เบื้องลึก “จีเอ็ม” ถอนทัพประเทศไทย

0
548
kinyupen

“ธุรกิจ” เป็นเรื่องที่ต้องทำกำไร แต่หากไม่สามารถสร้างผลกำไรได้ ซ้ำร้ายยังขาดทุน ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่จะต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง ส่วนจะเป็นรูปแบบไหนขึ้นอยู่กับความรุนแรงและความเหมาะสม

ตั้งแต่ต้นสัปดาห์มานี้ ไม่มีข่าวธุรกิจไหนเป็นที่สนใจของสาธารณชนเท่ากับข่าว “เจเนอรัล มอเตอร์ส”  หรือ “จีเอ็ม” ที่ประกาศยุติการจัดจำหน่ายรถยนต์ “เชฟโรเลต” ในประเทศไทยภายในปี 2563 รวมถึงการขายศูนย์การผลิตที่จังหวัดระยอง ทั้งโรงงานผลิตรถยนต์และเครื่องยนต์ ให้กับ เกรทวอล มอเตอร์ส กลุ่มยานยนต์รายใหญ่จากจีน ส่วนเบื้องลึกเรื่องนี้เป็นอย่างไร กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอนำมาฝากกัน

 

จีเอ็ม เข้ามาลงทุนก่อตั้งบริษัทในไทย เมื่อกว่า 20 ปีที่แล้ว ช่วงเริ่มต้นการทำตลาดก็ทำได้ดี เพราะต้องยอมรับว่า ช่วง 20 กว่าปีก่อน ตลาดรถยนต์ยังไม่ได้แข่งขันกันรุนแรงมากมาย แต่ช่วงหลังๆ ตลาดเชฟโรเลตไม่ดีนัก ปีล่าสุดมียอดขายแค่ 15,000 คัน ส่วนแบ่งการตลาดแค่ 1.5% จากตลาดรวมรถยนต์รวมมากกว่า 1 ล้านคัน

 

สถานการณ์ที่ไม่ดีนี้ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่เริ่มมาพักใหญ่ หากจำกันได้จะพบว่าปี 2558 จีเอ็มผ่าตัดใหญ่องค์กรในไทย ลดขนาดลง 30% หลังจากนั้นก็ตามมาด้วยการประกาศเลิกทำตลาดรถยนต์นั่ง เพราะเห็นว่าไม่มีศักยภาพในการแข่งขันเพียงพอ ซึ่งทำให้เกิดเหตุการณ์ในลักษณะที่คล้ายๆ กับวันนี้ คือ ลูกค้าที่ใช้รถอยู่ตื่นตกใจว่าอนาคตจะมีที่ไหนที่บริการดูแลรถยนต์ แต่จีเอ็มก็ยืนยันว่า แม้เลิกขายแต่การบริการยังอยู่

 

ส่วนสถานการณ์ในวันนี้คล้ายกันแต่ไม่เหมือนกันคล้ายกันคือ การประกาศเลิกการขายรถทั้งหมด แต่ที่ไม่เหมือนกัน คือ ครั้งนี้เป็นการยุติการทำธุรกิจด้วย และปี 2564 จะไม่มี บริษัท เจเนอรัล มอเตอร์ส (ประเทศไทย) จำกัด จะไม่มี บริษัท เชฟโรเลต เซลส์ (ประเทศไทย) จำกัด นั่นทำให้เกิดความกังวลว่า ในอนาคตใครจะดูแลรถที่ใช้อยู่ แม้ทางจีเอ็มจะยืนยันว่าจะมีองค์กรที่ดูแลต่อไป รวมถึงการเตรียมเจรจากับตัวแทนจำหน่ายที่สนใจจะทำธุรกิจต่อในด้านการบริการหลังการขาย

 

แต่ดูเหมือนว่าความกังวลของผู้บริโภคจะหายไปอย่างรวดเร็ว เมื่อจีเอ็มประกาศลดราคารถยนต์เพื่อโละสต็อกที่มีอยู่ 4,000 คัน แบบถล่มทลาย 20-50% เพราะมีผู้บริโภคจำนวนมากแห่ไปยังโชว์รูมเพื่อจองรถถึงขนาดที่บางแห่งล้นออกมานอกโชว์รูม โดยรุ่นที่ได้รับความนิยมมากสุดคือ แคปติวา เพราะเป็นรถรุ่นใหม่ที่เพิ่งเปิดตัวไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา

 

…โอ้ววววว…ปรากฎการณ์นี้เราไม่ได้เห็นมานานแล้ววววว และต้องบอกว่า “ความกังวลเกี่ยวกับการบำรุงรักษายังมีอยู่ แต่ราคาที่ลดลงมันเร้าใจมากกว่า”

 

ทั้งนี้ เราคงไม่สามารถมองได้แค่เรื่องของปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้น แต่เราควรย้อนกลับมาดูถึงสาเหตุการถอนตัวออกจากตลาดประเทศไทย เพราะเป็นที่สนใจในวงกว้างและก่อให้เกิดกระแสวิพากษ์วิจารณ์ที่หลากหลาย ทั้งมองไปในเรื่องธุรกิจ เศรษฐกิจและเลยไปถึงเรื่องการเมือง การบริหารบ้านเมืองที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวทั่วโลก ทำให้จีเอ็มจำเป็นต้องตัดสินใจยกเลิกการทำตลาดในประเทศที่ไม่ทำกำไร

 

ธุรกิจ ก็คือ ธุรกิจ เมื่อไม่มีกำไรก็ต้องเลิกและการตัดสินใจของจีเอ็มง่ายขึ้น เพราะสามารถขายสินทรัพย์ขนาดใหญ่ อย่างศูนย์การผลิตที่ระยองได้แล้วนั่นเอง

 

ขอบคุณภาพจาก en.chevrolet.co.th

kinyupen