แพทย์ห่วงใยผู้ป่วยกล้ามเนื้อใบหน้าพิการ จัดตั้ง Facial Clinic พร้อมทีมสหวิชาชีพดูแลผู้ป่วย

0
403
kinyupen

สถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์  จัดตั้งคลินิกผู้ป่วยใบหน้า (Facial Clinic) ดูแลผู้ป่วยกล้ามเนื้อใบหน้าพิการ แก้ปัญหารูปลักษณ์ภายนอกและภายในจิตใจ เพื่อให้เกิดความมั่นใจในการเข้าสังคมและทำงานได้ตามปกติ

นายแพทย์ภาสกร ชัยวานิชศิริ รองอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ผู้ป่วยที่มีใบหน้าเบี้ยวผิดรูป ส่วนใหญ่เกิดจากปัญหาเส้นประสาทควบคุมการทำงานกล้ามเนื้อใบหน้าพิการ โดยอาจเกิดขึ้นชั่วคราวหรือถาวร สาเหตุที่พบ เช่น อาการอักเสบของเส้นประสาท อุบัติเหตุฐานกะโหลกศีรษะแตก หรือหลังการผ่าตัดเนื้องอกเยื่อหุ้มเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 ซึ่งเส้นประสาทดังกล่าวควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อใบหน้า ทำให้ผู้ป่วยมีปัญหาตาปิดไม่สนิท กระจกตาเป็นแผล หายใจไม่สะดวก เคี้ยวอาหารลำบาก พูดไม่ชัด ทำให้ขาดความมั่นใจในการเข้าสังคมและมีปัญหาทางด้านจิตใจ ทั้งนี้การรักษาจะเป็นแบบประคับประคองตามอาการ เช่น ให้ยาลดการอักเสบ ยาหยอดตา หากมีร่องรอยความพิการทางใบหน้าหลงเหลือมาก หรือเส้นประสาทเสียหาย  แพทย์จะพิจารณาปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในแต่ละสาขา เพื่อให้การรักษาต่อไป วิธีดังกล่าวทำให้ผู้ป่วยต้องมาพบแพทย์หลายระบบ ซึ่งแพทย์ออกตรวจไม่ตรงกัน นอกจากนี้ผู้ป่วยและญาติต้องเสียเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางมาโรงพยาบาลหลายครั้ง

แพทย์หญิงไพรัตน์ แสงดิษฐ ผู้อำนวยการสถาบันประสาทวิทยา กรมการแพทย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า จากความสำคัญของปัญหาดังกล่าว สถาบันประสาทวิทยาจึงได้จัดตั้งคลินิกผู้ป่วยใบหน้า (Facial Clinic)  เพื่อดูแลผู้ป่วยกล้ามเนื้อใบหน้าพิการ บูรณาการทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญหลายสาขา ทั้งในและนอกสังกัดกรมการแพทย์ โดยมีจักษุแพทย์  ซึ่งประกอบด้วยทีม
ดร.นพ.วุฒิพงษ์ ฐิรโฆไท ประสาทศัลยแพทย์ สถาบันประสาทวิทยา พญ.พัชรพิมพ์  มัศยาอานนท์ จักษุแพทย์   สถาบันประสาทวิทยา และนพ.ธิติ เชาวนลิขิต  นพ.ศุภศิษฎ์ จิรวัฒโนทัย ศัลยแพทย์ตกแต่ง โรงพยาบาลเลิดสิน ซึ่งผู้ป่วยจะได้รับการประเมินถึงปัญหาเบื้องต้น ตั้งแต่การมองเห็น ความผิดรูปของใบหน้า  ความสามารถในการทำงานของเส้นประสาท  ที่ยังเหลืออยู่ การหายใจ และสภาพจิตใจ ภายหลังการรักษาจะได้รับการดูแลจาก นักกายภาพบำบัด นักจิตวิทยา ช่วยแก้ไขปัญหาในการดำรงชีวิตประจำวัน ตลอดจนแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ  ให้ผู้ป่วยเกิดความมั่นใจในการเข้าสังคมและทำงานได้ตามปกติ  เพื่อให้ผู้ป่วยยิ้มได้อีกครั้ง

เป็นเรื่องที่น่าปลื้มใจที่สถาบันการแพทย์ให้ความสำคัญในเรื่องนี้ ในสังคมไทยที่มองคนที่ภายนอก ทำให้ผู้ป่วยหลายคนเกิดสภาวะปัญหาทางจิต  ขาดความมั่นใจ เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญเป็นเรื่องเล็กน้อยที่ส่งผลไม่น้อยอย่างที่คิด!

kinyupen