มหาอุทกภัย “ลุ่มน้ำแยงซี” ฝีมือธรรมชาติ หรือ มนุษย์?

0
692
kinyupen

“แม่น้ำแยงซี หรือ แยงซีเกียง” แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ถือเป็นแม่น้ำยาวสุดในเอเชียและติดอันดับ 3 ของแม่น้ำสายยาวสุดในโลก ด้วยความยาวถึง 6,300 กิโลเมตร และการที่มีต้นน้ำตั้งอยู่ที่มณฑลชิงไห่และทิเบตในทิศตะวันตกซึ่งไหลทอดยาวมาออกสู่ทะเลจีนทางฝั่งตะวันออก ซึ่งครอบคลุมพื้นที่ 1.8 ล้านตารางกิโลเมตร ริมสองฝั่งแม่น้ำแยงซีจึงช่วยหล่อเลี้ยงวิถีชีวิตประชากรสูงถึง 400 ล้านคน

 

นอกจากนี้ยังเป็นต้นกำเนิด “อารยธรรมลุ่มแม่น้ำแยงซี” 1 ใน 2 ต้นน้ำทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าของอาณาจักรจีนควบคู่กับ “อารยธรรมลุ่มแม่น้ำฮวงโห” อุดมไปด้วยโบราณสถานและก่อกำเนิดวัฒนธรรมจำนวนมาก โดยเฉพาะ “วัฒนธรรมการปลูกข้าว” ที่เผยแพร่ขยายไปทั่วภูมิภาคเอเชียตะวันออกและทั่วโลก

 

แม้ยิ่งใหญ่เชิงประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม แต่ก็ก่อให้เกิด “มหาอุทกภัยในจีน” มายาวนานหลายศตวรรษ แต่ละครั้งล้วนสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง

 

ขอบคุณภาพจาก news.sky.com

 

อู่ฮั่นช้ำหนัก..โควิดยังไม่ซา แยงซีท่วมซ้ำ เดือดร้อนกว่า 24 ล้านคน

ล่าสุดจากภาวะฝนตกหนักติดต่อเป็นสัปดาห์ส่งผลให้ระดับน้ำของลุ่มน้ำแยงซีในหลายพื้นที่ของจีนตั้งแต่ฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ของมณฑลเสฉวน เทศบาลนครฉงชิ่ง ไปถึงตอนกลางในมณฑลหูเป่ย จนถึงมณฑลอานฮุยและเจียงซีทางฝั่งตะวันออกท่วมสูงเกินเกณฑ์เตือนภัย โดยเฉพาะ “ทะเลสาบโผหยัง” ทะเลสาบน้ำจืดใหญ่ที่สุดของจีน ณ “มณฑลเจียงซี” ท่วมสูงเป็นประวัติการณ์ในรอบ 22 ปี ส่วนระดับน้ำช่วงเมืองอู่ฮั่นก็ท่วมสูงถึง 28.33 เมตร สูงที่สุดนับจากปี 1931 หรือ 89 ปีที่แล้ว

 

ทั้งหมดนี้เกิดความเสียหายเป็นวงกว้าง โดย ศูนย์บัญชาการป้องกันน้ำท่วมจีน เผยข้อมูลนับถึงวันที่ 12 ก.ค.2563 ว่าน้ำท่วมครั้งนี้สร้างความเสียหายกินพื้นที่รวม 27 มณฑล ประชาชนเดือดร้อน 24 – 37.89 ล้านคน มีผู้เสียชีวิตและสูญหาย 141 คน โบราณสถานได้รับความเสียหายกว่า 500 แห่ง ล่าสุดทางการจีนในมณฑลอานฮุยได้ตัดสินในทำลายเขื่อนกั้นแม่น้ำฉู (ฉูเหอ) ที่เป็นแม่น้ำสาขาสายเอกของแยงซีเพื่อช่วยระบายปริมาณน้ำในเขื่อนเพื่อความปลอดภัยของประชาชนที่อาศัยอยู่ใกล้เคียง

 

ขอบคุณภาพจาก news.sky.com

 

ต้นเหตุมหาอุทกภัย ธรรมชาติ หรือ มนุษย์?

ตลอดหลายศตวรรษที่ผ่านมา บริเวณลุ่มแม่น้ำแยงซีมักประสบอุทกภัยขนาดใหญ่บ่อยครั้ง ครั้งที่หนักจนถือเป็นน้ำท่วมครั้งร้ายแรงสุดในประวัติศาสตร์โลก ต้องย้อนกลับเมื่อปี พ.ศ.2474 หรือ กว่า 89 ปี โดยเกิดน้ำท่วมสามแม่น้ำสายหลักของจีนพร้อมกัน ทั้งแม่น้ำหวง (หวงเหอ) แม่น้ำแยงซี (แยงซีเกียง) และแม่น้ำหวย (หวยเหอ) กินเวลานานกว่า 5 เดือน มีคนเสียชีวิตประมาณ 2.5 – 3.7 ล้านคน ซึ่งหลังจากเหตุการณ์ครั้งนี้ก็ได้เกิดโรคระบาด อหิวาตกโรค และไข้รากสาดใหญ่ในจีนตามมาซ้ำอีก หรือ เหตุการณ์ที่ใกล้เข้ามาหน่อยก็คือ อุทกภัยใหญ่ในปี พ.ศ. 2541 ซึ่งคร่าชีวิตคนไปกว่า 2,000 คน และบ้านเกือบ 3 ล้านหลังเสียหายย่อยยับ

 

ปัญหาน้ำท่วมตามแนวลุ่มแม่น้ำแยงซีมักเกิดในช่วงฤดูฝนของจีน ตั้งแต่พฤษภาคมถึงสิงหาคม สาเหตุหลักเป็นผลจากการละลายของธารน้ำแข็งบนที่ราบสูงทิเบตไหลลงสู่แม่น้ำแยงซีในประมาณมากเป็นสาเหตุให้เกิดน้ำท่วมเข้าสู่พื้นที่อยู่อาศัยของประชาชนทุกปีตั้งแต่อดีตมาจนปัจจุบัน

 

มีการสันนิษฐานว่าปริมาณน้ำที่ท่วมมากขึ้นในปัจจุบันมาจาก 2 ปัจจัยเสริม

1.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ หรือ Climate Change ส่งให้เกิดปรากฏการณ์เอลนีโญ ซึ่งสำนักบริหารอุตุนิยมวิทยาจีน ระบุว่าฝนที่ตกมากกว่าปกติส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากไอน้ำจำนวนมากที่ระเหยจากมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก

2.มนุษย์ เนื่องด้วยการเติบโตของประชากรที่รวดเร็ว ส่งผลให้พื้นที่จำนวนมากบริเวณรอบทะเลสาบกว่าพันแห่งที่เป็นแม่น้ำสาขาของแยงซีเกียง ถูกรุกล้ำแปรสภาพเป็นพื้นที่เกษตรและอยู่อาศัยของมนุษย์ เป็นเหตุผลสำคัญให้อุทกภัยแต่ละครั้งรุนแรงมากขึ้น

 

เขื่อนสามผาแก้ปัญหาได้จริง?

 

น้ำท่วมลุ่มน้ำแยงซี ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ทางการจีนพยายามหาทางแก้มาตลอด หนึ่งในวิธีที่นำมาใช้หากก็ได้กลายเป็นข้อถกเถียง นั่นคือการสร้าง “เขื่อนสามผา หรือ เขื่อนซานเสียต้าป้า (Three Gorges Dam) ” ที่จีนยอมทุ่มเงินก่อสร้างมหาศาล เพราะมองว่านี่คือความก้าวหน้าทางวิศวกรรมครั้งสำคัญของประเทศ

 

ขอบคุณภาพจาก paper.chinaso.com

 

ปัจจุบันเขื่อนแห่งนี้เป็นเขื่อนอเนกประสงค์ที่ใหญ่สุดในโลก โดยถูกสร้างกั้นแม่น้ำแยงซีเพื่อหวังให้เขื่อนช่วยบรรเทาปัญหาน้ำท่วมและใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแห่งที่ใหญ่ที่สุดของโลก เริ่มก่อสร้างปี พ.ศ.2537 เปิดใช้จริงในปี พ.ศ.2546

 

การก่อสร้างเกิดขึ้นท่ามกลางการต่อต้านของฝ่ายนักอนุรักษ์ที่ให้เหตุผลว่า “นี่อาจไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกต้อง” เพราะเขื่อนนี้จะช่วยได้แค่การชะลอการไหลของน้ำเท่านั้น ไม่สามารถช่วยป้องกันน้ำท่วมได้จริงนอกจากนี้การก่อสร้างต้องอพยพประชาชนในพื้นที่หลายล้านคน

 

รวมถึงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของระบบนิเวศโดยรอบแม่น้ำแยงซี ซึ่งต่อมาในประเด็นนี้รัฐบาลจีนก็ออกมายอมรับว่า เขื่อนสามผาสร้างความเสียหายทางสังคมและสิ่งแวดล้อมในวงกว้าง และให้คำมั่นจะทุ่มเงินงบประมาณ 124,000 ล้านหยวน หรือ 553,853 ล้านบาทเพื่อเยียวยา

 

ผลจากน้ำท่วมใหญ่ที่เกิดขึ้นล่าสุด “ประสิทธิภาพของเขื่อนสามผากลับมาเป็นข้อกังขาในวงกว้าง” จากเหล่านักวิชาการและสื่อมวลชนจีนอีกครั้ง

 

ทั้งนี้เริ่มมีการตั้งคำถามว่าเขื่อนจะรับน้ำไหวหรือไม่ และเขื่อนจะแตกหรือไม่ หลังผู้ใช้ทวิตเตอร์รายหนึ่ง โพสต์ภาพถ่ายดาวเทียมจาก Google Maps ที่แสดงให้เห็นเป็นนัยว่า เขื่อนสามผาคดงอและเสี่ยงที่จะพังทลาย ซึ่งถูกแชร์ต่ออย่างกว้างขวางในสื่อสังคมออนไลน์ของจีน จนส่งผลให้ทางการจีนต้องเร่งออกมาแก้ข่าวและชี้แจงข้อเท็จจริงในที่สุด

 

อย่างไรก็ตามยังคงมีสัญญาณน่ากังวลออกมาจากเขื่อนสามผาต่อเนื่อง เพราะทางเขื่อนได้เปิดประตูระบายน้ำ 3 แห่งเนื่องจากระดับน้ำสูงกว่าระดับรองรับน้ำท่วมถึง 50 ฟุต และล่าสุดสำนักข่าว AP รายงานว่าในวันที่ 21 กรกฎาคม มวลน้ำระลอกใหม่จะเคลื่อนตัวมาถึงเขื่อนอีกครั้ง คงต้องติดตามกันต่อไปว่าเหตุการณ์ณ์น้ำท่วมใหญ่ครั้งนี้จะจบลงอย่างไร หรือ รัฐบาลจีนมีแนวทางแก้ไขอย่างไร ซึ่งกินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้ชาวจีนพ้นภัยไปด้วยกัน

 


แม่น้ำแยงซีเป็น 1 ในแม่น้ำ 3 สาย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลก” ร่วมกับ แม่น้ำโขง และ แม่น้ำสาละวิน ในเขตพื้นที่มณฑลยูนนาน ภายใต้ชื่อ พื้นที่คุ้มครองแม่น้ำขนานสามสายแห่งยูนนาน ซึ่งนับได้ว่าเป็นสถานที่แห่งหนึ่งบนโลกที่มีความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายทางชีวภาพสูง

 

kinyupen