การเข้าไม่ถึงแหล่งเงินทุนของผู้ประกอบการ โดยเฉพาะ SMEs ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 90% ของธุรกิจทั้งหมดในประเทศ เป็นอุปสรรคใหญ่ของการพัฒนาและต่อยอดธุรกิจ SMEs ของไทยให้เติบโตและก้าวเข้ามามีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ขณะที่มาตรฐานการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินที่เข้มงวดขึ้น เห็นได้จากผลสำรวจภาวะและแนวโน้มการปล่อยสินเชื่อ SMEs (Diffusion Index) โดยธนาคารแห่งประเทศไทยพบว่า ตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4 ปี 2566 จนถึงไตรมาส 3 ปี 2567 มีค่าดัชนีติดลบมาโดยตลอด บ่งชี้ว่าสถาบันการเงินไทยส่วนใหญ่ปล่อยสินเชื่อยากขึ้น
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) เปิดเผยว่า ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ SMEs ไทยไม่ได้รับการพิจารณาสินเชื่อ คือ การไม่รู้และขาดทักษะในการเตรียมความพร้อมขอสินเชื่ออย่างถูกวิธี ไม่เข้าใจหลักการที่ธนาคารและสถาบันการเงินใช้เพื่อพิจารณาเพื่อปล่อยกู้ ดังนั้น หาก SMEs มีความรู้ความเข้าใจและเตรียมความพร้อมอย่างรอบด้านตามหลักการที่ธนาคารใช้พิจารณาปล่อยกู้ การขอสินเชื่อให้ผ่านฉลุยอาจไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไป ซึ่งโดยทั่วไปแนวทางที่สถาบันการเงินนำมาใช้พิจารณาสินเชื่อเรียกว่า หลัก 5C ประกอบด้วย
Character ตัวตนที่น่าเชื่อถือของธุรกิจ ธนาคารจะดูประวัติส่วนตัวและประวัติทางการเงินของผู้ขอสินเชื่อว่ามีความน่าเชื่อถืออย่างไร เช่น ข้อมูลบริษัทและเครดิตบูโร เพื่อให้มั่นใจว่าเป็นผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจสุจริตและมีประวัติการคืนเงินกู้ที่ดี
Capital เงินทุนในการทำธุรกิจ ธนาคารพิจารณาดูส่วนทุนของผู้ประกอบการที่นำมาใช้ในการทำธุรกิจ เพื่อดูความตั้งใจและความมีส่วนร่วมรับผิดชอบในการทำธุรกิจจริง โดยธนาคารจะพิจารณาอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E Ratio) ที่ไม่เกิน 3 เท่า ซึ่งบ่งบอกว่าธุรกิจไม่ได้มีการก่อหนี้สูงกว่าที่ควรจะเป็น
Capacity ความสามารถของธุรกิจ หมายถึง การมองความสามารถในการชำระหนี้ของธุรกิจ ซึ่งเป็นการพิจารณาว่าธุรกิจนั้นมีความสามารถในการสร้างรายได้และกำไรที่มั่นคงอย่างยั่งยืนหรือไม่ ตลาดสินค้าและบริการของธุรกิจดังกล่าวมีภาวะการแข่งขันเป็นอย่างไร ธุรกิจที่เข้ามาขอสินเชื่อจะมีแนวโน้มเติบโตและสามารถคืนเงินกู้ในอนาคตได้หรือไม่ ทั้งนี้ อัตราส่วนสำคัญที่ธนาคารมักพิจารณาคือ Current Ratio หรือ อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียน ที่สะท้อนถึงความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้น
Collateral หลักทรัพย์หรือผู้ค้ำประกัน เพื่อให้ธนาคารมีความมั่นใจในการปล่อยกู้มากขึ้น ธนาคารส่วนใหญ่มักเรียกหลักทรัพย์ค้ำประกันหรือให้มีผู้ค้ำประกันในการขอสินเชื่อ ซึ่งถือเป็นเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงและช่วยให้การปล่อยสินเชื่อมีโอกาสสูงขึ้น
Conditions ปัจจัยที่มีผลต่อความสามารถของกิจการ โดยทั่วไปธนาคารจะเจรจาเงื่อนไขในการปล่อยสินเชื่อกับผู้ขอสินเชื่อ ซึ่งก็จะช่วยให้การปล่อยสินเชื่ออยู่บนเงื่อนไขที่เหมาะสมกับแต่ละกิจการ
“นอกจากหลัก 5C ข้างต้นแล้ว ยังมีอีก 2C ที่ธนาคารมุ่งหวังที่จะเห็นในผู้ประกอบการยุคใหม่ คือ Courage หรือ ความกล้าที่จะออกจาก Comfort Zone ในการสร้างธุรกิจใหม่ ๆ ที่ตอบสนองโลกยุคปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และ Creativity หรือไอเดียในการทำธุรกิจ มีการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ซึ่งผู้ประกอบการที่มีความรู้ความเข้าใจหลัก 5C+2C จะถือได้ว่ามีแต้มต่อในการเข้าไปขอสินเชื่อกับธนาคารได้อย่างมั่นใจมากขึ้น” ดร.รักษ์ กล่าว
กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวอีกว่า นอกจากมีความเข้าใจในหลักการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงินแล้ว อีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่ SMEs ควรมีความเข้าใจคือ การอ่านทิศทางตลาดและความต้องการขอผู้บริโภคเพื่อที่จะไม่ตกเทรนด์ สามารถต่อยอดการเติบโตของธุรกิจได้อย่างยั่งยืน พร้อมยกตัวอย่างถึง 3 ตลาดมาแรงและ SMEs ไทยมีศักยภาพที่จะเข้าไปแข่งขันได้ ได้แก่
1. ตลาดคนรักษ์โลก ที่มีมูลค่าสูงโดยเฉพาะตลาดการจัดการธุรกิจให้มีความยั่งยืน โดย Fortune Business Insights คาดการณ์ว่า ตลาดนี้มีแนวโน้มเติบโตสูงอยู่ที่ราว 22.4% ต่อปีในช่วงปี 2567–2575 (CAGR) จาก 20,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2567 เป็น 105,260 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2575 ตัวอย่างของสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์คนรักษ์โลก ได้แก่ สินค้ารีไซเคิล, อาหาร Plant-based และการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Eco-tourism)
2. ตลาดผู้สูงวัย องค์การอนามัยโลก (World Health Organization) คาดว่าภายในปี 2573 หรืออีก 6 ปีข้างหน้า โลกจะมีผู้สูงอายุ (อายุมากกว่า 60 ปี) มากถึง 1 ใน 6 ของประชากร โดยเฉพาะในประเทศขนาดใหญ่ เช่น จีน อินเดีย สหรัฐฯ และญี่ปุ่น เป็นต้น ทำให้ผู้สูงวัยจะกลายเป็นอีกหนึ่งกลุ่มผู้บริโภคหลักในอนาคต การผลิตสินค้าที่ตอบโจทย์ผู้สูงวัย เช่น อาหารเคี้ยวง่าย ย่อยง่าย หุ่นยนต์ดูแลผู้สูงอายุ เครื่องช่วยฟัง ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ จึงถือเป็นโอกาสของ SMEs ไทย นอกจากนี้ ควรออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เหมาะสมกับผู้สูงวัยมากขึ้น เช่น เพิ่มขนาดตัวอักษรบนฉลาก เพื่อให้อ่านได้ชัดเจน และสามารถเปิดใช้ผลิตภัณฑ์ได้ง่าย
3. ตลาดฮาลาล เป็นตลาดที่มีขนาดใหญ่ เนื่องจากชาวมุสลิมทั่วโลกมีจำนวนอยู่ถึงราว 2,000 ล้านคน คิดเป็น 1 ใน 4 ของประชากรโลก กระจายอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก เช่น อินโดนีเซีย 243 ล้านคน ปากีสถาน 241 ล้านคน และอินเดีย 200 ล้านคน การผลิตสินค้าและบริการที่ตอบโจทย์ชาวมุสลิม เช่น อาหารฮาลาล เครื่องสำอางฮาลาล และการท่องเที่ยวฮาลาล จึงเป็นโอกาสทางธุรกิจที่สำคัญของผู้ประกอบการไทย
EXIM BANK พร้อมเติมความรู้ โอกาสทางธุรกิจ และเงินทุน สนับสนุนผู้ประกอบการไทยทุกอุตสาหกรรมและทุกขนาด โดยเฉพาะ SMEs ในการปรับธุรกิจให้พร้อมส่งออกและแข่งขันได้ในตลาดโลก สามารถขอคำปรึกษาได้จาก EXIM Contact Center โทร. 0 2169 9999 Facebook Fanpage : EXIM Bank of Thailand