นักวิชาการเผยการที่มนุษย์พออายุขึ้นเลข 3 แต่ยังไม่มีแฟน ยังไม่แต่งงาน ยังอยู่บนคาน ไม่ใช่เรื่องแปลกอีกต่อไป เนื่องจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ทำให้ฐานคิดของการมีความรักและการมีชีวิตคู่เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนอย่างสิ้นเชิง
พออายุขึ้นเลข 3 ความเป็นวัยรุ่นเริ่มหายไป ความแก่เริ่มค่อย ๆ คืบคลานเข้ามา ช่วงอายุนี้ส่วนใหญ่หลายคนอาจจะมีอะไรเข้ามาในชีวิตแล้ว ทั้งหน้าที่การงาน การเงิน การศึกษาที่สูงขึ้น รวมไปถึงคนรัก แต่บางคนก็ยังขาดบางสิ่งบางอย่างไป โดยเฉพาะ “คนรัก” หลายคนเริ่มแต่งานกันในช่วงอายุประมาณ 23-28 ปี บางคนอายุเข้าเลข 3 แล้ว ก็ยังไม่ได้แต่งงานสักที โชคร้ายไปกว่านั้นคือยังไม่มีคนรู้ใจเลย ยังไม่มีใครมาจีบแม้แต่นิดเดียว
บางส่วนรู้สึกผิดอย่างมหันต์ ที่อายุเข้าเลข 3 แล้ว แต่ก็ยังไม่มีคู่ครองสักที ในขณะที่บางคนแต่งงานจนมีเบบี๋ตัวน้อยกันไปแล้ว ภาวะแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแปลก แต่คุณอาจจะอยู่ในภาวะ Waithood หรือ ปรากฏการณ์การรอ อาจจะมีผลมาจากสภาวะเศรษฐกิจและสังคมที่เปลี่ยนแปลงไป
วันนี้ ทีมงานกินอยู่เป็น 360องศาแห่งการใช้ชีวิต จึงขอนำเสนอบทความของ ไดแอน ซิงเกอร์แมน นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ของมหาวิทยาลัยอเมริกัน กรุงวอชิงตันดีซี ซึ่งอธิบายปรากฏการณ์นี้ไว้อย่างน่าสนใจว่า ปรากฎการณ์ดังกล่าวไม่เรื่องแปลก เพราะปรากฎการณ์นี้คือการที่ความคิดเรื่องการงาน ความสำเร็จ หรือปัจจัยอื่น ๆ ที่เข้ามาในวัฒนธรรมโลก ทำให้ฐานคิดของการมีความรักและการมีชีวิตคู่เปลี่ยนไปจากเมื่อก่อนอย่างสิ้นเชิง โดยได้ศึกษากลุ่มวัยรุ่นชาวตะวันออกกลาง ผลการศึกษาพบว่า ภาวะดังกล่าวเกี่ยวข้องกับเพศสภาวะและเศรษฐกิจ อธิบายคือ การแต่งงานเป็นเรื่องที่แพงเกินไป แต่จะมีบุตรเลยก่อนแต่งงานสังคมก็จะไม่ยอมรับ ฉะนั้น จึงตัดสินใจชะลอการแต่งงานออกไปก่อน
นอกจากนี้ การที่มีอัตราว่างงานสูงและค่าแรงต่ำ ส่งผลให้ผู้ชายส่วนใหญ่ไม่กล้ามีความสัมพันธ์ ประเทศที่สังคมคาดหวังให้ฝ่ายชายจ่ายค่าสินสอดและลงทุนสร้างครอบครัวจะเป็นหนักหน่อย ขณะที่ประเทศที่การแต่งงานไม่ต้องลงทุนอะไรมากมายอย่างกรีซ สเปน และฝรั่งเศส ก็มีปัญหาจากการนิยามความเป็นผู้ใหญ่ของสังคม เช่น ถ้าไม่มีบ้านเป็นของตัวเอง ก็จะไม่กล้าแต่งงาน
สำหรับภาวะปรากฏการณ์การรอนั้น มีงานวิจัยหลายชิ้นศึกษาว่า เพราะอะไรคนเราถึงแต่งงานกันช้าลง ขณะเดียวกัน ผู้หญิงได้รับแรงกดดันมากว่าผู้ชาย เนื่องจากผู้ชายสามารถเป็นพ่อในอายุเท่าไหร่ก็ได้ แต่สำหรับผู้หญิงนั้น เมื่อเวลาล่วงเลยไป ก็จะเป็นแม่ได้ยากขึ้น ยากต่อการมีบุตรในช่วงอายุมาก ๆ นอกจากนี้ปัญหาการหาคู่ครองอีกปัญหาหนึ่งมาจากแนวคิด “ความเป็นชายแบบเก่า” ที่ต้องสามารถหาเลี้ยงครอบครัวได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง ผู้หญิงควรแต่งงานกับผู้ชายที่ประสบความสำเร็จมากกว่าตัวเอง
นอกจากนี้ การใช้แอปพลิเคชันหาคู่อาจเป็นทางเลือกหนึ่งในการแก้ไขปัญหา แต่ปัญหาดังกล่าวจะแก้ไขได้อย่างยั่งยืนด้วยการเปลี่ยนความคิดเรื่องบทบาททางเพศ นักวิชาการมองว่า หากสังคมยอมรับว่าผู้หญิงสามารถเป็นเสาหลักของครอบครัวได้ ผู้หญิงโสดหลาย ๆ คนก็ไม่จำเป็นต้องมองหาผู้ชายอายุรุ่นราวคราวเดียวกันอีกต่อไป ผู้หญิงอาจแต่งงานกับชายอายุน้อยกว่าหรือประสบความสำเร็จน้อยกว่าได้โดยไม่ต้องอายใคร
สุดท้าย ภาวะปรากฏการณ์การรอก็อาจไม่ใช่ปัญหาของการหาคู่ครองหรือการแต่งงานช้าก็อาจไม่ใช่ปัญหาได้ด้วยการให้การยอมรับความสัมพันธ์แบบอื่น เช่น การอยู่ร่วมกันเฉย ๆ โดยไม่ต้องเดินตามกรอบของสังคมที่ต้องแต่งงานแล้วจึงมีลูกได้ หรือการที่สังคมเปลี่ยนมายอมรับให้มีพ่อเลี้ยงแม่เลี้ยงเดี่ยวได้ ก็จะทำให้สังคมยังคงมีเด็กเกิดสม่ำเสมอโดยไม่ต้องสนใจปัญหาการแต่งงาน
ทีมงานกินอยู่เป็น 360องศาแห่งการใช้ชีวิต