- วิกฤติห้องเรียนร้างลามทั่วโลก ไทยนักศึกษาลดฮวบกว่า6 แสน เอกชน Lay off อาจารย์ จ่อขายมหาวิทยาลัย
- อเมริกา 3 ปี นักศึกษาหายกว่า 8 แสน คาดอิทธิพลระบบออนไลน์ ทำมหาวิทยาลัยในอเมริกาจ่อคิวปิดตัวกว่า 2,000 แห่ง
- มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์สั่งปรับโมเดลทันที เป็น “มหาวิทยาลัยตลอดชีวิต” ดึงศิษย์เก่ากลับเข้าห้องเรียน
ข่าวฮอตในวงการการศึกษาบ้านเราช่วงนี้ คงหนีไม่พ้นข่าววิกฤติมหาวิทยาลัยที่หนักหนาสาหัสถึงขั้นต้อง Lay off อาจารย์กันแล้ว
ลามไปถึงขั้นเตรียมปิดมหาวิทยาลัย ขายมหาวิทยาลัยให้ทุนต่างชาติ เพราะแบกภาระขาดทุนไม่ไหว เนื่องจากเด็กลดลง ล่าสุดปีนี้พบว่า ที่นั่งในมหาวิทยาลัยลดฮวบกว่า 6 แสนที่นั่ง
ไม่เฉพาะแต่ประเทศไทย แม้แต่สหรัฐอเมริกาซึ่งได้ชื่อว่าเป็นผู้นำการศึกษาของโลก เป็นที่รวมมหาวิทยาลัยอันดับท็อปของโลก ก็เผชิญปัญหานี้มาระยะหนึ่งแล้ว มีรายงานว่าในช่วงปี 2555 – 2557 มีนักศึกษาหายไปถึง 8 แสนคน และเมื่อต้นปี 2561 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาปิดตัวไปกว่า 500 แห่ง และคาดว่าภายใน 10 – 15 ปีข้างหน้า ครึ่งหนึ่งของมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 4,000 แห่ง อาจล้มละลายจากการถูกทำลายล้าง (Disrupt) จากอิทธิพลของเทคโนโลยี ส่วนใหญ่เป็นมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก หรือมหาวิทยาลัยที่ไม่ค่อยมีชื่อเสียง
ส่วนที่ยังอยู่ ก็เอาตัวรอดด้วยการยุบรวมมหาวิทยาลัย ซึ่งเกิดขึ้นทั้งในยุโรปและอเมริกา เนื่องจากอิทธิพลของการศึกษาออนไลน์ที่ดึงคนเรียนไปอยู่บน MOOC หลากหลายแพลตฟอร์มที่ผู้เรียนสามารถเลือกคอร์สเรียนของมหาวิทยาลัยชั้นนำที่เปิดสอนบน MOOC ได้ทั่วโลก ทำให้มหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกาต้องปรับตัวเพื่อดึงคนเรียน เช่น เปิดสาขาที่เป็น นิช มาร์เก็ต มากขึ้น หรือสร้างจุดเด่นในการเป็นมหาวิทยาลัยเฉพาะทาง มีความโดดเด่นด้านการสอนที่ได้รับการยอมรับในหมู่ผู้เรียน เป็นต้น
ส่วนในเอเชียอย่างเช่นประเทศญี่ปุ่น ก็ได้รับผลกระทบประชากรวัยเรียนที่ลดลงเช่นกัน ขณะนี้มหาวิทยาลัยชั้นนำหลายแห่งที่ได้ชื่อว่าสอบเข้ายากและแข่งขันสูง กำลังเข้าสู่ยุคที่ต้อง ง้อคนเรียนกันแล้ว แม้ว่าชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยจะได้เปรียบเมื่อเทียบกับมหาวิทยาลัยขนาดเล็ก หรือมหาวิทยาลัยที่ไม่ใช่อันดับท็อปของประเทศ แต่เมื่อตัวป้อนคือเด็กมัธยมฯ ที่จะเข้าสู่มหาวิทยาลัยลดลง ก็ต้องปรับตัว วางกลยุทธ์ หาจุดขายใหม่ๆ เพื่อดึงเด็กเข้ามาเรียน
เช่น ลดค่าเล่าเรียน เปิดหลักสูตร หรือสาขาวิชาที่ตอบโจทย์คนรุ่นใหม่ แม้แต่การปรับบรรยากาศ เสริมสิ่งอำนายความสะดวกในมหาวิทยาลัยให้น่าอยู่น่าเรียนมากขึ้น ส่วนมหาวิทยาลัยเอกชนขนาดเล็กที่ทุนน้อย รับมือไม่ไหว ก็ต้องปิดตัวไป
มีรายงานว่าปี 2559 มีมหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นปิดตัวไปแล้วไม่ต่ำกว่า 15 แห่ง และปี 2561 เป็นปีที่มหาวิทยาลัยของญี่ปุ่นต้องเตรียมรับมือกับการลดลงของประชากรในวัย 18 ปีอีกครั้ง จากที่เคยลดลงต่อเนื่องเมื่อหลายปีก่อน
โดยในช่วงปี 2552 – 2560 ลดลงอยู่ที่ประมาณ 1.2 ล้านคน คาดว่าถึงปี 2574 ประชากรวัย 18 ปีของญี่ปุ่นจะลดลงเหลือไม่ถึง 1 ล้านคน ส่งผลให้มหาวิทยาลัยในญี่ปุ่นเกือบ 1 ใน 3 ไม่สามารถเปิดสอนได้ครบทุกหลักสูตร และบางแห่งอาจจะต้องปิดตัวลงในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า
เช่นเดียวกับประเทศสิงคโปร์ ล่าสุดมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) ซึ่งเป็นมหาวิทยาลัยอันดับหนึ่งของเอเชีย และอันดับต้นๆ ของโลก ต้องปรับโมเดลของมหาวิทยาลัย จากที่เคยจัดการศึกษาในระดับปริญญาตรี 4 ปี เป็น “มหาวิทยาลัยตลอดชีวิต”
นั่นก็คือ การให้การศึกษาแก่ประชากรไม่เฉพาะแต่ในระดับปริญญาตรี 4 ปี และปริญญาโท/เอก แต่เป็นการจัดการศึกษาที่ให้คนทุกวัย สามารถเข้ามาเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยได้ตลอดชีวิต เพื่อพัฒนาทักษะความรู้ของประชากรให้ทันสมัยอยู่ตลอดเวลา
สิ่งที่ตามมาคือทำให้มหาวิทยาลัยมีผู้เรียนเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะการเปิดหลักสูตรใหม่ๆ เพื่อให้คนที่เรียนจบไปแล้วสามารถกลับมาพัฒนาต่อยอดทักษะความรู้ได้ตลอดเวลา มีโปรโมชั่นสำหรับศิษย์เก่า สามารถกลับเข้าไปเรียนเพิ่มทักษะได้ฟรี 2 โมดูล ภายใน 3 ปี ทำให้ผู้เรียนซึ่งเป็นศิษย์เก่ากลับไปใช้บริการอย่างต่อเนื่อง และหากสะสมคอร์สจนครบตามมาตรฐาน ก็สามารถเปลี่ยนเป็นปริญญาได้ เช่น ปริญญาตรีใบใหม่ หรือปริญญาโท ภายใต้มาตรฐานที่สูงของสิงคโปร์
นายออง ยี คัง (Ong Ye Kung) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการของสิงคโปร์ ประกาศชัดว่า ในยุคการปฏิวัติอุตสาหกรรมใหม่ หรือยุค Industry 4.0 การศึกษาแบบเดิม มหาวิทยาลัยแบบเดิม กำลังจะล้าสมัย จึงต้องรีบปรับตัวอย่างเร่งด่วน โดยเน้นการสร้างผลกระทบต่อผู้เรียนมากกว่าเกรด ผลิตคนหลากหลายตามความต้องการของผู้เรียน และเป็นมหาวิทยาลัยสำหรับทุกช่วงวัยของชีวิต
โดยเปลี่ยนการเรียนรู้ทฤษฎีในห้องเรียน มาเป็นการฝึกฝนประสบการณ์ ผสมผสานการทำงานจริง แก้ปัญหาจริง มหาวิทยาลัยในอนาคตจะเป็นลักษณะเรียนควบคู่กับการทำงาน เป็นผู้ประกอบการไปด้วย เด็กสิงคโปร์จะต้องอยู่ในโลกยุคการค้าดิจิทัลได้ มีทักษะด้าน Computational Thinking (การคิดเชิงคำนวณ หรือ กระบวนการแก้ปัญหาแบบมีลำดับ) พร้อมกับเพิ่มความหลากหลายของอุดมศึกษา ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนตามความสนใจ มีสายอาชีพหลากหลาย แนะนำเส้นทางอาชีพให้ผู้เรียนได้รู้ว่าตนชอบหรือถนัดอะไรตั้งแต่วัยเด็ก
นอกจากนี้ ยังเน้นการเรียนรู้ตลอดชีวิตสำหรับคนที่เรียนจบไปแล้ว และต้องการกลับมาเรียนใหม่ และสุดท้ายคือการเพิ่มบทบาทของมหาวิทยาลัย ที่มากกว่าการสอนและการวิจัย เพื่อให้มหาวิทยาลัยอยู่รอดได้
มหาวิทยาลัยเบอร์หนึ่งของเอเชียและเบอร์ต้นๆ ของเอเชีย อย่างสิงคโปร์ ญี่ปุ่น ขยับปรับตัวกัน มหาวิทยาลัยไทยจะตั้งรับ ปรับตัวกับวิกฤตินี้อย่างไร ?
แม้ว่าที่ผ่านมาคอร์สออนไลน์ในประเทศไทยยังไม่ส่งผลกระทบรุนแรงเท่ากับอเมริกา เนื่องจากยังไม่เป็นที่รู้จักแพร่หลายในหมู่คนไทย แต่นักการศึกษาหลายท่านบอกว่า ระบบการศึกษาออนไลน์จะทำให้เกิด Disruption ในระบบการศึกษาของไทยแน่นอน แต่จะเกิดช้าหรือเร็วยากจะคาดเดา
แต่ที่เกิดขึ้นแล้วในเวลานี้คือ ประชากรวัยเรียนที่ลดลงต่อเนื่อง ส่งผลต่อที่นั่งในมหาวิทยาลัยที่ลดฮวบเช่นกัน โดยปีนี้พบว่า ที่นั่งในมหาวิทยาลัยว่างกว่า 6 แสนที่นั่ง และคาดว่าในอีก 5 – 6 ปีข้างหน้า จากเด็กนักเรียน 1 ล้านคน จะเหลือเพียง 5 แสนคนที่จะเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัย ทำให้มหาวิทยาลัยเอกชนรวมถึงมหาวิทยาลัยรัฐที่อยู่ในภาวะ Over Supply มานาน ต้องยุบหลักสูตร สาขาวิชา ยุบห้องเรียน และที่หนักสุดและเกิดขึ้นแล้วในเวลานี้คือ การ Lay off อาจารย์, ขายมหาวิทยาลัยให้กลุ่มทุนต่างชาติ หรือ เลิกกิจการ เนื่องจากทนขาดทุนไม่ไหว
ดร.อานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ จากคณะสถิติประยุกต์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) ออกมาเปิดเผยว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยไทยกำลังเผชิญวิกฤติอย่างหนัก โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยเอกชน บางแห่งขาดทุนนับร้อยล้าน บางรายมีการเจรจาปล่อยขายหลายพันล้าน มหาวิทยาลัยรัฐต้องแย่งเด็กกันเอง เพื่อให้ได้เด็กเต็มตามเป้า สะท้อนว่าที่นั่งในมหาวิทยาลัยมีมากกว่าคนเรียน เนื่องจากที่ผ่านมาไม่มีการวางแผนการผลิตคนที่ตรงกับความต้องการของตลาด หลายสาขาล้นตลาด ในขณะที่แพทย์ พยาบาล ยังขาดแคลนจำนวนมาก และว่า ผลกระทบที่เกิดขึ้นรุนแรงมากน้อยแตกต่างกันตามสภาพของมหาวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงจริงๆ ปรับตัวได้จะไปรอด และคาดการณ์ว่าภายใน 3 – 5 ปีข้างหน้า จะมีการ Lay off อาจารย์ เจ้าหน้าที่ที่เป็นพนักงานมหาวิทยาลัยออกไปจำนวนมาก โดยคาดการณ์ว่าอาจจะมากถึง 40% และถึงขั้นอาจจะต้องยุบ ปิดภาควิชา หรือรวมคณะ ภาควิชา สาขาวิชา หรือรวมมหาวิทยาลัย
แต่ไม่ทันข้ามปี เมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน 2561 “ดร.อานนท์” ออกมาเปิดเผยว่า ขณะนี้การ Lay off อาจารย์เกิดขึ้นแล้ว เป็นการเลิกจ้างที่ไม่มีความผิดใดๆ ซึ่งเร็วกว่าที่พยากรณ์ไว้ ! โดยสาขาที่มีโอกาส Lay off อาจารย์สูง เช่น เศรษฐศาสตร์ สถิติ คณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ วิทยาการคอมพิวเตอร์ การจัดการระบบสารสนเทศ ปรัชญา ประวัติศาสตร์ เป็นต้น
เรื่องนี้ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.อุดม คชินทร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ก็ยอมรับ และมองว่าวิกฤติอุดมศึกษาเป็นปัญหาที่ทั่วโลกกำลังเผชิญ ไม่เฉพาะแต่ประเทศไทย มหาวิทยาลัยจะต้องปรับตัวตั้งรับให้เร็วที่สุด เช่น ปรับหลักสูตรให้เหมาะสมกับตลาดและงานในยุคที่โลกขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ให้เด็กได้เกิดทักษะจากการเรียน พัฒนาผ่านงานวิจัยและนวัตกรรม เพื่อพัฒนาประเทศ
ขณะที่อาจารย์ก็ต้องปรับตัว เพิ่มทักษะให้เด็กได้ปฏิบัติจริงมากกว่าเน้นวิชาการ เพราะยุคนี้เด็กสามารถเรียนรู้ผ่านเทคโนโลยีได้ด้วยตนเอง และต้องจัดการศึกษาที่ตอบโจทย์คนทุกวัย ตั้งแต่นักเรียน นักศึกษา คนวัยทำงาน และผู้สูงอายุ
และมหาวิทยาลัยในศตวรรษที่ 21 จะต้องใช้ฐานความรู้และนวัตกรรมมาสร้างมูลค่าเพิ่มให้มหาวิทยาลัย เพื่อให้สามารถอยู่ได้ เนื่องจากในอนาคตการแข่งขันจะยิ่งสูง จากภาวะ Disruption ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว โลกจะกลายเป็นสังคมผู้สูงอายุ ในขณะที่ประชากรเด็กลดลงอย่างรวดเร็ว การใช้เทคโนโลยีแทนแรงงานคนทำให้ความต้องการแรงงานเปลี่ยนไปอย่างชัดเจน และอีก 4 – 5 ปี ภาวะ disrupt จะรุนแรงมากกว่านี้ มหาวิทยาลัยต้องปิดตัวอีก เพราะไม่มีเด็กเข้าเรียน
เป็นคำพยากรณ์ของ รมช.ศึกษาฯ และนักวิชาการที่วิเคราะห์เกาะติดสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมองว่าทางรอดของมหาวิทยาลัยคือ การจัดการศึกษาที่เน้นคุณภาพผู้เรียนมากกว่าปริมาณ ผลิตคนที่ตอบโจทย์ตลาดแรงงาน และจัดการศึกษาเพื่อให้คนทุกวัยได้เข้ามาเรียนรู้ตลอดชีวิต
อย่างเช่นโมเดล “เครดิตแบงก์” โดยเปิดโอกาสให้เรียนสะสมหน่วยกิต เช่น ให้นักศึกษาพักเรียนเพื่อออกไปทำงาน หาประสบการณ์ แล้วกลับมาเรียนใหม่ได้ โดยผลการเรียนยังคงอยู่ หรือการเปิดหลักสูตรระยะสั้นสำหรับคนทำงาน ซึ่งมหาวิทยาลัยรัฐและเอกชนบางแห่งเริ่มทำแล้ว เป็นกลยุทธ์การปรับตัวของมหาวิทยาลัยในภาวะวิกฤติ ก่อนที่มหาวิทยาลัยจะร้างคนเรียน
และที่น่าเป็นห่วงคือการ Lay off อาจารย์ ซึ่งเกิดขึ้นแล้ว
แม้ว่าไม่มีใครอยากให้เกิดก็ตาม…
บทความโดย: สิริลักษณ์ เล่า
ผู้สื่อข่าวอาวุโส เชี่ยวชาญด้านการศึกษา, อดีต บก.ฉบับพิเศษ บมจ.มติชน