เปิดที่มา “เถรวาท-มหายาน” แตกต่างกันอย่างไร

0
2529
กินอยู่เป็น_เปิดที่มา-เถรวาท-มหายาน-แตกต่างกันอย่างไร_web
kinyupen

ช่วงนี้เป็นช่วงวันอาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา กินอยู่เป็น 360องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอนำเสนอเรื่องราว “เถรวาท –  มหายาน” ย้อนดูที่มาที่ไป และความแตกต่างของสองนิกายนี้กัน

ปัจจุบันแหล่งข้อมูลต่างๆ มีการตีความที่มาของนิกายในพระพุทธศาสนาไว้อย่างน่าสนใจหลายแง่มุม และเนื่องในโอกาสอันดีในช่วงเทศกาลวันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษาที่จะถึงนี้ ทีมงานจึงขอนำเรื่องราวสนุกๆ อีกแง่มุมเกี่ยวกับ “เถรวาท –  มหายาน” มานำเสนอให้ทราบกัน

ย้อนกลับไป 2562 ปีก่อน หลังสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานแล้ว 90 วัน สาวกผู้ได้เคยสดับฟังคำสั่งสอนจำนวน 500 รูป ก็ประชุมทำสังคายนากัน ณ ถ้ำสัตบรรณคูหา ใกล้เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ ซึ่งหลังรวบรวมคำสอนอยู่ 7 เดือนก็จัดทำประมวลคำสอนสำเร็จเป็นครั้งแรก เรียกว่า ปฐมสังคายนา อันเป็นบ่อเกิดของพระไตรปิฎก ซึ่งคำสอนที่ลงมติไว้ในครั้งนั้นและนับถือสืบมาเรียกว่า เถรวาท แปลว่า คำสอนที่วางไว้เป็นหลักการโดยพระเถระ

อย่างไรก็ตาม ด้วยก่อนหน้าที่องตถาคตจะละสังขารได้ประทานปัจฉิมโอวาทแก่ภิกษุทั้งหลาย โดยตอนหนึ่งที่ตรัสกับพระอานนท์ว่า “หากมีข้อสิกขาใดก็ตามที่เป็นข้อสิกขาย่อยๆ หากมีการลดละอนุโลมได้ให้ช่วยกันอนุโลมเถิด” ทำให้เกิดปัญหาการตีความของหมู่ภิกษุสงฆ์ ว่า สิกขาบทไหนเรียกว่าเล็กน้อย เป็นเหตุให้ภิกษุบางรูปไม่เห็นด้วย และไม่ยอมรับสังคายนามาตั้งแต่ครั้งแรก เกิดการแยกตัวทำสังคายนาต่างหาก เกิดการแตกแยกทางความคิดในหมู่สงฆ์ ไม่ลงรอยกันในส่วนหลักธรรมและข้อวัตรปฏิบัติ

กาลเวลาล่วงเลยต่อมา เมื่อพระพุทธองค์ดับขันธ์ปรินิพพานได้ 100 ปี ภิกษุชาววัชชีปฏิบัติกิจย่อหย่อนทางพระวินัย และขอให้มีการปรับสิกขาบท อาทิ ควรฉันหลังเที่ยงได้ ฉันสุราอ่อนได้ รับเงินรับทองได้ เก็บรักษาอาหารได้ ดังนั้นพระยสกากัณฑบุตรจึงได้เชิญพระภิกษุชั้นผู้ใหญ่เอร่วมทำการสังคายนาขึ้น

แน่นอนว่าภิกษุชาววัชชีไม่ยอมรับและไม่เข้าร่วมการสังคายนานี้ แต่ไปรวบรวมภิกษุฝ่ายตนประชุมทำสังคายนาต่างหาก เรียกว่า มหาสังคีติ และเรียกพวกของตนว่า มหาสังฆิกะ

เวลานั้นพุทธศาสนาจึงแตกเป็น 2 ฝ่าย โดย ฝ่ายแรก นิกายเถรวาท ยืนกรานยึดคำสอนของพระเถระดั้งเดิมทั้งหมดโดยไม่มีการแก้สิกขาบท เพื่อไม่ให้เกิดความผิดพลาด คือ ฝ่ายที่สอง เป็นฝ่ายที่ขอให้มีการแก้สิกขาบท มีการตั้งเป็นก๊กเป็นค่าย แต่ละค่ายยึดตามมติพระอาจารย์ของตัวเอง ฝ่ายนี้เรียกว่า อาจาริยวาท  ซึ่งต่อมาแบ่งออกเป็นทั้งหมด 18 ค่ายอาจารย์ที่ล้วนมีทัศนะ อุดมคติ การตีความหลักธรรม และวัตรปฏิบัติที่แตกต่างกันตามหลักจริยวัตรของตน

เดิมทีในอดีตคนอินเดียจะนับถือนิกายเถรวาท โดยพระเจ้าแผ่นดินอินเดียผู้ทรงอุปถัมภ์พุทธศาสนานิกายเถรวาทเป็นอย่างมาก คือ พระเจ้าอโศกมหาราช โดยทรงเป็นเจ้าภาพในการจัดทำสังคายณาพระไตรปิฏกแบบเถรวาทในปี พ.ศ.234 จากนั้นทรงส่งพระภิกษุเถรวาทออกไปเผยแพร่คำสอนยังที่ต่างๆ 9 เส้นทาง

ส่วนนิกายมหายาน เดิมนั้นยังเรียกว่า อาจาริยวาท จนกระทั่งนิกายเถรวาทในอินเดียเริ่มถูกแทนที่ด้วยศาสนา ฮินดู ซิกส์ และอิสลาม จึงทำให้เถรวาท และ อาจาริยวาทในอินเดีย ต่างก็พยายามกลับมารวมตัวกันใหม่ เพื่อเรียกสาวกกลับคืน จึงมีการรวมตัวกันแล้วตั้งเป็นนิกายมหายานขึ้น เรียกว่ามหายานาบริสุทธิ์

นิกายมหายานโด่งดังขึ้นมาราวพุทธศตวรรษที่ 7 โดยพระเจ้านิษกะมหาราช แห่งราชวงศ์กุษาณะ พระองค์ทรงเลื่อมใสศรัทธาพระโพธิสัตว์ จึงเป็นมหาสาธารณูปถัมภกในพุทธศาสนานิกายมหายาน และได้ส่งพุทธศาสนานิกายมหายานออกไปตามสถานที่ต่างๆ

ล้อมกรอบ

  • มหายาน แปลว่า พาหนะลำใหญ่ ที่จะนำสรรพสัตว์ทั้งหลายเข้าสู่การหลุดพ้นได้ โดยมีความเชื่อว่า พระพุทธเจ้าได้สร้างพระโพธิสัตว์ขึ้นมามากมายเพื่อช่วยเหลือพระองค์ ดังนั้นหลักสำคัญของมหายาน คือ การช่วยซึ่งกันและกันให้หลุดพ้นไปพร้อมกัน ด้วยความสามัคคี
  • เถรวาท มีอีกชื่อเรียกว่า หินยาน แปลว่า พาหนะของคนใจแคบ ซึ่งเป็นการเยาะเย้ยเปรียบเปรย เพราะไม่มีการส่งต่อบุญใครทำดีได้ดีเอง ใครทำชั่วได้ชั่วเอง จึงเรียกว่าพวกใจแคบ
  • เถรวาทในประเทศไทยเราไม่เหมือนกับลังกา เพราะของลังกาจะไม่ค่อยมีเรื่องนรก สวรรค์ เน้นเรื่องอริยสัจ 4 ประการเป็นหลัก ส่วนเถรวาทของไทย จะถูกนำไปบวกกับลัทธินับถือผีดั้งเดิม จึงมีทั้งพุทธทั้งผีปะปนกัน
kinyupen