เตือนภัย “ไรอ่อน” วายร้ายไซส์เล็ก พาหะ “ไข้รากสาดใหญ่…เข้าป่ารับลมหนาว ควรระวังกำลังระบาด

0
673
kinyupen

เตือนภัยนักท่องเที่ยวที่ชื่นชอบการกางเต็นท์พักค้างคืนในป่า หรือ อุทยานแห่งชาติต่างๆ เพื่อรับลมเย็นช่วงนี้ควรทราบ…หลังกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ออกมาเตือนว่าขอให้ระมัดระวังถูก “ตัวไรอ่อน” กัด เพราะอาจทำให้เสี่ยงป่วยด้วยโรคไข้รากสาดใหญ่ได้

แต่สำหรับผู้ที่วางแผนท่องเที่ยวไว้แล้ว กรมควบคุมโรค แนะนำ 4 ข้อควรปฏิบัติไว้ดังนี้

  • สวมเสื้อผ้ามิดชิด เช่น เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว ทาโลชั่นกันยุงที่มีส่วนผสมของสาร DEET หรือ ใช้สมุนไพรทากันยุง ก็จะสามารถป้องกันตัวไรอ่อนกัดได้
  • หลีกเลี่ยงเข้าในบริเวณที่มีตัวไรอ่อนชุกชุม อาทิ ป่าโปร่ง ป่าละเมาะ หรือ บริเวณที่มีการปลูกป่าใหม่ ทุ่งหญ้า ชายป่า หรือ บริเวณต้นไม้ใหญ่ที่แสงแดดส่องไม่ถึง
  • ควรอาบน้ำทำความสะอาดร่างกาย และนำเสื้อผ้าที่สวมใส่มาซัก ด้วยผงซักฟอกเข้มข้น เพราะหลังออกจากป่าอาจมีตัวไรอ่อนติดมา
  • หากมีไข้และหนาวสั่น ไอ ตาแดง คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลีย ภายใน 2 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์ทันที พร้อมแจ้งประวัติการเข้าป่าให้แพทย์ทราบ เพื่อรับการรักษาโดยเร็ว ป้องกันการเสียชีวิต โดยสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร. 1422

 

 

รู้จักกับไรอ่อน และ ไข้รากสาดใหญ่

“โรคไข้รากสาดใหญ่” หรือ “โรคสครับไทฟัส” (Scrub typhus) เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่งที่มี “ไรอ่อน”เป็นพาหะซึ่งจะส่งผ่านเชื้อด้วยการกัดเข้าผิวหนังมนุษย์

“ไรอ่อน” ปกติมองเห็นด้วยตาเปล่าค่อนข้างยาก เพราะมีขนาดเล็กมาก มักอาศัยอยู่ตามใบไม้ ใบหญ้าใกล้พื้นดิน สามารถกระโดดเกาะตามเสื้อผ้าและกัดผิวหนังที่สัมผัสกับเสื้อผ้าได้ โดยบริเวณที่ถูกกัด มักจะเป็นรักแร้ ขาหนีบ รอบเอว

ทั้งนี้ ผู้ที่ถูกไรอ่อนมีเชื้อกัดจะเริ่มแสดงผลประมาณ 10-12 วันหลังถูกกัด อาการที่พบ คือ ปวดศีรษะ มีไข้ หนาวสั่น ไอ ตาแดง คลื่นไส้อาเจียน ปวดเมื่อยตัว อ่อนเพลีย และบริเวณที่ถูกกัดอาจจะมีผื่นแดงขนาดเล็กค่อย ๆ นูนหรือใหญ่ขึ้น และอาจจะพบแผลคล้ายบุหรี่จี้ (Eschar)  แต่จะไม่ปวดและไม่คัน ผู้ป่วยบางรายอาจหายได้เอง แต่บางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงได้ เช่น ปอดอักเสบ เยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ อาจทำให้เสียชีวิตได้

ทั้งนี้จากข้อมูลของกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 10 กุมภาพันธ์ 2563 มีรายงานพบผู้ป่วยโรคไข้รากสาดใหญ่ 445 ราย ไม่พบผู้เสียชีวิต ภาคที่มีจำนวนผู้ป่วยสูงสุด คือ ภาคเหนือ (จำนวน 227 คน คิดเป็นร้อยละ 51) ส่วนจังหวัดที่มีอัตราป่วยสูงสุด 5 อันดับแรก คือ ระนอง น่าน แม่ฮ่องสอน เชียงราย สุราษฎร์ธานี ตามลำดับ

kinyupen