุรี โรงพยาบาลสุขภาพประจำตำบลแขมหนู จันทบุรี รวมถึงโรงพยาบาลแม่ลาวและกลุ่มมิตรภาพบำบัด จ.เชียงราย โรงพยาบาลสงฆ์ กทม. ฯลฯ ทั้งหมดนี้ช่วยลดปัญหาขยะหลอดพลาสติกเกือบ 200,000 หลอด

 

ปี 2563 นี้ โครงการฯ ยังคง “เปิดรับจิตอาสาจำนวนมาก เพื่อเข้ามาช่วยกันตัดหลอด ล้างหลอด เพื่อเข้าสู่กระบวนการทำหมอนหลอด” โดยจะจัดกิจกรรมขึ้นทุกเดือน ณ บริเวณโถงอาคาร 1 ปตท. สำนักงานใหญ่ ถนนวิภาวดีรังสิต

ทั้งนี้ครั้งต่อไปจัดขึ้น วันพฤหัสบดีที่ 26 กุมภาพันธ์ 2563 เวลา 9.30 – 16.30 น. ผู้สนใจสามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ : Facebook มูลนิธิพลังที่ยั่งยืน หรือ โทร. 02 537 2000 ต่อ 14376 /02 537 3308-10

 

นอกจากนี้ มูลนิธิฯ ยังระบุว่ายินดีและพร้อมขยายองค์ความรู้และขั้นตอนการทำหมอนหลอดให้กับท้องถิ่น เทศบาล ชุมชน ประชาชนทั่วไปที่สนใจได้ร่วมเป็นเครือข่ายสานต่อโครงการนี้ไปด้วยกันอีกด้วย

kinyupen