บพท.เปิดเวทีพหุภาคี จับมือเครือข่ายมหาวิทยาลัย แก้ปัญหาความยากจนแบบยั่งยืน 

0
388
kinyupen

บพท.เปิดเวทีพหุภาคี จับมือเครือข่ายมหาวิทยาลัย แก้ปัญหาความยากจนแบบยั่งยืน  เผยข้อมูลคนจนล่าสุดทะลุล้านคน  เผยชื่อ 20 จังหวัดนำร่องแก้โดยด่วน “ศรีสะเกษ” แชมป์  ตามด้วย “ปัตตานี-แม่ฮ่องสอน” มึนข้อมูลยังไม่เป๊ะ เจอ “จนตกหล่น-จนรั่วไหล”

เมื่อวันที่ 26 มิถุนายน 2566 หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านวิจัยระดับพื้นที่ (บพท.) ได้จัดงานสัมมนาพหุภาคี “สู้ชนะความจน บนฐานพลังความรู้ พลังภาคี”

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ บพท.กล่าวว่า การจัดสัมมนาครั้งนี้ เป็นการบูรณาการความรู้ ประสบการณ์ ตลอดจนความร่วมมือจากพหุภาคี เพื่อพาประเทศออกจากหลุมดำความยากจน และตอบโจทย์วาระระดับโลกขององค์การสหประชาชาติว่าด้วยการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) 17 ข้อ ที่มีประเด็นการกำจัดความยากจน และความหิวโหย เป็นข้อหลักรวมอยู่ด้วย

ดร.กิตติ กล่าวว่า ปัญหาความยากจนเป็นปัญหาใหญ่ที่กัดกร่อนรากฐานความมั่นคงของสังคมไทยมายาวนาน จากข้อมูลคนจนจากระบบ TPMAP (Thai People Map and Analytics Platform) หรือระบบบริหารจัดการข้อมูลการพัฒนาคนแบบชี้เป้า ของศูนย์อำนวยการขจัดความยากจนและพัฒนาคนทุกช่วงวัยอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง (ศจพ.) ซึ่งข้อมูล ณ วันที่ 3 มกราคม 2565 พบว่า มีคนจนกระจายอยู่ใน 77 จังหวัดทั่วประเทศ รวม 1,025,782 คน

ขณะที่ข้อมูลคนจนในระบบข้อมูลครัวเรือนยากจน (PPPConnext) ของ บพท.พบว่า ณ วันที่ 13 มิถุนายน 2566 มีจำนวนคนจนในพื้นที่ 20 จังหวัด คือ แม่ฮ่องสอน ลำปาง พิษณุโลก เลย สกลนคร มุกดาหาร ศรีสะเกษ นครราชสีมา อำนาจเจริญ อุบลราชธานี ร้อยเอ็ด กาฬสินธุ์ ยโสธร บุรีรัมย์ สุรินทร์ ชัยนาท พัทลุง ยะลา ปัตตานี และนราธิวาส รวมกัน 1,039,584 คน  โดยจากการสำรวจ พบว่า จังหวัดที่มีครัวเรือนยากจนมากที่สุด 3 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดศรีสะเกษ จำนวน 19,261 ครัวเรือน รองลงมา คือ ปัตตานี 19,005 ครัวเรือน  และแม่ฮ่องสอน 17,138 ครัวเรือน

ในพื้นที่ 20 จังหวัดดังกล่าวถือเป็นจังหวัดที่มีรายได้ภาคครัวเรือนต่ำที่สุด และนำมาเป็นพื้นที่นำร่อง ในการประสานการทำงานร่วมกันระหว่าง บตท. กับเครือข่ายมหาวิทยาลัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่ 18 แห่ง เช่น มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี  มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ และมหาวิทยาลัยราชภัฏในพื้นที่จังหวัดเหล่านี้ เป็นต้น

โดยแผนงานขจัดความยากจนและยกระดับฐานะทางสังคม จะเริ่มจากการแสวงหาคำตอบจากคำถาม 3 ข้อ คือ

 1.คนยากจนที่แท้จริงเป็นใครอยู่ที่ไหน

2.จนด้วยสาเหตุอะไร

3.จะเข้าไปช่วยเหลือให้หายจนอย่างเบ็ดเสร็จและยั่งยืนได้อย่างไร

อย่างไรก็ตาม ผลการขับเคลื่อนในระยะที่ผ่านมา ช่วงโควิด-19 ที่กินระยะเวลานาน 3 ปี ส่งผลให้จำนวนคนจนมีเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1.5 ล้านคน  ขณะเดียวกัน ในส่วนของข้อมูลครัวเรือนยากจนของระบบ TPMAP และ PPPConnext  ยังมีข้อมูลที่มีทั้ง 2 ฐาน และข้อมูลที่เหลื่อมกันอยู่ อีกทั้งการสำรวจพบครัวเรือนตกหล่น (Exclusion Error) หมายถึงคนจนที่ขาดทั้งทุนกายภาพ ทุนทางสังคม อีกทั้งเข้าไม่ถึงสังคม  ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และข้อมูลคนจนรั่วไหล (Inclusion Error)  หรือคนจนเทียม ได้แก่ คนที่คนในชุมชนระบุว่า ไม่จนจริงเข้ามาอยู่ในระบบ

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here