“กามนิต – วาสิฏฐี” นวนิยายอิงหลักธรรม แฝงข้อคิดที่ใช้ได้ในชีวิตจริง

0
2441
kinyupen

ข้อน่าคิด จากกามนิต-วาสิฏฐี

  1. ต้นฉบับ เป็นภาษาเยอรมัน หาใช่ภาษาอินเดีย หรือไทย
  2. นิยายอิงหลักคำสอนพุทธศาสนา โดยผู้แต่งชาวเดนมาร์ก
  3. พระพุทธเจ้าให้บทเรียนสอนหญิง และสอนชายในเรื่องของ การหลุดพ้นที่ต่างกัน
  4. “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” คือคำสอนที่พระพุทธเจ้า สอนหญิงผ่านวาสิฏฐี
  5. “สวรรค์ – นรกไม่ใช่หนทางสู่ความหลุดพ้น แต่จริงแท้ คือนิพพาน” คือคำสอนที่พระพุทธเจ้า สอนชาย ผ่านกามนิต
  6. บุคคลในนิยายที่มีอยู่จริง คือ พระพุทธเจ้า พระอานนท์ พระสารีบุตร และองคุลีมาล
  7. เหตุการณ์ในเรื่องอิงพุทธประวัติตอนปลาย

 

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอนำเสนอเรื่องราวในหนังสือกามนิต -วาสิฏฐี ที่เชื่อว่าทุกคนคงเคยได้ยินหรือรู้สึกคุ้นเคย

กามนิต-วาสิฏฐี เป็นวรรณกรรมอิงหลักคำสอนพุทธศาสนาที่มีชื่อเสียง ต้นฉบับแต่งเป็นภาษาเยอรมันโดยคาร์ล แอดอล์ฟ เกลเลอโรป นักประพันธ์ชาวเดนมาร์ก เมื่อปี พ.ศ. 2449 และถูกแปลเป็นภาษาไทยโดยเสฐียรโกเศศ–นาคะประทีป ในปี พ.ศ. 2473

เนื้อหาของหนังสือแบ่งออกเป็น 45 บท แบ่งเป็นภาคบนดิน-ภาคสวรรค์ โดยภาคบนดิน เริ่มจากพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากกรุงราชคฤห์ และได้พบกับกามนิตที่บ้านช่างปั้นหม้อ ซึ่งเป็นที่มาของการดำเนินเรื่อง อันเริ่มจากบทสนทนาที่เป็นเรื่องราวความรัก ระหว่างกามนิตกับวาสิฏฐี จนถึงเป้าหมายการเดินทาง ของกามนิตที่ต้องการฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าในเรื่องของการหลุดพ้น หากท้ายสุดแล้วแม้กามนิตจะได้รับข้อธรรมแต่ก็เข้าไม่ถึง เพราะไม่คาดคิดว่าผู้ที่ตนสนทนา คือ พระพุทธเจ้า ทั้งข้อธรรมนั้นขัดกับความเชื่อ และความเข้าใจของตนเอง

ภาคสวรรค์ เป็นการถ่ายทอดเรื่องราวจากวาสิฏฐีที่เสมือนจิ๊กซอว์เห็นแง่มุมคิดอีกด้าน ทั้งยังสะท้อนหลักธรรมของพุทธศาสนาที่ทำไมถึงมุ่งสอนให้คน “ตั้งอยู่ในความไม่ประมาทและมุ่งสู่นิพพาน”

สุดท้าย ขอสรุปใจความหลัก ๆ ของกามนิต -วาสิฏฐี เผื่อนำไปปรับใช้ได้ อย่างแรก คือ “ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์” เพราะทุกคนเมื่อมีรักมักมีความคาดหวัง และทุกอย่างในชีวิตมักไม่เป็นไปตามคาด ความทุกข์ก็ย่อมตามติด

ประการต่อมา “สุดท้ายแล้ว สวรรค์นรกไม่ใช่จุดหมาย แต่นิพพานคือที่สุด”  โดยท่านพุทธทาสภิกขุ ได้ให้ความหมายของนิพพานว่า เป็นการเย็นลงแห่งไฟกิเลส ไฟกิเลสก็คือ ราคะ โทสะ โมหะ กิเลสทั้งหมดเย็นสนิท จึงจะเรียกว่า “นิพพาน” เปรียบเสมือนชีวิตจริงของเราคือ หากเรามีกิเลสเหล่านี้ ตัวเราก็จะมีแต่ความรุ่มร้อน  ชีวิตไม่มีความสุข หากเราปล่อยวางลงได้ ทุกอย่างก็จะสงบลง จิตใจของเราก็จะคิดแต่สิ่งดี ๆ และ เรื่องดี ๆ และนี่คือวิถีแห่ง กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต

 

kinyupen