เมื่อ “เต่ามะเฟือง” ขึ้นมาวางไข่…ทำไมต้องตื่นเต้น!!

0
1008
kinyupen

ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาลูกเต่ามะเฟือง ที่เกิดจากแม่เต่าที่พากันขึ้นมาวางไข่บริเวณชายหาดของ จ.พังงา  และ จ.ภูเก็ต ตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคม ปีที่แล้วได้เริ่มทยอยฟักเป็นตัวและเริ่มเดินลงสู่ทะเลกว่าร้อยตัวแล้ว และยังมีไข่อีกจำนวนมากกำลังค่อยๆ ฟักเป็นตัวและคืนกลับสู่ธรรมชาติในท้องทะเลที่เป็นที่อาศัยของมันต่อไป

การขึ้นมาวางไข่ของแม่เต่ามะเฟืองจำนวนกว่า 7 รังในปีนี้ นับเป็นข่าวดีที่ได้รับการเผยแพร่ไปอย่างกว้างขวางของไทย เพราะนั่นหมายถึงจำนวนของเต่ามะเฟืองที่จะเพิ่มขึ้นหลังจากที่พวกมันลดจำนวนลงอย่างรวดเร็วในช่วงก่อนหน้านี้ จากการคุกคามของมนุษย์ รวมไปถึงสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป สหภาพสากลว่าด้วยการอนุรักษ์ธรรมชาติ (International Union for the Conservation of Nature: IUCN) จึงขึ้นบัญชีเต่ามะเฟืองเป็นสัตว์ที่เสี่ยงต่อการสูญพันธุ์อย่างยิ่ง ในขณะที่ในประเทศไทยได้จัดให้เต่ามะเฟืองเป็น  สัตว์สงวนลำดับที่ 18 แห่งพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ. 2535  โดยพบว่าในประเทศไทยที่เต่ามะเฟืองไม่ขึ้นมาวางไข่นานกว่า 5 ปี ก่อนที่พวกมันจะเริ่มขึ้นมาวางไข่อีกครั้งในปี 2561 แต่ก็มีลูกเต่าฟักเป็นตัวไม่ถึง 10 ตัว

และนั่นคือเหตุผลว่าทำไมการขึ้นมาวางไข่ของแม่เต่ามะเฟือง จนกระทั่งไข่ถูกฟักเป็นตัวจำนวนกว่าร้อยตัวในครั้งนี้จึงกลายเป็นข่าวดีสร้างความตื่นเต้นให้กับนักอนุรักษ์รวมถึงคนไทยจำนวนมากนั่นเอง

เต่ามะเฟือง เป็น เต่าทะเลชนิดที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาเต่าที่มีชีวิตอยู่ในปัจจุบัน ความยาวของลำตัวถึง 1.8 เมตร ทั้งยังไม่มีแผ่นกระดองหลังและกระดองใต้ท้องเช่นเต่าทะเลทั่วไป แต่กระดองหลังมีลักษณะคล้ายแท่งยางแข็งที่มีสันนูนขึ้นตามยามจำนวน 7 สัน จึงมีรูปร่างคล้ายผลมะเฟือง

อุปนิสัย: มีชีวิตความเป็นอยู่แตกต่างไปจากเต่าทะเลอื่นๆ โดยดำรงชีวิตอยู่ในทะเลเปิด กินแมงกระพรุนเป็นอาหาร รวมทั้งพวกเพรียงหัวหอมที่ล่องลอยอยู่ในทะเล หาดที่ใช้วางไข่ต้องมีระดับน้ำลึก คลื่นแรงและมีแนวลาดชันขึ้นสู่หาด ร่องรอยเต่ามะเฟืองจะมีลักษณะกว้างกว่าเต่าทะเลชนิดอื่นๆ มีลักษณะคดเคี้ยวไปมาและมีวงกลับ ตัวเต่าตัวเมียจะวางไข่ 4-6 ครั้งในฤดูหนึ่งๆ ไข่มีขนาดใหญ่กว่าเต่าทะเลชนิดอื่นๆ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 7-8 เซนติเมตร จำนวนไข่ที่วางจะวางแตกต่างกันไประหว่าง 64 – 104 ฟอง โดยทั่วไปจะใช้ระยะเวลาในการฟักตัวประมาณ 55-60 วัน

ลูกเต่าที่ฟักออกเป็นตัว จะยังคงอยู่ในหลุมฟักไข่อีก 1-2 วัน เพื่อรอให้ไข่ฟองที่เหลือฟักตัวออกมา จากนั้นจึงอาศัยในช่วงเวลากลางคืนเพื่อคลานออกมาจากหลุมพร้อมๆ กัน ก่อนมุ่งหน้าลงสู่ทะเลโดย ลูกเต่าจะใช้จะว่ายน้ำอย่างไม่หยุดหย่อน เพื่อหลบหนีศัตรูตามธรรมชาติอันมีมากมายบริเวณชายฝั่งมุ่งออกทะเลลึก เต่ามะเฟืองซึ่งใช้เวลาเกือบทั้งชีวิตหากินในบริเวณทะเลลึกไกลจากฝั่ง และจะเข้ามาชายฝั่งอีกครั้งเพื่อการผสมพันธุ์และวางไข่

ปัจจุบันเต่ามะเฟืองอยู่ในสถานภาพเสี่ยงวิกฤติต่อการสูญพันธ์เนื่องจากภัยคุกคามต่าง ๆ ทางทะเลจากกิจกรรมของมนุษย์ โดยเต่ามะเฟืองจำนวนมากตายไปเพราะกินขยะพลาสติกเข้าไป นอกจากนี้ยังพบว่าติดเครื่องมือประมงระหว่างการเดินทางมาวางไข่ และระหว่างพักช่วงการวางไข่ของแม่เต่ามะเฟือง มีโอกาสที่จะติดเครื่องมือประมง ทั้งเครื่องมือประมงพาณิชย์ เช่น อวนลาก และเครื่องมือประมงพื้นบ้าน เช่น อวนลอย เบ็ดราวปลากระเบน และโป๊ะน้ำตื้น

 

ถูกรบกวนจากกิจกรรมในทะเล เช่น แสงไฟของเรือที่จอดบริเวณชายหาด ขยะ และน้ำเสียจากเรือ การท่องเที่ยวทางทะเล เช่น สกู๊ตเตอร์ รบกวนการขึ้นมาวางไข่ของเต่าทะเล นอกจากนั้นความสนใจของนักดำน้ำต่อเต่าทะเลยังรบกวนการพักผ่อน หากินของมันอีกด้วย

การสูญเสียสภาพชายหาดที่เหมาะสมต่อการวางไข่ คือการสูญเสียบริเวณหาดทรายที่เหมาะสมต่อการวางไข่ของเต่าทะเลจากการก่อสร้างสิ่งลุกล้ำลงไป หรือกิจกรรม แสง สี เสียง รบกวนการขึ้นมาวางไข่ของแม่เต่าความสกปรก และขยะบริเวณชายหาด

การกลับมาวางไข่ของเต่ามะเฟืองที่เพิ่มขึ้นในปีนี้ จึงถือว่าเป็นอีกหนึ่งดัชนีชี้วัดความสมบูรณ์และการบริหารจัดการชายฝั่งทะเลของไทย จนทำให้พวกมันสามารถขึ้นมาวางไข่และฟักเป็นตัวเพื่อดำรงค์เผ่าพันธุ์เต่ามะเฟือง … พันธุ์เต่าที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ นักสู้แห่งท้องทะเลของพวกมันต่อไป

kinyupen