“การุณยฆาต” อีกหนึ่งทางเลือกของมนุษย์ที่ต้องการ “ตายอย่างสงบ”

0
1084
kinyupen

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต พาไปติดตามเรื่องราวของ “การุณยฆาต” การตัดสินใจครั้งสำคัญของชีวิตที่ต้องเลือกระหว่างการอยู่หรือจากไปอย่างสงบสุข เพื่อให้หลุดพ้นความทุกข์ทรมาน เรื่องนี้มาพร้อมกับข้อถกเถียงต่างๆ มากมาย ทั้งเรื่องข้อกฎหมายและศีลธรรม มีหลายคนที่ป่วยเข้ารับการรักษาจนแพทย์ไม่สามารถรักษาต่อได้ กระทั่งตัดสินใจขอการุณยฆาต อย่างล่าสุด หนุ่มไทยที่ป่วยเนื้องอกในสมอง ตัดสินใจเข้ารับการการุณยฆาตที่สวิตเซอร์แลนด์ เพราะไม่ต้องการยื้อชีวิตที่แสนทรมานอีกต่อไป อีกทั้งไม่อยากให้ครอบครัวเดือดร้อนเพราะตนเองอีกต่อไป

จึงเป็นที่พูดถึงกันว่า “การุณยฆาต” ทำไมถึงมีแค่ในบางประเทศเท่านั้น ประเทศไทยทำไมถึงไม่มี แล้วการการุณยฆาตต่างอะไรจากการฆ่าตัวตายหรือไม่ “กินอยู่เป็น” 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต จะพาไปทำความรู้ถึงที่มาที่ไปของ “การุณยฆาต” กัน

 

ทำความรู้จักกับ “การุณยฆาต”

“การุณยฆาต” มีรากศัพท์มาจากคำว่า euthanasia ซึ่งมีความหมายคือ การทำให้บุคคลหรือสิ่งมีชีวิตตายอย่างสงบ โดยไม่มีวิธีการที่รุนแรง ทุกข์ทรมาน หรือแสนสาหัส ทั้งนี้ เพื่อระงับความเจ็บปวดอย่างสาหัสของบุคคลนั้น หรือในกรณีที่บุคคลนั้นป่วยเป็นโรคอันไร้หนทางเยียวยา เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถตัดสินใจจากไปอย่างสงบอย่างมีศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์

“การุณยฆาต” แตกต่างจากการ “ฆ่าตัวตาย” ตรงที่ “การุณยฆาต” เป็นการตัดสินใจของผู้ป่วยอย่างมีสติ ต้องได้รับการประเมินอาการของคนไข้จากทั้งแพทย์และจิตแพทย์ว่าโรคร้ายนี้ไม่มีทางรักษา และไม่ควรยื้อชีวิตคนไข้ต่อไปอีก เพื่อให้รับความทุกข์ทรมานต่อไปอีก ส่วนการ “ฆ่าตัวตาย” เกิดจากความคิดเชิงลบชั่วขณะที่มีอาการเครียดจัดจนไม่อยากมีชีวิตอยู่ และทรมานร่างกายด้วยวิธีการต่างๆ อย่างโหดร้าย นอกจากนี้ อาการป่วยโรคซึมเศร้าแบบรุนแรงก็ส่งผลทำให้สารสื่อประสาทในสมองแปรปรวนจนคิดสั้นฆ่าตัวตายได้ ทั้งที่ความจริงไม่ได้อยากตายแต่อย่างใด

 

“การุณยฆาต” ใช้ในกรณีใดบ้าง

การุณยฆาต ใช้สำหรับผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาและทางการแพทย์ประเมินผลว่าไม่สามารถรักษาให้หายขาดต่อได้ ผู้ป่วยจึงต้องการจบชีวิตลงอย่างสงบ เพื่อที่จะได้ไม่อยู่อย่างทรมานอีกต่อไป ปัจจุบันการการุณฆาตมี 2 รูปแบบ ได้แก่ 1. Active Euthanasia คือ การเตรียมเครื่องมือฉีดยาให้คนไข้จากไปอย่างสงบด้วยตัวเอง หรืออาจจะมีคนช่วยเหลือ ซึ่งยังไม่เป็นที่ถูกกฎหมายในหลายประเทศ และ 2. Passive Euthanasia คือ การหยุดรักษาตามความต้องการของญาติหรือผู้ป่วย และปล่อยให้ผู้ป่วยค่อย ๆ จากไปอย่างสงบ

 

ประเทศใดบ้างที่อนุญาติใช้ “การุณยฆาต”

เหตุผลสนับสนุนของการการุณยฆาตคือ ทุกคนมีสิทธิ์และทางเลือกที่จะตัดสินใจชะตากรรมในชีวิตของตัวเอง เป็นการช่วยให้ผู้ป่วยหลุดพ้นจากทุกข์ได้ และไม่ต้องเป็นภาระของผู้อื่นรวมถึงคนรอบข้าง ปัจจุบัน ประเทศที่อนุญาตให้มีการการุณยฆาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย มี 10 ประเทศ ได้แก่

เนเธอร์แลนด์ : มีการประกาศใช้การุณยฆาตครั้งแรกในปี 2545 ถือเป็นประเทศแรกในโลกที่มีการทำการุณยฆาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยอนุญาตให้มีการทำการุณฆาตเฉพาะผู้ป่วยที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป ป่วยระยะสุดท้ายที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากอาการป่วย และผู้ป่วยต้องมีสติสัมปชัญญะในการขอร้องแพทย์ให้มีการทำการุณยฆาต

เบลเยียม : ประกาศใช้การุณยฆาตอย่างถูกกฎหมายตั้งแต่เดือนกันยายน 2545 กฎหมายระบุว่า การทำการุณฆาตต้องกระทำโดยวิธีผู้ป่วยกระทำด้วยตัวเองเท่านั้น และต้องได้รับการวินิจฉัยจากแพทย์และผู้เชี่ยวชาญตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปเพื่อหาวิธีที่ดีที่สุดในการยุติชีวิตของผู้ป่วย

สวิตเซอร์แลนด์ : เป็นประเทศที่มีผู้ป่วยต่างประเทศเดินทางเข้ารับการทำารุณยฆาตเป็นจำนวนมาก เพราะมีกฎหมายอนุญาตให้ผู้ป่วยยุติชีวิตด้วยวิธีแบบเชิงรุก ตั้งแต่ปี 2485 มีสถาบันด้านการทำการุณยฆาตสำหรับผู้ป่วยต่างชาติ คือ Dignitas Suicide Clinic ซึ่งเป็นสถาบันแห่งเดียวในโลกที่มีการทำการุณยฆาต มีบุคคลสำคัญหลายคนตัดสินใจเดินทางมาจบชีวิต ณ ที่แห่งนี้

ออสเตรเลีย : ในอดีตเคยมีการประกาศกฎหมาย Rights of the Terminally Ill Act 1995 และมีผลบังคับใช้ในเมื่อวันที่ 1 ก.ค. 2539 ในรัฐนอร์เทิร์น เทร์ริทอรี แต่ต่อมาก็ถูกยกเลิก ล่าสุดเมื่อปลายปี 2560 ประเทศออสเตรเลียเพิ่งมีประกาศใช้กฎหมายภายในรัฐวิกตอเรีย Voluntary Assisted Dying Act 2017 จะมีผลบังคับใช้ในเดือน มิ.ย.นี้ โดยอนุญาตให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่คาดว่าจะเสียชีวิตภายใน 6 เดือนเท่านั้น นายเดวิด กู๊ดดอล ซึ่งเป็นพลเมืองของออสเตรเลียจึงตัดสินใจเดินทางไปจบชีวิตอย่างสงบที่สวิตเซอร์แลนด์

แคนาดา : จัสติน พีเอร์ เจมส์ ทรูโด นายกรัฐมนตรีของแคนาดา ผลักดันร่างกฎหมายการุณยฆาต โดยอนุญาตให้เฉพาะผู้ป่วยระยะสุดท้ายและไม่มีอาการป่วยทางจิตเท่านั้น ซึ่งผู้ป่วยที่ประสงค์จะต้องเขียนคำร้องอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร พร้อมพยาน 2 คน ทั้งนี้ เพื่อป้องกันชาวต่างชาติที่ต้องการเดินทางมาทำการุณยฆาตในประเทศ

โคลอมเบีย : ศาลรัฐธรรมนูญโคลอมเบียประกาศใช้กฎหมายอนุญาตการทำการุณยฆาตเมื่อปี 2553 อนุญาตเฉพาะผู้ป่วยในกลุ่มโรคเอดส์ ไตวายล้มเหลวจากมะเร็งตับ และภาวะของโรคที่ทำให้ผู้ป่วยทรมาน โดยจำกัดความว่าเป็นผู้ป่วยหนัก ทั้งนี้ กฎหมายดังกล่าวไม่อนุญาตในกลุ่มโรคความเสื่อม โรคอัลไซเมอร์ และโรคพาร์กินสัน ทำการุณยฆาต

สหรัฐอเมริกา : เพิ่งประกาศใช้เมื่อปี 2559 มีการประกาศใช้ใน 5 รัฐ เท่านั้น ได้แก่ รัฐโอเรกอน รัฐวอชิงตัน รัฐมอนตานา รัฐนิวเม็กซิโก รัฐเวอร์มอนต์ และรัฐแคลิฟอร์เนีย โดยมีการการุณยฆาตในรูปแบบเชิงรับ (Passive Euthanasia) อนุญาตให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายที่คาดว่าจะมีชีวิตไม่เกิน 6 เดือน ได้จบชีวิตด้วยตนเอง ภายได้การช่วยเหลือจากทีมแพทย์ในการเตรียมยาและอุปกรณ์ให้

เยอรมนี : มีกฎหมายคล้ายคลึงกับสวิตเซอร์แลนด์ อนุญาตให้ผู้ป่วยการุณยฆาตในการยุติชีวิตด้วยตัวเองเท่านั้น แต่การทำการุณยฆาตโดยมีทีมช่วยเหลือยังเป็นสิ่งผิดกฎหมาย

ญี่ปุ่น : มีกฎหมายการุณยฆาต ทั้งเชิงรุก (Active Euthanasia) และเชิงรับ (Passive Euthanasia) อนุญาตเฉพาะผู้ป่วยระยะสุดท้ายเท่านั้น และต้องได้รับการจากครอบครัวและยืนยันจากแพทย์ว่าไม่มีวิธีรักษา

อินเดีย : ศาลฎีกาแห่งอินเดียอนุมัติกฎหมายการการุณยฆาตในเชิงรับ (Passive Euthanasia) ในปี พ. ศ. 2554 อนุญาตให้ทีมแพทย์ยุติการรักษาแก่ผู้ป่วยผู้ป่วยระยะสุดท้ายเท่านั้น ส่วนวิธีแบบเชิงรุก(Active Euthanasia) ยังผิดกฏหมายในอินเดีย

 

แล้วทำไมในไทยถึงยังไม่มี “การุณยฆาต”

ขณะที่ประเทศไทย การการุณยฆาตในรูปแบบ Active Euthanasia หรือ การช่วยให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบ ยังไม่ได้รับอนุญาตหรืออนุมัติร่างตามกฎหมาย มีเพียงแบบ Passive Euthanasia คือการปล่อยให้ผู้ป่วยตายอย่างสงบ โดยแพทย์จะยกเลิกหรือไม่สั่งการรักษาที่จะยืดชีวิตผู้ป่วยต่อไป แล้วปล่อยให้ผู้ป่วยจากไปอย่างสงบ โดยไม่อนุญาตให้ใช้การฉีดสารเร่งให้ผู้ป่วยเสียชีวิต ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายในข้อหาฆ่าผู้อื่นโดยเจตนา

ตามพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 12 ระบุว่า “บุคคลมีสิทธิทำหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข ที่เป็นไปเพียงเพื่อยืดการตายในวาระสุดท้ายของชีวิตตน หรือเพื่อยุติการทรมานจากการเจ็บป่วยได้ เมื่อผู้ประกอบวิชาชีพด้านสาธารณสุขได้ปฏิบัติตามเจตนา ของบุคคลตามวรรคหนึ่งแล้ว มิให้ถือว่าการกระทำนั้นเป็นความผิดและให้พ้นจากความรับผิดทั้งปวง” อธิบายคือ เป็นการแสดงเจตนาของบุคคลเพื่อที่จะกำหนดวิธีการดูแลรักษาของผู้ป่วยในวาระสุดท้ายของชีวิต เป็นการรับรองสิทธิของผู้ป่วยที่จะตัดสินใจเกี่ยวกับตนเองที่จะขอตายอย่างสงบตามธรรมชาติ ไม่ถูกเหนี่ยวรั้งด้วยเครื่องมือต่างๆ จากเทคโนโลยี

จึงทำให้การการุณยฆาตในประเทศไทย เป็นการแสดงความประสงค์ที่จะไม่รับการรักษาต่ออีกต่อไป คณะแพทย์จึงทำได้มากสุดคือการดูแลผู้ป่วยแบบประคับประคอง ร่วมมือกันระหว่างแพทย์ ผู้ป่วย และญาติ เพื่อให้วาระสุดท้ายในชีวิตของผู้ป่วยสิ้นสุดลงด้วยดี

 

สุดท้าย การุณยฆาตไม่ได้เป็นการฆ่าตัวตาย แต่ขึ้นอยู่กับตัวบุคคลที่อยู่ในภาวะของผู้ป่วยและไม่สามารถทำการรักษาต่อได้ว่าจะตัดสินใจอย่างไรดี อยากที่จะมีชีวิตต่อไปเพื่อความสุขของคนรอบข้าง หรือจะจากไปเพื่อไม่ให้เป็นภาระของคนรอบข้าง? และนี่คือหนึ่งในวิถีแห่ง กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต

kinyupen