อาชีพบล็อกเกอร์ เจ้าของเพจเฟสบุ๊ค อินฟลูเอนเซอร์ ยูทูปเบอร์ อะไรเหล่านี้ ล้วนเหล่าอาชีพที่มีอิทธิพลในโลกออนไลน์ที่หลายคนอยากเป็น ดูมีชื่อเสียง ดูมีเงินเยอะ แต่ก็มีคำถามอยู่ว่าได้เงินเยอะแค่ไหน?
บางคนเปิดเพจตั้งนาน ก็ไม่เห็นมีเงินเข้ามาเลย เพจอะไรพวกนี้ก็ดูฟรีๆ แล้วรายได้ของเหล่าบล็อกเกอร์มาจากอะไรบ้างล่ะ? กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตจะมาแชร์เคล็ดลับหาเงินด้วย 8 วิธีทำเงินของการเปิดเพจ/เป็นอินฟลูเอนเซอร์ ซึ่งเราได้นำข้อมูลส่วนหนึ่งมาจาก ลงทุนศาสตร์
ทำความรู้จัก Influencer Marketing (บล็อกเกอร์ ยูทูบเบอร์ ติ๊กต็อกเกอร์ หรือสตรีมเมอร์)
อาชีพที่สามารถครีเอตคอนเทนต์ได้ตามสไตล์คุณ แล้วใช้แพลตฟอร์มต่างๆ ให้เป็นประโยชน์ เช่น Facebook Youtube Instargram TikTok Twitch Website Blockdit
ซึ่งในบทความนี้กินอยู่เป็นขอเรียกรวมๆ ว่า ‘บล็อกเกอร์’ นะคะ
8 วิธีหารายได้ จากการเป็นบล็อกเกอร์
1. Advertisement : การขายโฆษณา
ช่วยโฆษณาให้ลูกค้า : ลูกค้าอยากแนะนำสินค้า-บริการอะไร เช่น ร้านอาหาร หุ้น IPO กองทุนรวมต่างๆ ก็ให้กินอยู่เป็นรีวิว แล้วกินอยู่เป็นก็เอาลงเพจ ลงเว็บไซต์ให้
เอา Ads มาติดเองแล้วเราได้รับส่วนแบ่งจากการโฆษณา อย่าง Google AdSense เวลาที่คนเข้าไปอ่านในเว็บไซต์ หลายคนก็จะเห็นเป็นโฆษณาที่ติดอยู่ในบล็อกของเรา สำหรับผู้เยี่ยมชมเว็บไซต์ หรือดูยูทูปอาจรกตานิดหน่อย แต่การคลิกโฆษณาก็จะเป็นรายได้ให้กับเว็บไซต์ด้วย ถือว่าช่วยกัน
2. Subscription : การสมัครสมาชิก
ทุกท่านอาจเคยเห็นระบบสมาชิกในหลายๆ แพลตฟอร์ม อย่างสมาชิกยูทูป สมาชิกแฟนเพจ การสมัครเป็นซัพพอร์ตเตอร์ของเกมเมอร์ นั่นถือเป็นการสร้างรายได้พิเศษ เหมือนเราแฟนคลับ หรือชอบบล็อกเกอร์คนไหนเป็นพิเศษก็จะสนับสนุนเขา ให้เขามีกำลังใจในการทำคอนเทนต์ต่อไป
ซึ่งสำหรับคนที่เป็นสมาชิกก็จะได้คอนเทนต์พิเศษ อาจเป็นคลิปพิเศษให้ดู หรือได้เห็นคอนเทนต์พิเศษ อย่างเกมเมอร์ที่ผู้เขียนรู้จัก ก็เปิดรับสมัครซัพพอร์ตเตอร์ แล้วซัพพอร์ตเตอร์ก็จะมียศ มีกลุ่มลับไว้คุยกัน เป็นคอมมูนิตี้ที่สามารถสนิทสนมเกมเมอร์ท่านนี้อย่างใกล้ชิด
3. Premium Content : คอนเทนต์พิเศษ
ถ้าอยากอ่านคอนเทนต์นี้ ต้องจ่ายเงินเพิ่ม จะเห็นบ่อยในบล็อกที่ทำข้อมูลละเอียดๆ งานวิจัย การวิเคราะห์ การลงทุน ที่เราจะเข้าไปอ่านฟรีไม่ได้ ต้องซื้อแยกเป็นรายชิ้นไป เช่น 100 หุ้นเด่น ใครอยากดูต้องจ่าย 100 บาท
4. Seminar : จัดสัมมนา
จัดการเสวนา สัมมนาที่เสียค่าลงทะเบียน ทั้งนี้ก็ต้องขึ้นอยู่กับประเภทของคอนเทนต์ที่เราทำ เช่น ถ้าเป็นเพจท่องเที่ยวคงจัดหัวข้อสัมมนายาก แต่ถ้าเป็นเพจความรู้ก็จะง่าย อย่างการตลาด การสร้างอาชีพ การลงทุน เพราะผู้เข้าร่วมสัมมนามองว่าคุ้มค่าแก่การจ่ายเงิน 2,000-3,000 บาท เพื่อสร้างเงินต่อในอนาคต
5. Cross media : ทำโปรเจคร่วมกับมีเดียอื่น
เช่น อาจทำร่วมกับแบรนด์นั้นๆ ร่วมกับช่องโทรทัศน์ต่างๆ รับรายได้ในการกระจายข่าวสาร Cross media ให้เขา
6. Crowdfunding : ระดมทุน
ประกาศเลยว่าอยากขอระดมทุน อยากขอระดมทุนให้ได้ X บาท เพื่อมาทำคอนเทนต์นี้ ถ้าถึงก็จะทำให้ เช่น เกมเมอร์บางคนก็เปิดระดมทุนเพื่อซื้อเครื่องเล่นเกม 20,000 บาท เพื่อแคสต์เกมให้ทุกคนดู, เว็บไซต์ที่ไม่มีรายได้ อาจสื่อสารตรงไปตรงมาว่าขอเงินสนับสนุน เพื่อให้สามารถทำคอนเทนต์ได้ต่อไป ก็สามารถระดมทุนได้เช่นกัน
7. Donation : การบริจาค
คล้ายๆ การระดมทุนในข้อ 6 แต่อันนี้ใครอยากให้เงินก็ให้ได้ ไม่มีเงื่อนไข
8. Sales product–Service : ขายสินค้าหรือบริการไปเลย
โดยสินค้าที่นำเสนอจะเกี่ยวข้องกับคอนเทนต์นั้นๆ เช่น
- เพจวาดรูป ขายสติ๊กเกอร์ไลน์ ขายสมุดโน้ตที่วาดหน้าปกเอง ขายอาร์ตบุ๊ค
- เพจรีวิวอาหาร ขายดีลบุฟเฟ่ต์ ขายอาหารราคาพิเศษที่ส่งเดริเวอรี่
- เพจการเงิน ขายหนังสือ ขายคอร์สเรียนออนไลน์ ขายสัมมนา
ทั้งนี้ก็ยังมีการได้รับค่าตอบแทนรูปแบบอื่นที่ไม่ใช่การทำคอนเทนต์ด้วย ลูกค้าที่ต้องการเพจรีวิว แต่ No budget บล็อกเกอร์ได้รีวิว ได้ทดลองใช้ฟรีๆ ไปเลย เช่น คนที่รีวิวเครื่องสำอาง ก็ได้เครื่องสำอางที่รับรีวิวไปใช้ฟรี, รีวิวอาหารก็ได้กินฟรี ในมูลค่า 2,000 บาทก็ว่าไป, รีวิวโรงแรมก็ได้นอนโรงแรมฟรี 2 วัน 1 คืน
ต้องขอบอกก่อนเลยว่าอาชีพบล็อกเกอร์ อิสระมาก อยากเริ่มต้นตอนไหนก็ได้ ต้นทุนก็แทบจะฟรี มีเพียงแค่ค่าเสื่อมคอมพิวเตอร์ หรือโทรศัพท์มือถือที่คุณใช้ ค่าไฟ ค่าอินเทอร์เน็ต ดังนั้นตลาดนี้จึงมีการแข่งขันดุเดือดมาก มีเพจเกิดขึ้นมากมายมหาศาล ซึ่งเพจที่ไม่ได้มีรายได้เป็นกิจจะลักษณะ หรือมีรายได้แค่เล็กน้อยแล้วยังทำต่อ มักเกิดจากความชอบ ความสุขใจที่ได้ทำ
กินอยู่เป็นหวังว่า 8 ข้อเหล่านี้จะเป็นไอเดียการหาเงินที่เป็นประโยชน์ต่อใครหลายๆ คน การสร้างรายได้จากการทำสิ่งที่ชอบจะมีอะไรดีไปกว่านี้อีกล่ะ ว่าแล้วลองลุยดูสักตั้ง!
บทความที่เกี่ยวข้อง