รู้ไหมว่า คนที่มีพฤติกรรมบูลลี่ (Bully) หรือการกลั่นแกล้ง-รังแกผู้อื่น จริงๆ แล้ว เขาเผชิญอะไรในจิตใจอยู่ หรือ มีปมด้อยอะไรในใจ จึงต้องเติบโตมาในสภาพแบบนี้
กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต พาไปติดตามเรื่องราวของพฤติกรรมบูลลี่ (Bully) หรือการกลั่นแกล้ง-รังแกผู้อื่น ตั้งแต่เกิดมา “คุณเคยมีพฤติกรรมบูลลี่ (Bully) หรือการกลั่นแกล้ง-รังแกผู้อื่น หรือไม่?” ถ้าไม่เคย งั้นถามกลับกัน “คุณล่ะ เคยถูกบูลลี่ (Bully) จากคนรอบข้างหรือไม่?” แล้วรู้สึกอย่างไรเมื่อเป็นผู้ถูกกระทำ เจ็บใช่ไหม? เสียใจใช่ไหม? แต่สุดท้ายก็ต้องอดทน แต่ก็อดสงสัยไม่ได้ว่า คนที่บูลลี่เขาทำไปเพื่ออะไร? เพื่อความสนุกสนาน ความสะใจ หรือขาดความอบอุ่น พ่อแม่ไม่รัก หรือว่าจริงๆ แล้ว มีเหตุผลอื่นที่ลึกลับซับซ้อนที่เราต้องค้นหา
เคยเกิดเหตุการณ์เกี่ยวกับการบูลลี่เกิดขึ้นในบ้านเรา กับกรณีกลุ่มเด็กนักเรียนหญิงชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 กลั่นแกล้งเด็กนักเรียนหญิงชั้นประถมศึกษาชั้นปีที่ 4 ซึ่งเป็นเด็กพิเศษ โดยใช้ความรุนแรง จนกระทั่งมีคลิปเผยแพร่ออกมาในสื่อสังคมออนไลน์ และก็เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันอย่างหนาหู ด้านผู้ปกครองของเด็กนักเรียนหญิงชั้น ป.4 พอทราบเรื่องก็ถึงกับควันออกหู เดินหน้าเอาเรื่องเด็กนักเรียนหญิงชั้น ม.2 ให้ถึงที่สุด
พฤติกรรมการกลั่นแกล้ง-รังแกผู้อื่น หรือบูลลี่ (Bully) เราพบเห็นได้บ่อยมาก โดยเฉพาะในโรงเรียนหรือสถานศึกษา ส่วนใหญ่พบมากในกลุ่มเด็กและวัยรุ่น เพราะผลการสำรวจขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OCED) ที่สำรวจกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นเด็กนักเรียนอายุ 15 ปี จำนวน 540,000 คน พบว่า มีกลุ่มตัวอย่าง 11% ถูกเพื่อนนักเรียนกลั่นแกล้งเป็นประจำอย่างน้อยสัปดาห์ละ 2-3 ครั้ง ขณะเดียวกัน อีก 4% ถูกรังแกด้วยการทำร้ายร่างกายจนได้รับบาดเจ็บ
ส่วนผู้ที่ถูกบูลลี่มากที่สุดพบว่า เป็นนักเรียนหญิงซึ่งถูกรังแกมากกว่านักเรียนชาย นอกจากนี้ กลุ่มเด็กที่เพิ่งย้ายโรงเรียนเข้ามาใหม่ และ กลุ่มเด็กนักเรียนที่มีข้อบกพร่อง จะตกเป็นเหยื่อของกลุ่มนักเรียนที่ชอบการบูลลี่ รายงานระบุว่าเด็กที่ได้รับการเลี้ยงดูจากครอบครัวเป็นอย่างดีจะมีแนวโน้มถูกบูลลี่น้อยกว่าเด็กที่ไม่ได้รับการดูแล ในทางกลับกันเด็กที่ชอบบูลลี่ผู้อื่นส่วนใหญ่จะเติบโตมาจากครอบครัวที่เลี้ยงดูไม่ดี หรือเลี้ยงดูแบบทิ้งขว้าง ไม่เอาใจใส่ จนทำให้เกิดพฤติกรรมบูลลี่ต่อผู้อื่นขึ้น
รังแกฉันทำไม?
รู้หรือไม่? จิตใจของเด็กที่ชอบบูลลี่ผู้อื่น พวกเขาเผชิญกับอะไรมาบ้าง มีปมด้อยอะไรในจิตใจ จึงต้องเติบโตมาแบบนี้ ไม่ใช้แค่เพียงครอบครัวที่ไม่ดูแลเอาใจใส่เท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องอีกด้วย
เคยถูกกลั่นแกล้ง : เด็กที่เติบโตมาด้วยพฤติกรรมบูลลี่ผู้อื่นนั้น ส่วนใหญ่เคยถูกรังแกหรือกลั่นแกล้งจากกลุ่มเพื่อนหรือคนรอบข้างที่บูลลี่มาก่อน จนทำให้เขารู้สึกเก็บกดและต้องระบายความแค้นนี้ออกมาสู่ผู้อื่น
โดดเดี่ยวเดียวดาย : เขาอาจจะไม่ได้รับการเลี้ยงดูหรือใส่ใจมามากพอ ทำให้เขาต้องมีความรู้สึกโดดเดี่ยวเดียวดาย จนกระทั่งมีพฤติกรรมบูลลี่ขึ้น เพื่อเรียกร้องความสนใจและแสดงให้ผู้อื่นได้เห็นว่า เขาเป็นผู้มีอำนาจ มีพลังพิเศษเหนือกว่าใคร
ให้คะแนนความพึงพอใจในตนเองอยู่ในเกณฑ์ต่ำ : ตัวของเขาคิดอยู่เสมอว่าเขาไม่มีความเฉลียวฉลาดพอ หน้าตาขี้เหร่ ไม่ร่ำรวย จนทำให้เขาพยายามมองหาวิธีที่ทำให้ตนเองรู้สึกดีกว่าผู้อื่น และต้องการกดขี่ข่มเหงให้ผู้อื่นต้อยต่ำกว่าตน
มีอีโก้สูง : การที่เขามีพฤติกรรมบูลลี่ผู้อื่น เขามีความมั่นใจมากว่าสิ่งที่เขาทำนั้นถูกต้อง ดีที่สุด และความอีโก้สูงของเขานั้นจะเปลี่ยนไปเป็นความโกรธแค้น อิจฉา ริษยา เมื่อมีผู้ใจกล้ามาท้าทายหรือทำให้เห็นว่าเขาไม่ได้ถูกต้องไปทั้งหมด
ความแตกต่าง : การบูลลี่อาจจะมาจากเหตุผลง่ายๆ เพียงเพราะ “ความแตกต่าง” ไม่ว่าจะเป็นเพศ , อายุ , อาชีพ , เชื้อชาติ , สีผิว , ความพิการ สุดท้าย “ความแตกต่าง” ของคนเหล่านี้จะถูกหยิบมาเป็นข้อล้อเลียน จนนำไปสู่การบูลลี่อย่างสะใจ
ทราบแล้วเปลี่ยน
เมื่อทราบว่าเด็กคนนั้นมีพฤติกรรมการบูลลี่ผู้อื่น ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ หรือไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดๆ ก็ตาม วิธีแก้ปัญหาของคุณคืออะไร? “ลงโทษ” ลงโทษเด็กเหล่านี้อย่างไร เฆี่ยน ตี ดุ ด่า ทำร้ายร่างกาย นี่ใช่วิธีแก้ไขปัญหาที่ถูกต้องแล้วหรือ? แล้วคุณคิดว่าการ “ลงโทษ” จะช่วยลดพฤติกรรมการบูลลี่ของเด็ก หรือช่วยเพิ่มให้เด็กมีพฤติกรรมบูลลี่ผู้อื่นมากยิ่งขึ้นกันแน่
“จับเข่าคุย” เป็นหนึ่งในวิธีที่สำคัญที่สุด ที่จะช่วยจัดการเด็กที่มีพฤติกรรมบูลลี่ได้ ใช้ความเมตตาและความอ่อนโยนเป็นเครื่องมือในการช่วยลดพฤติกรรมความรุนแรงนี้ ซึ่งข้อนี้ นักจิตวิทยามองว่าเป็นเรื่องสำคัญที่ควรใช้ความอ่อนโยนในการสร้างความเข้าใจให้แก่เด็ก พูดคุยกับเขา ให้เขาเห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง โอกาสและเวลาพวกเขาในการปรับตัว เพื่อที่พวกเขาจะได้เป็นผู้ใหญ่ที่สมบูรณ์แบบในอนาคตต่อไป และนี่คือหนึ่งในวิถีแห่ง กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต
ขอขอบคุณข้อมูลประกอบจาก :
Bullying: Protection for children is a ‘fundamental human right’ says top UN advocate
Bullies on Bullying: Why We Do It
The Mind Behind the Bully: The Psychology of Bullying