“คนพิการ” คือ บุคคลซึ่งมีข้อจำกัดในการปฏิบัติกิจกรรมในชีวิตประจำวัน หรือเข้าไปมีส่วนร่วมทางสังคม เนื่องจากมีความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน การเคลื่อนไหว การสื่อสาร จิตใจ อารมณ์ พฤติกรรม สติปัญญาและการเรียนรู้หรือความบกพร่องอื่นๆ
ประเทศไทยได้มีการกำหนดให้ทุกวันเสาร์ที่ 2 ของเดือนพฤศจิกายนของทุกปี เป็น “วันคนพิการแห่งชาติ” เพื่อเปิดโอกาสให้คนพิการแสดงความสามารถในด้านต่าง ๆ แลกเปลี่ยนเรียนรู้วิทยาการใหม่ๆ รวมทั้งเพื่อให้คนทั่วไปได้เห็นถึงศักยภาพ และคุณค่าของคนพิการของคนพิการ และด้วยเหตุนี้เอง กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอใช้โอกาสนี้บอกเล่าเรื่องราวที่เกี่ยวข้องและสิทธิ์ต่างๆ ที่รัฐได้มอบให้กับคนพิการ
คำจำกัดความของ “ความพิการ” ประเภทความพิการตาม พรบ. ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการมี 7 ประเภท ได้แก่ 1. ความพิการทางการเห็น 2. การได้ยินหรือสื่อความหมาย 3. การเคลื่อนไหวหรือทางร่างกาย 4. ทางจิตใจหรือพฤติกรรม 5. ทางสติปัญญา 6. ทางการเรียนรู้ และ 7. ทางออทิสติก โดยผลสำรวจสำนักงานสถิติแห่งชาติ-องค์การยูนิเซฟ พบว่าประเทศไทย มีคนพิการประมาณ 3.7 ล้านคน คิดเป็น 5.5% ของประชากรประเทศ มากกว่าครึ่งไม่ได้จดทะเบียนคนพิการ และกว่า 1 ใน 5 ยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ-สวัสดิการจากรัฐ โดยความช่วยเหลือที่คนพิการต้องการมากที่สุดคือ “ผู้ช่วยคนพิการ-กู้ยืมเงินประกอบอาชีพ-ส่งเสริมประกอบอาชีพอิสระ-การปรับสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัย-การให้คำแนะนำปรึกษา”
สำหรับผู้พิการที่ได้จดทะเบียนกับรัฐจะได้รับสวัสดิการที่ครอบคลุมกับความต้องการหรือไม่? กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ได้รวบรวมข้อมูลมาให้ทุกท่านได้ทราบ ดังนี้
- เงินสงเคราะห์ผู้พิการ คนที่มีบัตรผู้พิการได้รับเงินเบี้ยคนพิการเดือนละ 800 บาท
- สิทธิบัตรทองผู้พิการ ครอบคลุมทั้งโรคทั่วไปและโรคเฉพาะทางในสถานพยาบาลของรัฐ รวมถึงบริการฟื้นฟูสมรรถภาพผู้พิการ เช่น กายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด การประเมิน/แก้ไขการพูด จิตบำบัด เป็นต้น
- สิทธิ์ประกันสังคมผู้พิการ จะได้รับสิทธิ์เหมือนกับผู้ประกันตนทั่วไป 7 กรณี ได้แก่ เจ็บป่วย, คลอดบุตร, สงเคราะห์บุตร (ตั้งแต่แรกเกิด – 6 ขวบ), ว่างงาน, ชราภาพ, ทุพพลภาพ, เสียชีวิต
- ผู้พิการทางการได้ยิน สามารถขอรับบริการล่ามภาษามือในเรื่อง
- การแพทย์และสาธารณสุข
- การสมัครงานหรือประสานงานด้านอาชีพ
- การร้องทุกข์กล่าวโทษหรือเป็นพยาน (ชั้นสอบสวนหรือเจ้าหน้าที่ตามกฎหมายอื่น)
- การร่วมประชุม การสัมมนา การฝึกอบรม การเป็นผู้บรรยาย
โดยสามารถติดต่อได้ที่ศูนย์บริการคนพิการประจำจังหวัดหรือชมรม-สมาคมของคนพิการทางการได้ยินประจำจังหวัด
- สิทธิ์ในการได้รับความช่วยเหลือทางกฎหมาย ซึ่งค่าธรรมเนียมต่างๆ ภาครัฐจะเป็นผู้ดูแล รวมถึงค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องเช่น ค่าเดินทางของทนาย ค่าถ่ายเอกสารประกอบสำนวน เป็นต้น
- สิทธิ์ในการเข้าถึงสิ่งอำนวยความสะดวกของการเข้าใช้สถานที่และบริการ หากพบว่าที่สาธารณะหรืออาคาร สถานที่ ยานพาหนะใดไม่รองรับสำหรับคนพิการ สามารถร้องเรียนได้
- สิทธิ์ในการเดินทางคมนาคมการเดินทาง เช่น รถไฟ รถเมล์ รถไฟฟ้าใต้ดินบนดิน โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่าย และในกรณีการเดินทางโดยเครื่องบินภายในประเทศของการบินไทย จะได้รับส่วนลด 50 เปอร์เซ็นต์ นอกจากนี้ผู้พิการที่อาศัยอยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑลสามารถใช้บริการแท็กซี่สำหรับไปโรงพยาบาล หรือติดต่อราชการและธุระส่วนตัวได้ ติดต่อสอบถามที่ 02-294-6524 ได้ทุกวัน ตั้งแต่เวลา 00.00-16.00 น.
- คนพิการสามารถเข้าถึงการศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรี (ตลอดชีวิต) โดยไม่มีค่าใช้จ่าย โดยรัฐได้จัดให้มีระบบการศึกษาพิเศษสำหรับคนพิการตามโรงเรียน นอกจากนี้ยังสามารถร้องขอให้มีการจัดการศึกษาพิเศษที่บ้านของคนพิการได้อีกด้วย และในกรณีการศึกษาในสถาบันเอกชน อาจต้องสำรองจ่ายและจึงนำมาเบิกได้
- คนพิการสามารถยืมอุปกรณ์ทางเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาความสามารถ และศักยภาพ เช่น มือถือ คอมพิวเตอร์ เครื่องช่วยฟัง ฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ได้ สามารถติดต่อได้ที่กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม หรือสำนักงานจังหวัด โดยให้เขียนคำร้องที่สำนักงานสถิติจังหวัด หรือติดต่อผ่านสมาคมคนพิการที่คนพิการสังกัดอยู่
คนพิการก็เหมือนคนทั่วไปที่ต้องได้รับสิทธิ์ และประโยชน์พื้นฐาน เพื่อช่วยให้การใช้ชีวิตประจำวันสะดวกสบาย โดยปัจจุบันทั้งภาครัฐและภาคเอกชนต่างก็เปิดโอกาสให้คนพิการสามารถทำงาน หรือ เข้ามามีบทบาทกับสังคมมากขึ้น ความพิการจึงไม่ใช่อุปสรรคในชีวิตอีกต่อไป