10 ปีที่ผ่านมา “เงินเฟ้อ” ส่งผลต่อราคาสินค้าอย่างไรบ้าง

0
1060
kinyupen

“ภาวะเงินเฟ้อ” เป็นภาวะที่ราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มาดูกันดีกว่าว่าสินค้าหรือบริการอะไรบ้างที่ปรับราคาแพงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตรวบรวมเอาไว้ให้แล้ว

 

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับเรื่องเงินๆ ทองๆ กันสักนิดนึง เชื่อว่าเมื่อก่อนใครหลายๆ คน ที่ชอบจับจ่ายใช้สอยคงจะคุ้นชินกับสินค้าประจำและราคาที่จะคุ้นชินและจำได้อยู่แล้ว แต่มาในปัจจุบันนี้สินค้าบางอย่างยังมีอยู่ แต่ไม่ใช่ราคาเดิมที่เคยซื้อเหมือนเช่นเมื่อก่อน ด้วยปัจจัยทางด้านเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ส่งผลให้ราคาสินค้ากลายเป็นว่าปรับตัวเพิ่มขึ้นซะอย่างงั้น ลักษณะแบบนี้เราเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ภาวะเงินเฟ้อ นั่นเอง

 

ภาวะเงินเฟ้อคืออะไร?

 

ภาวะเงินเฟ้อ เป็นภาวะเศรษฐกิจที่ระดับราคาสินค้าและบริการมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หรืออธิบายง่ายๆ ก็คือ เมื่อก่อนเงิน 20 บาท เราสามารถทานบะหมี่ได้ 1 ชาม แต่ปัจจุบันเงิน 20 บาท ไม่สามารถซื้อบะหมี่แบบที่เคยรับประทานได้แล้วนั่นเอง แล้วในอนาคตราคาอาจจะปรับสูงขึ้นกว่าเดิมอีกก็เป็นไปได้ สรุปก็คือ สินค้ามันราคาแพงขึ้นจากหลายๆ ปัจจัยของเศรษฐกิจส่งผลให้ต้นทุนของสินค้าต้องปรับตัวสูงขึ้น และก็เป็นผลให้ราคาสินค้าแพงขึ้นเช่นเดียวกัน

 

ภาวะเงินเฟ้อเกิดจากสาเหตุอะไร?

 

สาเหตุของภาวะเงินเฟ้อมีด้วยกัน 3 อย่าง คือ เงินเฟ้อที่เกิดทางด้านอุปสงค์ เงินเฟ้อที่เกิดทางด้านอุปทาน และ เงินเฟ้อที่เกิดจากการที่รัฐบาลพิมพ์เงินเพิ่มจำนวนมาก

 

  1. Demand-Pull Inflation เงินเฟ้อที่เกิดทางด้านอุปสงค์ : เกิดจากความต้องการที่มีมากกว่าปริมาณสินค้าและบริการที่มีอยู่ในขณะนั้น จึงดึงให้ราคาสินค้าเพิ่มสูงขึ้น ส่วนใหญ่จะเกิดในสภาวะเศรษฐกิจที่เติบโตค่อนข้างร้อนแรง คนมีรายได้เพิ่มขึ้นเร็วกว่าที่การผลิตสินค้าโดยรวมจะตามทัน เมื่อความต้องการมีมากกว่าสินค้า ราคาของสินค้าก็เพิ่มขึ้น

 

  1. Cost-Push Inflation เงินเฟ้อที่เกิดทางด้านอุปทาน : เกิดจากต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้ผู้ผลิตปรับราคาสินค้าเพิ่มขึ้นตาม โดยปัจจัยหลักที่มีผลต่อต้นทุนการผลิต คือ น้ำมัน สินค้าโภคภัณฑ์ประเภทอื่นที่ใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิต เช่น ยางพารา รวมไปถึงการเรียกร้องค่าจ้างสูงขึ้น เมื่อราคาน้ำมัน ยางพารา และค่าจ้างเพิ่มขึ้น ผู้ผลิตก็ต้องผลักภาระให้ผู้บริโภคด้วยการปรับราคาสินค้าจึงมีผลให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น

 

  1. Printing Money Inflation เงินเฟ้อที่เกิดจากการที่รัฐบาลพิมพ์เงินเพิ่มจำนวนมาก : ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงของปริมาณเงินในระบบ เห็นได้ชัดในกลุ่มประเทศลาตินอเมริกาช่วงปี 1980 รัฐบาลเห็นว่าประชาชนไม่มีเงินจึงพิมพ์เงินเพิ่ม ทำให้เกิดภาวะเงินเฟ้อขั้นรุนแรง (Hyperinflation ) คนมีเงินมากขึ้นแต่ซื้อของไม่ได้เพราะราคาสินค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วหรือไม่มีสินค้าขาย หรือในอีกแง่หนึ่ง คือ มูลค่าเงินด้อยค่าลงอย่างรวดเร็วนั่นเอง

 

 

คราวนี้หากเราย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว มาดูกันว่าสินค้าหรือบริการอะไรบ้างที่ปรับราคาแพงขึ้นจากภาวะเงินเฟ้อ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตรวบรวมเอาไว้ให้แล้ว

 

  1. ราคาทอง: ย้อนกลับไปเมื่อ 10 กว่าปีก่อน ประมาณปี พ.ศ. 2548 ราคาทองตอนนั้นอยู่ที่ประมาณไม่เกิน 10,000 บาท (อ้างอิงจาก : https://positioningmag.com/26713) แต่พอเข้าช่วงกลางเดือนของปี พ.ศ. 2549 กลายเป็นว่าราคาทองกลับแตะขึ้นมาที่หลักหมื่นเสียแล้ว จนปี พ.ศ. 2552 ราคาทองแตะขึ้นมาอยู่ที่ประมาณ 14,000 – 17,000 บาท ทั้งรับซื้อและขายออก กระทั่งมาถึงปัจจุบัน (ก.พ. 2563) ราคาทองทั้งซื้อและขายพุ่งสูงอยู่ที่ประมาณ 25,000 บาท เรียกได้ว่าราคาปรับเกินครึ่งหนึ่งเลยก็ว่าได้ (อ้างอิงจาก : https://www.goldtraders.or.th/UpdatePriceList.aspx)

 

  1. ราคาน้ำมัน : ราคาน้ำมันใน 10 ปีที่แล้ว อย่างน้ำมันเบนซินอยู่ที่ประมาณ 16 – 17 บาท/ลิตร กระทั่งปัจจุบัน (ก.พ. 2563) ราคาน้ำมันปรับขึ้นอีกประมาณ 10 บาท ทำให้ราคาน้ำมัน ณ ตอนนี้อยู่ที่ลิตรละประมาณ 32 – 34 บาท

 

  1. รายได้ขั้นต่ำ (ต่อวัน) : ย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว เงินค่าจ้างรายวันอยู่ที่ประมาณ 200 บาทเท่านั้นเอง แต่พอเข้ายุคปัจจุบันหลากหลายรัฐบาลที่เข้ามาบริหารประเทศก็ให้ความสำคัญกับเรื่องของค่าครองชีพ โดยมีนโยบายปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ จนตอนนี้อยู่ประมาณ 335 บาท/วัน (ก.พ. 2563)

 

  1. ราคาค่าโดยสาร : เมื่อปี พ.ศ. 2546 ค่ารถเมล์ ขสมก. เริ่มต้นขั้นต่ำที่ 3.50 บาทตลอดสาย (กรณีเป็นรถร้อน) ส่วนรถยูโรทู ก็เริ่มต้นที่ 10 – 18 บาท ตามระยะทาง จนกระทั่ง 1 ก.พ. 2567 ค่ารถเมล์ ขสมก. เริ่มปรับราคาขึ้นเป็น 4 บาท (อ้างอิงจาก : https://bit.ly/2Nx4vBI ) แต่ในปัจจุบัน ค่ารถเมล์กลับกระโดดพุ่งขึ้นอีกหนึ่งเท่าตัว อย่างตอนนี้ค่ารถโดยสาร ขสมก. (รถร้อน) อยู่ที่ 8 บาทตลอดสาย ส่วนรถยูโรทูราคาขั้นต่ำเริ่มต้นที่ 13 – 25 บาทแล้ว

 

  1. ตั๋วชมภาพยนตร์ : เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ค่าตั๋วชมภาพยนตร์ที่นั่งปกติอยู่ที่ 120 บาท (ภาพยนตร์เข้าใหม่อยู่ที่ 140 บาท) แต่พอมาในปัจจุบัน ค่าตั๋วชมภาพยนตร์ที่นั่งปกติอยู่ที่มูลค่า 190 – 260 บาทเสียแล้ว (ถ้าเป็นที่นั่งแบบพิเศษราคาจะปรับตัวสูงขึ้นกว่านี้)

 

  1. ราคาอาหาร : เมื่อ 10 ปีที่แล้ว ราคาอาหาร เช่น อาหารตามสั่งหรือข้าวราดแกง เริ่มต้นที่ 20 – 30 บาทโดยประมาณ แต่ใจปัจจุบัน ราคาอาหารตามร้านต่างๆ เริ่มสตาร์ทขั้นต่ำอยู่ที่ 30 – 45 บาท บางร้าน เช่น ในห้างสรรพสินค้า หรือ ศูนย์อาหารในห้างฯ เริ่มต้นที่ 40 บาทขึ้นไปจนถึงหลักร้อยด้วย

 

จะเห็นได้ว่า ราคาสินค้าและบริการเมื่อทศวรรษที่ผ่านมามีการปรับเปลี่ยนไปอย่างก้าวกระโดดเมื่อเทียบกับยุคปัจจุบันจากภาวะของเงินเฟ้อ ซึ่งในความเป็นจริงไม่ได้มีเพียงสินค้าหรือบริการแค่ 5 อย่างตามที่เกริ่นไปข้างต้นเท่านั้น ยังมีอะไรอีกเยอะแยะมากมายจากภาวะเงินเฟ้อดังกล่าว แล้วเราจะต้องแก้ปัญหาอย่างไรดี ?

 

เราลองย้อนกลับมาดูว่าทุกวันนี้เรามีเงินเก็บติดตัวเอาไว้แล้วหรือยัง ถ้ายังไม่มีเราคงต้องเริ่มเก็บเงินได้แล้ว ไม่มีคำว่าสายเกินไป เก็บก่อนรวยก่อนนั้นคือเรื่องจริง แต่ถ้าเก็บก่อนแล้วยิ่งมีความรู้ในการจัดการสินทรัพย์ รวยเร็วยิ่งกว่าแน่นอน ฉะนั้น หากมีการบริหารจัดการเงินและการวางแผนที่ดี ก็จะช่วยป้องกันผลกระทบจากเงินเฟ้อได้ อย่ามัวแต่โทษว่าเงินเฟ้อทำให้สินค้าแพงขึ้นเราเลยไม่มีเงินเก็บ ทุกวันนี้เรากลัวเงินไม่พอใช้ หรือเรากลัวเงินไม่พอเก็บกันแน่ และนี่คือวิถีแห่ง กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต

kinyupen