เลขบัตรประชาชน บอกข้อมูลส่วนตัวขนาดนี้เลยหรือ?

0
689
kinyupen

ทำไมเลขบัตรประชาชนต้องมี 13 หลัก? ทำไมเราได้เลขนี้ เขาเรียงตามลำดับผู้ที่เกิดก่อน-หลังหรือเปล่า? เป็นคำถามที่เด็กๆ ต่างคิดกันเล่นๆ แท้จริงแล้วเจ้าชุดตัวเลข 13 ตัวที่ติดตัวเรามาตั้งแต่เกิดนี้ บ่งบอกข้อมูลอะไรบางอย่างได้ด้วย

 

กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต พาไขรหัสข้อมูลส่วนตัวของเลขประจำตัวบัตรประชาชน สำคัญแค่ไหน ใช้อย่างไรให้ปลอดภัยเรามาดูกัน

 

ที่มา : สำนักงานกิจการยุติธรรม

 

หลักที่ 1

หมายถึงประเภทบุคคลซึ่งมี 9 ประเภท คือ

  • เลข1 = คนไทย/สัญชาติไทย แจ้งเกิดภายใน 15 วัน (ตั้งแต่ 1 มกราคม 2527)
  • เลข2 = คนไทย/สัญชาติไทย แจ้งเกิดเกินกำหนด 15 วัน
  • เลข3 = คนไทย/ต่างด้าว ที่มีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้าน (ก่อน 31 พฤษภาคม 2527)
  • เลข4 = คนไทย/ต่างด้าวที่ย้ายเข้าในทะเบียนบ้าน ขณะยังไม่มีเลขบัตรปชช. ระหว่าง 1 มกราคม – 31 พฤษภาคม 2527
  • เลข5 = คนไทย (ต่างด้าว ที่ได้อนุมัติให้เพิ่มชื่อในทะเบียนบ้าน ในกรณีตกสำรวจหรืออื่นๆ
  • เลข6 = ต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมาย แต่อยู่ชั่วคราว เช่น ชาวต่างชาติแต่งงานกับคนไทย และต่างด้าวที่เข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย แต่อนุมัติให้อยู่ได้ เช่น ชนกลุ่มน้อยชายแดน-ชาวเขา
  • เลข7 = บุตรของบุคคลประเภทที่ 6 ที่เกิดในไทย
  • เลข8 = ต่างด้าวที่ได้รับสัญชาติไทย
  • เลข 0 = ผู้ที่ไม่มีสถานะทางทะเบียน
  • เลข 00 = แรงงานต่างด้าวขึ้นทะเบียน (ตั้งแต่ พ.ศ. 2547)

 

มีเพียงประเภทที่ 3, 4 และ 5 เท่านั้น ที่จะมีบัตรประชาชนได้เลย ส่วนประเภทที่ 1 และ 2 จะมีบัตรประชาชนได้ ก็ต่อเมื่อมีอายุถึงเกณฑ์ทำบัตรประจำตัวประชาชน คืออายุ 15 ปี

แต่สำหรับบุคคลประเภทที่ 6, 7 และ 8 จะมีเพียงทะเบียนประวัติเล่มสีเหลืองเท่านั้นจะไม่มีการออกบัตรประชาชนให้

 

หลักที่ 2-3

หมายถึง ภาค/เขตจังหวัดที่แจ้งเกิดหรือขึ้นทะเบียน

หลักที่ 4-5

หมายถึง อำเภอ/เทศบาลที่แจ้งเกิดหรือขึ้นทะเบียน

หลักที่ 6-10

หมายถึง กลุ่มของบุคคลแต่ละประเภท (ตามหลักแรก) หรือเล่มที่ของสูติบัตร แล้วแต่กรณี

หลักที่ 11-12

หมายถึง เป็นคนที่เท่าไหร่ในกลุ่มบุคคลนั้นหรือใบที่ของสูติบัตรแต่ละเล่ม แล่วแต่กรณี

หลักที่ 13

หมายถึง เลขตรวจสอบความถูกต้องของเลขทั้ง 12 หลัก

เซ็น ”สำเนาถูกต้อง” ไม่ให้คนแอบอ้างได้

  1. ขีดเส้นคู่ขนานจากมุมล่างซ้ายไปมุมบนขวา
  2. ระบุว่า “ใช้เพื่อ…..เท่านั้น” พร้อมใส่ # ปิดท้ายข้อความ ป้องกันการเติมข้อความ
  3. ระบุ วันเดือนปี ทุกครั้ง
  4. รับรองสำเนาถูกต้อง และลงลายเซ็นทับรูปถ่ายแต่ห้ามเขียนทับใบหน้าของเรา เพื่อป้องการกันเปลี่ยนรูปถ่าย
  5. ควรใช้ปากกาหมึกสีดำ เพื่อป้องกันการดูดสี

 

เนื่องจากถ้าเซ็นด้วยสีอื่นมิจฉาชีพสามารถตัดต่อดึงลายเซ็นออกได้ แล้วมันจะกลายเป็นเอกสารเปล่าที่ยังไม่มีการเซ็นใดๆ เอาไปปลอมลายเซ็นได้อย่างสบายใจ แต่ถ้าดึงสีดำออกจากสำเนาบัตรเอกสารทั้งหมดก็จะหายไป

 

เรื่องเข้าใจผิด เกี่ยวกับปากกาหมึกดำ

ใช้สีดำจะไม่ยิ่งอันตราย เพราะจะทำให้เข้าใจว่าเป็นการถ่ายเอกสารเหรอ?

ไม่อันตราย เราสามารถตรวจสอบได้ที่รอยกดปากกา

 

 

ทั้งนี้สำหรับบัตรประชาชนแบบสมาร์ทการ์ด หนังสือคำสั่งจากกระทรวงมหาดไทย ปี 2556 ที่ให้ถ่ายสำเนาบัตรเพียงด้านหน้าด้านเดียวเท่านั้น ข้อมูลครบเพียงพอแก่การนำไปใช้ เพราะรหัสหลังบัตรประชาชนของเรา APP ที่เกี่ยวข้องกับเงินหรือกระเป๋าเงินอิเลคทรอนิกค์ (Wallet) ต้องใช้ทั้งหมด เปรียบเสมือน CVV หลังบัตรเครดิต ซึ่งใช้ในการทำธุรกรรม ตรวจสอบ ยืนยันตัวตนคู่กับเลขบัตรประชาชน 13 หลักของเรานั่นเอง

 

การใช้สำเนาบัตรประชาชนแต่งละแห่งอาจไม่เหมือนกัน บางแห่งไม่ให้เขียนคร่อมรูปถ่าย บางแห่งยังจำเป็นต้องใช้เลขหลังบัตรประชาชนอยู่ อย่างไรก็ตามก่อนใช้บัตรประชาชนควรสอบถามเจ้าหน้าที่เพื่อความชัวร์

 

ปัจจุบันหน่วยงานรัฐและเอกชนบางแห่งมีการยกเลิกใช้สำเนาบัตรแล้ว และดึงข้อมูลจากชิพการ์ดหน้าบัตรแทน แต่ก็ยังไม่แพร่หลาย ก็ยังจำเป็นใช้สำเนาบัตรกันอยู่ ดังนั้นใช้อย่างรอบคอบไว้ก่อนจึงปลอดภัยที่สุด

 

สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 1548 หรือที่เว็บไซต์สํานักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง

ขอบคุณข้อมูลจาก สำนักงานกิจการยุติธรรม  กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

kinyupen