“พญานาค” งูเทวดา และ นาคาแห่งน้ำ

0
1106
kinyupen

หากกล่าวถึงพญานาค ล้วนมีเรื่องราวและความเชื่อที่แตกต่างกัน เล่าต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น ไม่ว่าจะเป็นประเพณีบั้งไฟพญานาค หรือแม้แต่ปีนักษัตรตามราศี อย่างปีมะโรงที่สื่อถึง ความลึบลับ ทรงพลัง อำนาจของพญานาค กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต มีบทความเกี่ยวกับเรื่องพญานาคของ ดร.ศศดิศ ชูชนม์ มาฝากกัน

 

ม่ใช่แค่แม่น้ำโขงหรอก ที่มี “พญานาค”

คำบอกเล่าถึงเรื่องราวของพญานาค ถูกส่งผ่านต่อกันมาหลายชั่วอายุนับพันๆปี ถ้าลองสืบค้นเรื่องราวของพญานาค ที่เก่าแก่ที่สุด น่าจะเป็นข้อมูลที่ระบุว่า พญานาค..มีต้นกำเนิดมาจากอินเดียใต้ ซึ่งเป็นป่าและมีงูชุกชุม ความมีพิษและความดุร้ายของงู ..กลายมาเป็นการสั่งสมความเชื่อในเรื่องของอำนาจ และ ความเร้นลับ

 

ถ้าคุณเดินทางไปอินเดียตอนใต้ การกราบไหว้งู  กราบไหว้เทวรูปงู และ การเป่าปี่เรียกงู ยังคงเป็นสัญลักษณ์ของผู้คนในดินแดนแถบนี้ พวกเขาเชื่อว่า “งู” เป็นสัตว์ในป่าหิมพานต์ ที่มีความศักดิ์สิทธิ์

ส่วนนาค หรือ พญานาค คือ พญาแห่งงูใหญ่ ที่มีหงอน เป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ ความอุดมสมบูรณ์ ความมีวาสนา เป็นสัญลักษณ์ของบันไดสายรุ้งสู่จักรวาล และ เทพเจ้าแห่งท้องน้ำ

 

จากอินเดียใต้ ความเชื่อเรื่อง..นาค และ พญานาค แผ่ขยายไปยังภูมิภาคต่างๆทั่วทวีปเอเชีย เรื่องราวของพญานาค ปรากฏทั้งในเทพนิยาย ตำนานพื้นบ้าน วรรณกรรม หรือ แม้แต่เรื่องราวในมหากาพย์ภารตยุทธและพุทธประวัติ ในมหากาพย์มหาภารตะ พญานาค เป็นปรปักษ์ของพญาครุฑ ส่วนในตำนานพุทธประวัติ ก็เล่าถึงพญานาคไว้หลายครั้ง แต่ที่มีการกล่าวถึงมากที่สุด คือ เมื่อครั้งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสรู้ธรรมอันเป็นเครื่องดับทุกข์แล้วนั้น พระองค์ได้เสด็จไปยังเมืองต่างๆ เพื่อแสดงธรรมเทศนาโปรดเหล่าสรรพสัตว์ทั้งหลาย

 

ครั้งหนึ่ง เมื่อพระพุทธองค์ เสด็จออกจากร่มไม้อธุปปาลนิโครธ ไปยังร่มไม้จิกชื่อ ทรงนั่งเสวยวิมุตติสุข อยู่ 7 วัน คราวเดียวกันนั้นมีฝนตกพรำๆ ประกอบไปด้วยลมหนาวตลอด 7 วัน ได้มีพญานาค “มุจลินทร์” เข้ามาวงด้วยขด 7 รอบพร้อมกับแผ่พังพานปกพระผู้มีพระภาคเจ้า เพื่อป้องกันลมและฝนมิให้ถูกพระวรกาย หลังจากฝนหายแล้ว พญานาคมุจลินทร์ ได้คลายขนดออก และแปลงเพศเป็นมานพมายืนเฝ้าที่เบื้องพระพักตร์ ด้วยความศรัทธาอย่างแรงกล้า

 

ความเชื่อดังกล่าวทำให้ชาวพุทธสร้างพระพุทธรูปปางนาคปรก เป็นสัญลักษณ์ ว่า พญานาค คือ เทวดาแปลงกายมาเพื่อปกป้องพระบรมศาสดา 

 

ชาวฮินดูถือว่า พญานาคเป็นผู้ใกล้ชิดกับเทพองค์ต่างๆ เป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ เช่น อนันตนาคราช ที่เป็นบัลลังก์ของพระนารายณ์ตรงกับความเชื่อของลัทธิพราหมณ์ ที่เชื่อว่า นาค เป็นเทพแห่งน้ำ จนเกิดเป็นตำนาน “นาคให้น้ำ”เช่น ถ้าปีนี้ นาค ให้น้ำ 1 ตัว แปลว่า น้ำจะมาก ท่วมพื้นที่ทำการเกษตร ไร่นา แต่ถ้าปีใด นาคให้น้ำ 7 ตัว น้ำจะน้อย เป็นที่น่าสังเกตว่า ตัวเลขนาคให้น้ำจะกลับกันกับเหตุการณ์ เนื่องจาก ถ้านาคให้น้ำ 7 ตัว น้ำจะน้อยเพราะนาคกลืนน้ำไว้ ฯลฯ

ตำนานและความเชื่อเรื่องพญานาค…ในโลกฝั่งตะวันออก นาค ..คือ ความศักดิ์สิทธิ์ ศรัทธา ความอุมสมบูรณ์ เป็นเทพเจ้า แต่ในโลกฝั่งตะวันตก  นาค..คือ สัญญะของกิเลส ความชั่วร้าย และ ตัณหา

แต่ไม่ว่าเราจะเชื่ออย่างไร สิ่งสำคัญที่สุด คือ “พญานาค” น่าจะมีอยู่จริง….!!!

 

kinyupen