ตั้งรับกลโกง เก็บเงินปลายทาง

0
324
kinyupen

เดี๋ยวนี้จะกินอะไร จะสั่งซื้ออะไรมันก็ง่ายไปซะหมด ไม่จำเป็นต้องเดินทางไปซื้อถึงที่ก็มีพัสดุมาส่งกดกริ่ง กริ๊งๆ อยู่หน้าประตูบ้านเราแล้ว ยิ่งช่วงปลายเดือนอาจจะมือกด F หนักไปหน่อย แต่อย่าลืมว่า ท่ามกลางความสะดวกสบายนี้ มันยังมี “มิจฉาชีพ” ซ่อนอยู่ที่ชื่อว่า “เก็บเงินปลายทาง” ที่ยังคงแวะเวียนมาหลอกหลอนให้เห็นกันอยู่เนืองๆ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอชวนทุกท่านมาอัพเดทเรื่องนี้เพิ่มเติมกันดีกว่า

ปัจจุบบันการสั่งสินค้า/พัสดุจากร้านค้าออนไลน์มีหลากหลายรูปแบบมาก ทั้งการโอนเงิน แนบสลิป แล้วรอรับสินค้าอยู่บ้านได้เลย หรือบางร้านที่อยากเน้นเพิ่มยอดขายก็อาจมีเพิ่มบริการ “เก็บเงินปลายทาง” เพื่ออำนายความสะดวกให้ลูกค้าหลายๆท่าน ยังไม่สะดวกโอนในช่วงเวลานั้นๆ หรือกำลังรอเงินอยู่

หากสังเกตกันให้ดีในโลกออนไลน์ก็มีการแชร์ประสบการณ์ รีวิวกับการสั่งสินค้าแบบเก็บเงินปลายทาง ทั้งด้านที่ดี และด้านที่ไม่ดี แต่เรามักจะเจอด้านที่ไม่ดีมากกว่า ไม่ว่าจะมาจากทางร้านเองหรือเป็นที่ผู้รับสินค้า เช่น สินค้ามีตำหนิ หรือไม่ตรงการโฆษณา (ไม่ตรงปก) สินค้าเสียหายจากการขนส่ง หรือที่แย่ที่สุดคือการโดนหลอกให้จ่ายเงินปลายทาง (จากร้านค้ามิจฉาชีพ) โดยได้รับสินค้าที่สุดแสนจะประหลาด ไม่ว่าจะเป็น ก้อนหิน ขวดน้ำหรือแม้แต่มะม่วงก็ยังมี

ซึ่งภัยรูปแบบนี้ยังคงวนเวียนให้เราได้เห็นจนถึงปัจจุบันคือ จะมีสินค้าปริศนาส่งมาถึงหน้าบ้าน โดยมักจะเป็นการเก็บเงินปลายทาง โดยที่ผู้รับไม่สามารถเปิดดูสินค้า/พัสดุนั้นก่อนได้ หากยังไม่ทำการจ่ายเงิน ซึ่งสินค้าหลายๆอย่างเป็นสินค้าที่เราไม่ได้กดสั่งแต่อย่างใด บางบ้านอาจมีผู้สูงอายุที่อาจไม่ทราบข้อมูล ซึ่งคิดไปได้ว่า อาจมีบุคคลในบ้านเป็นผู้สั่ง โดยทำการชำระเงินไปให้ก่อน ซึ่งความเนียนและกลโกงพวกมิจฉาชีพเหล่านี้คือ สามารถระบุชื่อ ที่อยู่ และเบอร์โทรศัพท์ของเราได้อย่างถูกต้อง ซึ่งเราเองก็ไม่รู้เลยว่าเหล่ามิจฉาชีพเหล่านี้ ได้ข้อมูลส่วนนี้มาจากไหน ??

วิธีตั้งรับกลโกง “พัสดุเก็บเงินปลายทางปริศนา” สามารถทำได้โดย

  1. เช็ครายละเอียดจากหน้าซองว่าเป็นร้านค้าที่เราได้สั่งสินค้าหรือไม่
  2. ตรวจสอบเลขออเดอร์จากร้านค้าที่ส่งให้ทาง sms หรือแชทแบบ Messsenger ในกรณีที่ร้านค้าไม่ได้ออก Tracking Number ให้นั้น สามารถตรวจสอบจากชื่อผู้ส่งว่าเป็นบัญชีเดียวกับทางร้านหรือไม่
  3. โทรสอบถามไปยังร้านค้าเพื่อตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง (หากไม่แน่ใจ) เช็คจำนวนตัวเลขเบอร์โทร/ชื่อถูกต้อง ครบถ้วนหรือไม่
  4. ในกรณีที่มีบุคคลอื่นรับสินค้า/พัสดุให้ เช่น พ่อแม่ หรือผู้สูงอายุ ให้โทรเช็คกับเจ้าของพัสดุว่าเป็นของตนหรือไม่และตรวจสอบยอดเงินที่เรียกเก็บให้ตรงกัน
  5. ในกรณีที่มั่นใจว่าไม่ได้เป็นผู้สั่ง สามารถปฎิเสธการรับได้ โดยสินค้านั้นจะตีกลับไปยังต้นทางต่อไป

สุดท้ายนี้อยากฝากนักช็อปออนไลน์ทุกท่านไว้ว่าให้ช็อปอย่างมีสติ ตรวจสอบก่อนรับและ F อย่างมีเหตุผล F อย่างรู้ตัวตน และทุกคนจะไม่ตกเป็นเครื่องมือของ “น้องมิจ” ต่อไป

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here