แทบไม่น่าเชื่อว่าปัจจุบัน สถานการณ์ฆ่าตัวตายของคนไทยพุ่งสูงขึ้นอย่างน่าตกใจ โดยในปี 2561 ที่ผ่านมา มีคนไทยฆ่าตัวตายสำเร็จ 4,137 คน หรือเฉลี่ย 11-12 คนต่อวัน ถือเป็นอันดับต้นๆ ในอาเซียน โดยกลุ่มที่ฆ่าตัวตายสูงสุด คือ วัยแรงงาน ช่วงอายุ 25-59 ปี รองลงมาคือวัยสูงอายุ ตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป และวัยเด็ก อายุ 10-24 ปี ตามลำดับ โดยปัจจัยต้นเหตุสำคัญ กรมสุขภาพจิต ระบุว่า อันดับหนึ่ง เกิดจากปัญหาด้านความสัมพันธ์ ทั้งความน้อยใจ ถูกดุด่าตำหนิ การทะเลาะกับคนใกล้ชิด ซึ่งสูงถึง 48.7% รองมาคือ ความรัก หึงหวง 22.9% และต้องการคนใส่ใจดูแล 8.36%
ขณะที่ปัจจัยจากการดื่มสุราและยาเสพติด พบว่า ปัญหาการดื่มสุรา 19.6% มีอาการมึนเมาระหว่างทำร้ายตนเอง 6% ส่วนปัญหาด้านการเจ็บป่วยทางจิต พบภาวะโรคจิต 7.45% โรคซึมเศร้า 6.54% และมีประวัติการทำร้ายตนเองซ้ำ 12% นอกจากนี้กรมสุขภาพจิตยังกังวลต่อการนำเสนอข่าวการฆ่าตัวตายของสื่อมวลชนว่าอาจทำให้เกิดพฤติกรรมเลียนแบบด้วย
จากข้อมูลจะเห็นได้ว่า ผู้ป่วยซึมเศร้าโรคที่ซึ่งกำลังเป็นที่สนใจอย่างมากในสังคม มีอัตราเสี่ยงระดับที่น่าเป็นห่วง อีกทั้งระยะหลังคนดังทั่วโลกที่ป่วยโรคนี้ก็มีการฆ่าตัวตายถี่ยิ่งขึ้น ซึ่งสาเหตุที่ผู้ป่วยโรคซึมเศร้ามักเสี่ยงต่อการคิดฆ่าตัวตายนั้น กรมสุขภาพจิต ระบุว่า ทฤษฎีหนึ่งที่สามารถนำมาอธิบายถึงการฆ่าตัวตายในผู้ป่วยโรคซึมเศร้าได้ดี คือ แนวคิดของทฤษฎีสัมพันธภาพระหว่างบุคคลของการฆ่าตัวตาย โดย แวน โอเดน และคณะ ซึ่งเชื่อว่ามีปัจจัยเกี่ยวข้อง 3 ประการ
- ความรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคม
- คิดว่าตนเองเป็นภาระ
- พลังหรือความสามารถที่จะฆ่าตัวตาย ซึ่งจะทำให้กลัวความตายน้อยลง ทนต่อการบาดเจ็บของร่างกายได้มากขึ้น ซึ่งส่งให้เกิดผลตามมา คือ พยายามฆ่าตัวตายจนเกือบถึงตาย และถึงแก่ความตาย
คนจะฆ่าตัวตายสังเกต – ป้องกันอย่างไร
ข้อสังเกตของคนที่เสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย คือ มีอาการเศร้า เบื่อ เซ็ง แยกตัว คิดวนเวียน นอนไม่หลับ มองโลกในแง่ลบ หรือ โพสต์ข้อความเชิงสั่งเสีย ไม่อยากมีชีวิตอยู่ หมดหวังในชีวิต ซึ่งเป็นอาการบ่งบอกของโรคซึมเศร้าและเป็นสัญญาณเสี่ยงต่อการฆ่าตัวตาย ซึ่งถ้าพบให้รีบเข้าไปพูดคุยรับฟัง ตามหลัก 3 ส. คือ
- สอดส่องมองหา ผู้ที่มีความคิดทำร้ายตัวเอง หรือ เริ่มส่งสัญญาณเตือนในการฆ่าตัวตาย
- ใส่ใจรับฟังด้วยความเข้าใจ ชวนพูดคุย ให้ระบายความรู้สึก ไม่ตำหนิหรือวิจารณ์ โดยการรับฟังอย่างใส่ใจนั้นเป็นวิธีการที่สำคัญมีประสิทธิภาพมาก
- ส่งต่อเชื่อมโยงเช่น การแนะนำให้โทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง หรือ โทรปรึกษาสะมาริตันส์ 02-713-6793 เวลา 12.00-22.00 น. รวมถึงแอพพลิเคชั่นสบายใจ (Sabaijai)แนะนำให้ไปพบบุคลากรสาธารณสุขหรือช่วยเหลือพาส่งโรงพยาบาลใกล้บ้าน
ดังนั้นถ้าใครพบว่าบุคคลรอบข้างมีความเสี่ยง หรือ มีอาการลักษณะนี้ ควรเข้าไปดูแลอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันเหตุอันไม่คาดฝันที่ไม่มีใครอยากให้เกิดขึ้น เพราะยังไงการป้องกันแต่ต้นเหตุนั้นย่อมดีกว่าแก้ที่ปลายเหตุแน่นอน
ทีมงานกินอยู่เป็น 360องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอขอบคุณข้อมูลดีๆ จากกรมสุขภาพจิตมา ณ ที่นี้
///////////////////////////////////////////////////////////////////////////