องค์การนาซาเตรียมหาวิธีการส่งมนุษย์ไปเหยียบดาวอังคารภายในอีก 25 ปีข้างหน้า เล็งส่งยานสำรวจสภาพแวดล้อมและค้นหาสัญญาณสิ่งมีชีวิตในปี 2020
หลายคนมีความใฝ่ฝันว่าสักครั้งหนึ่งในชีวิตอยากจะไปเหยียบดาวอังคารสักครั้งหนึ่งก่อนตาย แต่คงได้แค่ฝันลม ๆ แล้ง ๆ เพราะในความเป็นจริงแล้ว การจะเดินทางไปดาวอังคารในชีวิตจริงเป็นได้ยาก ค่าใช้จ่ายสูง ล่าสุด ความฝันของใครหลาย ๆ คนกำลังจะเป็นความจริง เพราะเร็ว ๆ นี้ มนุษย์จะได้มีโอกาสไปเหยียบดาวอังคารแล้ว
กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต พาไปติดตามเรื่องราวจากสำนักข่าวต่างประเทศ รายงานว่า องค์การบริหารการบินและอวกาศของสหรัฐฯ หรือ NASA ประกาศว่า จะใช้เวลาราว 25 ปีในการเร่งหาวิธีเพื่อที่จะสามารถส่งมนุษย์ไปเหยียบดาวอังคารได้ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย ๆ เพราะอุปสรรคด้านเทคโนโลยีและด้านการแพทย์ อย่างรังสีจากอวกาศ อาจส่งผลเสียทำให้มนุษย์ตาบอด กระดูกเสื่อม หรือถึงเสียชีวิตได้ ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่นักวิทยาศาสตร์จะต้องเร่งหาทางออกให้กับอุปสรรคดังกล่าว
ทั้งนี้ เนื่องจากดาวอังคารอยู่ห่างจากโลก 225 ล้านกิโลเมตร นักบินอวกาศต้องใช้เวลาเดินทางถึง 9 เดือนเพื่อไปถึงดาวอังคาร และ 9 เดือนในภาวะไร้แรงโน้มถ่วงก็เป็นภาวะที่จะกระทบต่อสุขภาพของนักบิน ด้วยความกังวลว่าจะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงกับหลอดเลือดที่จอตา ทำให้ตาเสื่อม และทำให้กระดูกอ่อนแอจนกลายเป็นโรคกระดูกพรุนในที่สุด
กระทั่งล่าสุด เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นาซ่าได้ส่งยานสำรวจชื่อ อินไซท์ (InSight) ออกเดินทางไปยังดาวอังคาร คาดว่าจะลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารได้วันที่ 26 พ.ย. นี้ โดยภารกิจหลักคือการสำรวจด้านวิวัฒนาการทางธรณีวิทยา นอกจากนี้ นาซายังมีแผนจะส่งหุ่นยนต์สำรวจที่ชื่อว่า Science Rover ไปดาวอังคารในปี 2020 เพื่อสำรวจสภาพแวดล้อม ค้นหาสัญญาณของสิ่งมีชีวิต ประเมินทรัพยากรธรรมชาติของดาว และประเมินภาวะอันตรายที่อาจเกิดขึ้นกับมนุษย์หากส่งไปเหยียบดาวอังคาร
ก่อนหน้านี้ มีงานวิจัยพบว่า บนดาวอังคารหลักฐานที่บ่งชี้ว่ามีทะเลสาบขนาดใหญ่อยู่ใต้ผืนน้ำแข็งบริเวณขั้วใต้เป็นครั้งแรก และยังขุดพบสารอินทรีย์ ซึ่งเป็นสารประกอบไฮโดรคาร์บอนที่มีความซับซ้อน จากใต้พื้นผิวดาวอังคาร บริเวณแอ่งขนาดใหญ่ที่เคยเป็นทะเลสาบมาก่อนอีกด้วย และนี่คือหนึ่งในวิถีแห่ง กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต