“ชีวิตเกิดมาครั้งเดียว” “ไม่รู้เก็บเงินแล้วจะได้ใช้ไหม หรือจะตายก่อน” นี่คือความคิดส่วนใหญ่ของหนุ่มสาวที่เพิ่งเริ่มทำงานในวัย 20 ต้นๆ เพราะยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว ผลตอบแทนจากสถาบันการเงินต่างๆ ล้วนไม่คุ้มค่ากับการต้องยอมอดแทบตาย เพื่อสบายวันหน้าที่ยังมาไม่ถึง ในขณะที่ยุคของคุณพ่อคุณแม่จะคิดตรงข้ามไว้ว่าอดเปรี้ยวไว้กินหวาน
ควรเก็บเงินไว้สร้างความสุขตอนนี้ หรือเก็บไว้เพื่ออนาคต
หากเราเลือกอย่างหลัง พอถึงเวลานั้นเราจะยังเอาเงินไปใช้เพื่อตัวเองอยู่ไหม แล้วร่างกายเรามีแรงพอที่จะใช้เงินนั้นหรือเปล่า? อะไรคือความสุขที่แท้จริงกันแน่ ในเมื่อการได้ออกไปใช้ชีวิตอาจมีค่ามากกว่ายอดเงินล้นบัญชี
กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตเล็งเห็นว่า ความสุขที่แท้จริงไม่มีไม่มีผิดไม่มีถูก แต่หากลำบากวันนี้ พรุ่งนี้และวันต่อๆ ไปก็ลำบาก จนชราค่อยสบายก็ไม่ใช่ สบายวันนี้ แต่อนาคตลำบากก็ไม่ใช่อีก ดังนั้นสิ่งสำคัญคือต้องมีบาลานซ์ที่ดี (อ่าน แนะ Gen Y Gen Z หนี้ควรหยุดสร้าง..วางแผนออมบ้างถ้าอยากรวย) ขั้นแรกเริ่มที่ตัวเราก่อนเลย
1.ตั้งเป้าหมายชีวิต
ชีวิตเป็นของเราจ้า ก่อนออมให้ถามตัวเองก่อนว่าใช้ชีวิตเพื่ออะไร อยากทำอะไร แล้วต้องเริ่มจากอะไรก่อน เช่น อยากมีครอบครัวมั่นคง มีบ้าน มีรถ สู่ขอแฟน อยากเที่ยวต่างประเทศ รวมไปถึงการพัฒนาตนเองเช่น เรียนคอร์สพิเศษ ศัลยกรรม ฯลฯ
- เปิดสูตรการออมเงินของมนุษย์เงินเดือน “ออมอย่างไร ให้มีเงินใช้ในยามแก่”
- วิธีเก็บเงินให้โสดแบบสวยๆ แต่รวยตอนแก่
2. จัดสรรปันส่วนเงินตามประเภท
เมื่อเรารู้เป้าหมายแล้ว เราก็จัดสัดส่วนมากน้อยได้ตามต้องการ หากเราอยากซื้อความสุขมากกว่าเงินอนาคตเราก็ให้เงินออมในอนาคตมีสัดส่วนลดลงหน่อย (ไม่ควรเหลือต่ำกว่า 10%) เงินเข้าปุ๊ปต้องแบ่งเงินก่อนใช้ เพื่อไม่ให้เกินงบ หลักๆ คือ
- ค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน
- รายจ่ายประจำ
- เงินออมเพื่อความสุข
- เงินออมเพื่ออนาคต
โดยอาจใช้วิธีเปิดบัญชีแยกไปเลยก็ได้
3.ประมาณการใช้เงินให้เหมาะสมกับตนเอง
ในเมื่อเรามีงบจำกัดในแต่ละหมวดหมู่ ก็ต้องใช้จ่ายและซื้อความสุขโดยไม่เสียใจภายหลัง หาไลฟ์สไตล์ตัวเองให้เจอเพื่อเลือกสิ่งที่คุ้มค่าที่สุด เช่น กินง่ายอยู่ง่ายก็ใช้ทริปเที่ยวราคาประหยัด ซื้อตั๋วเครื่องบินราคาถูก ถ้าเน้นสบายให้เก็บเงินเป็นก้อนใหญ่แล้วค่อยไปเที่ยวทีหลังดีกว่า การเลือกซื้อข้าวของเครื่องใช้ที่ทนทาน เลือกเสื้อผ้าที่สามารถแมทซ์ได้หลายชุด รวมทั้งการซื้อของเท่าที่จำเป็น ไม่ใช่แค่ความอยากบังตา
4.มองหาช่องทางเพิ่มรายได้
หารายได้เสริม ถ้ารู้ตัวว่าใช้เงินเก่งแล้วไม่ยอมปรับตัว ก็ต้องหาเงินเก่งด้วย
5.เพิ่มเงินออมให้งอกเงย
ถ้าเมื่อ 20 ปีที่แล้วดอกเบี้ยเงินฝากสูงถึง 10% ทำให้รุ่นพ่อรุ่นแม่เรายึดติดกับการฝากธนาคาร แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว! ดอกเบี้ยเงินฝากแสนจะน้อยนิด คือการตัดโอกาสได้รับผลตอบแทนที่สูงกว่านี้ ลองแบ่งเงินไปลงทุน สลากออมสิน กองทุน เก็งกำไร ฯลฯ ในเมื่อผลตอบแทนสูงความเสี่ยงก็จะสูงตามเช่นกัน ควรทำแบบประเมินความเสี่ยง และหาความรู้เพิ่มในการลงทุนนั้นๆเสียก่อน สำหรับใครที่เน้นเพิ่มพูนเงินเพื่ออนาคต ให้ลองทำแบบทดสอบที่ investnowstarter เพื่อหาแผนการออมที่เหมาะสมกับตัวเรา
บทความที่เกี่ยวข้อง
- “ไร้หนี้..แต่ไม่มีเงินเก็บ” เสี่ยงหรือไม่ เริ่มจากไหนดี?
- จริงหรือ Gen Y วินัยการเงินพัง
- แนะ Gen Y Gen Z หนี้ควรหยุดสร้าง..วางแผนออมบ้างถ้าอยากรวย
ความสุขไม่ได้ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่มี แต่เงินคือปัจจัยสำคัญที่ซื้อความสุขได้ การจัดสรรชีวิตให้พอดีด้วยวิธีดังกล่าวอาจทำให้รวยช้า แต่ที่สิ่งได้มาคือคุณค่าในชีวิต ไม่แน่สิ่งที่คุณได้พบเจอระหว่างทางอาจกระตุ้นให้เราอยากหารายได้เพิ่ม และได้ช่องทางทำเงินใหม่ๆ ได้อีกด้วย