นอนดี…มีรางวัล

0
441
kinyupen

เชื่อไหมว่า “การนอนหลับ” คือการออกกำลังกายรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นอะไรที่ผู้เขียนชอบมากกกกกกก ความสุขในวันหยุดสุดสัปดาห์คือการได้กินอิ่มแล้วนอนหลับพักผ่อนระหว่างวัน ถือว่าเป็นการพิชิตภารกิจสำเร็จลุล่วงตามเป้าหมายของวันนั้นไปโดยปริยาย แต่ความจริงก็คือ การนอนมากไปก็ไม่ดี อันนี้ก็ไม่แนะนำให้ทำตาม ส่วนการนอนหลับให้ดีแล้วมี “รางวัล” นั้นเป็นยังไง กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอชวนผู้อ่านทุกท่านมานอนอ่านเรื่องนี้ไปพร้อมกัน

การเลือกวิธีดูแลสุขภาพของแต่ละคนย่อมแตกต่างกันออกไป ตามความถนัด ความชอบและยุคสมัย บางคนเลือกทานอาหารดีๆ มีประโยชน์ จัดเต็มครบเซ็ททุกวิตามิน A-Z บางคนก็เลือกที่จะออกกำลังกาย เข้ายิม เข้าฟิตเนท เล่นโยคะ เพื่อให้ร่างกายแข็งแรง

แต่หารู้ไม่ว่าการนอนนี่แหละคือหัวใจสำคัญที่สุดของทุกสรรพสิ่ง เพราะสุดท้ายแล้วในแต่ละวัน ร่างกายต้องได้รับพักผ่อน กำจัดของเสียทางความคิด ผลิตฮอร์โมน ให้เวลาร่างกายที่อ่อนล้าได้หยุดพักวัน เหมือนการใช้โทรศัพท์มือถือมาทั้งวัน พอตกค่ำก็ได้เวลาวางลงแล้วชาร์จแบตเตอรี่ให้เต็ม เพราะถ้าหากนอนน้อย อาจก่อให้เกิดผลเสียด้านสุขภาพ ได้แก่ เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ ความดันโลหิตสูง ปัญหาความจำ เพิ่มความเสี่ยงโรคซึมเศร้า การเกิด อุบัติเหตุ ผิวแก่ก่อนไว หรือแม้แต่ แรงขับทางเพศลดลง และที่สำคัญที่สุดในเรื่องนี้คือต้อง “นอนให้ถูก” และ “นอนให้เป็น” ถึงจะเห็นผลเต็มร้อยแบบไม่ต้องรอเลขท้ายสองตัวล่างหรือจะสามตัวบน

นายแพทย์ ตนุพล วิรุฬหการุญ (หมอแอมป์) แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ป้องกัน (Preventive Medicine) กล่าวไว้ในบทความที่ตีพิมพ์อย่างน่าสนใจว่าการนอนหลับ คือสภาวะหนึ่งของร่างกายที่การเคลื่อนไหวและการรับรู้ต่างๆ ลดลงจนเกือบหมด ขณะนอนหลับร่างกายเกิดกระบวนการที่ค่อนข้างซับซ้อนในการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอและส่งเสริมการเจริญเติบโตของร่างกาย  

นายแพทย์ ตนุพล วิรุฬหการุญ (หมอแอมป์) แพทย์ผู้ชำนาญการด้านเวชศาสตร์ป้องกัน (Preventive Medicine)  
Cr : bdmswellness

การนอนที่ดีมีคุณภาพมี 3 องค์ประกอบ คือ

ระยะเวลา (Sleep duration) ผู้ใหญ่ควรนอนให้ได้ 7-9 ชั่วโมงทุกคืน

ความต่อเนื่อง (Sleep continuity) การนอนที่มีคุณภาพต้องมีความต่อเนื่อง ไม่ตื่นระหว่างนอนหลับรวมกันมากกว่า 20 นาที

ความลึก (Sleep depth) หรือการหลับลึก เพื่อให้ร่างกายได้หลั่งสารฮอร์โมนออกมาอย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด

Cr : Dr.Amp Team

“หนึ่งรอบการนอน ซึ่งกินเวลาประมาณ 90 นาที” การนอนในหนึ่งคืนควรมีจำนวนรอบการนอนประมาณ 4-6 รอบ และนอนให้ได้ครบรอบของการนอนหลับ เพื่อให้ตื่นมาสดชื่น ขณะที่เรานอนหลับ ร่างกายกำจัดของเสีย ออกจากสมองจาก ผ่านกระบวนการชำระล้างสมอง (Glymphatic system) กระบวนการดังกล่าวจะทำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดในช่วงของการนอนหลับลึก (Deep Non-REM Sleep) ในช่วงนี้ เซลล์ในสมองจะหดตัวลงไป 60% ทำให้เกิดช่องว่างให้น้ำไขสันหลัง (Cerebrospinal fluid; CSF) ผ่าน เข้าไปชะล้างของเสีย เช่นสารที่มีชื่อว่า เบตาอไมลอยด์ (R-amyloid) เป็นโปรตีนชนิดหนึ่ง ซึ่งเป็นองค์ประกอบหลักของ amyloid plaque สาเหตุสำคัญของการเกิดโรคอัลไซเมอร์ หรือว่าโรคความจำเสื่อม

“การนอนหลับมีความสำคัญกับมนุษย์อย่างมาก คืออาวุธในการสร้างสุขภาพดี ชะลอความชราของร่างกายได้ดีที่สุด ไม่มีขายที่ไหนและไม่มีใครทำแทนให้เราได้”

หมอแอมป์กล่าวปิดท้าย

เพราะฉะนั้น การนอนให้ถูกและนอนให้เป็น ผลที่ได้ก็คือรางวัลกับชีวิตและสุขภาพที่ดีของเรานั่นเอง ZzzZzzz…..

ที่มา

คอลัมน์ สังคมสุขภาพดีกับหมอแอมป์: มหัศจรรย์แห่งการนอนหลับเพื่อสุขภาพดี ชีวิตยืนยาว – กรุงเทพธุรกิจ

Facebook Page : DrAmp Team

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here