“กินอยู่เป็น” จึงได้รวบรวม 7 สัญญาณอันตรายที่เตือนว่า ถ้าคุณมีพฤติกรรมดังกล่าว คุณอาจจะมีเปอร์เซนต์ที่กำลังจะเผชิญ “โรคไบโพลาร์”
เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา กรณีข่าวของนักร้องชื่อดัง “เสก โลโซ” ได้ทำการเฟซบุ๊กไลฟ์ถ่ายทอดสดมาราธอนแบบข้ามวันข้ามคืน จนทำให้คนในครอบครัวและเหล่าบรรดาแฟนคลับก็อดเป็นห่วงคุณเสกไม่ได้ จึงต้องนำตัวคุณเสกเข้ารับการรักษาตัวที่โรงพยาบาล เพราะสันนิษฐานว่าคุณเสกอาจจะเป็นไบโรคไบโพลาร์ จนทำให้ในปัจจุบันสังคมไทยเราเองมองไปว่า ถ้าใครมีพฤติกรรมที่ผิดปกติ แปลกๆ ก็จะถูกมองว่าเป็นไบโพลาร์ไปซะแล้ว
สำหรับโรคไบโพลาร์ (Bipolar disorder) เป็นโรคความผิดปกติทางอารมณ์ที่มีผลต่อประชากรระหว่าง 1-4.3 เปอร์เซ็นต์ของสหรัฐอเมริกา มักจะแสดงออกมาเป็นช่วงที่มีอารมณ์คลุ้มคลั่ง (ภาวะแมเนีย) สลับกับช่วงอารมณ์ซึมเศร้า ซึ่งผลการวิจัยพบว่าอาการของไบโพลาร์มักจะเริ่มมีในเด็กและวัยรุ่นได้ถึง 1.8 % วันนี้ “กินอยู่เป็น” จึงได้รวบรวม 7 สัญญาณอันตรายที่จะมาเตือนว่า ถ้าคุณมีพฤติกรรมตาม 7 ข้อที่กล่าวมานั้น นั่นหมายความว่า คุณมีเปอร์เซนต์ที่กำลังจะเผชิญโรคไบโพลาร์อยู่
1. มีความ “เยอะ” พูดเยอะ คิดเยอะ มั่นใจเยอะ
อาการประเภทนี้มีลักษณะที่แสดงออกถึงความมั่นใจในตนเองมากจนเกินไป แสดงความโอ้อวด พูดมาก พูดไม่หยุด เนื่องจากการทำงานของสมองกำลังเกิดการปั่นป่วน จึงส่งผลต่อการกระทำที่แสดงออกมา
2. นอนน้อย ไม่รู้สึกอ่อนเพลีย
ลักษระของอาการนี้ ผู้ป่วยจะมีความต้องการในการนอนหลับพักผ่อนน้อยลง แต่ในวันรุ่งขึ้นจะไม่ได้รู้สึกว่าตนเองมีอาการเหนื่อยหรืออ่อนเพลียแต่อย่างใด เพราะในุมมองของผู้ป่วยเข้าใจว่าพฤติกรรมการนอนน้อยของเขาเป็นเรื่องปกติสำหรับเขาไปเสียแล้ว
3. พูดเร็วจนฟังไม่ทัน
คนที่มีอาการนี้จะเข้าใจว่าตนเองมีอะไรที่ต้องคิดหลายๆ อย่างในเวลาเดียว ทำให้ผู้ป่วยมีการพูดและคิดที่ค่อนข้างรวดเร็ว และไม่มีอาการที่แสดงความเหน็ดเหนื่อยในการพูดการจา ทำให้ผู้ฟังรู้สึกว่าตนเองฟังไม่รู้เรื่อง
4. ไร้สมาธิ
ผู้ป่วยจะมีจิตใจที่วุ่นวาย เนื่องจากมีการที่ต้องทำอะไรหลายๆ อย่างพร้อมๆ กัน ทำให้ไม่มีสมาธิในการทำสิ่งหนึ่งสิ่งใด มีความกระสับกระส่ายอยู่ตลอด
5. มีพฤติกรรมที่สุ่มเสี่ยง
ผู้ป่วยจะมีอาการแผลงๆ แปลกๆ อาทิ การใช้เงินฟุ่มเฟือยผิดปกติ มีพฤติกรรมหวาดระแวง แสดงอาการกระสับกระส่ายทางกาย มีความต้องการทางเพศสูงขึ้น รู้สึกว่าตนเองไร้ค่า ไร้ความหมาย ฯลฯ ซึ่งอาจจะเกิดขึ้นด้วยความตั้งใจหรือไม่ตั้งใจของผู้ป่วยเอง
6. มีอารมณ์หงุดหงิด-ฉุนเฉียวง่าย
ผู้ป่วยจะแสดงอาการไม่พอใจ เนื่องจากมีความอดทนที่อยู่ในระดับต่ำ อย่างเช่นปัญหาเรื่องเล็กๆ ก็อาจจะทำให้ผู้ป่วยเกิดอารมณ์หงุดหงิด แปรปรวน และแสดงออกทางพฤติกรรมในทางไม่เหมาะสม ถึงขั้นชวนทะเลาะและมีปากเสียงกับคนรอบข้างได้
7. มีความคิดหมกมุ่นเรื่องความตายและการฆ่าตัวตาย
ผู้ป่วยจะมีอาการที่อยู่ในวะซึมเศร้า เครียด หมดหวังในการดำเนินชีวิต ไม่อยากมีชีวิตอยู่ต่อ และจะชอบคิดถึงเรื่องของความตายและวิธีในการฆ่าตัวตายอยู่ตลอด ซึ่งถือได้ว่าค่อนข้างอันตราย เพราะผู้ป่วยไบโพลาร์จะประพฤติสิ่งที่ไม่คาดฝันขึ้น โดยเฉพาะการฆ่าตัวตาย ฉะนั้น คนรอบข้างสำคัญอย่างยิ่งที่จะต้องดูแลและให้กำลังใจอย่างใกล้ชิด
หากคุณพบว่าตัวคุณเองหรือคนรอบข้างของคุณเริ่มมีพฤติกรรมตามที่กล่าวไป 7 ข้อแล้วนั้น ควรรีบทำการรักษาในทันที โดยเข้าพบจิตแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยอาการและหาสาเหตุเบื้องต้น และควรรับประทานตามที่คุณหมอแนะนำ อย่าหยุดยาด้วยตนเองหรือลืมการทานยา เพราะอาจจะส่งผลกระทบต่อการรักษาและทำให้กลับมามีอาการแบบเดิมอีกครั้ง