หนี้ครัวเรือนไทย ทะลัก 15.09 ล้านล้านบาท  ชี้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย 

0
399
kinyupen

หนี้ครัวเรือนไทย ทะลัก 15.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5% คิดเป็นสัดส่วน 86.9% ต่อจีดีพี สศช.ห่วงสินเชื่อรถส่งสัญญาณเพิ่มต่อเนื่อง ชี้ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงภาวะสังคมไทยไตรมาส1/2566 ว่าหนี้ครัวเรือนในไตรมาส 4/2565 มีมูลค่า 15.09 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.5%จากไตรมาสที่ผ่านมาถือว่าเป็นการเพิ่มขึ้นในอัตราที่ชะลอลง และสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อจีดีพีลดลงเหลือ 86.9% ตามการขยายตัวของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น ขณะที่ สินเชื่อยานยนต์ยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จึงต้องจับตาดูเป็นพิเศษ เพราะได้เพิ่มขึ้นจาก 13.1 % ในไตรมาส 2/2565 เพิ่มเป็น 13.6 % ในไตรมาส 3 เพิ่มเป็น 13.7 % ในปี 2565

 อย่างไรก็ตาม เมื่อดูจากระดับหนี้ครัวเรือนที่ปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยเพิ่มขึ้นจากข้อมูลในไตรมาสก่อนที่มีระดับหนี้ครัวเรือนอยู่ที่ 14.91 ล้านล้านบาท เพิ่มมาเป็น 15.09 ล้านล้านบาท ทำให้เห็นถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยที่ยังไม่ได้ปรับตัวลดลง โดยเฉพาะหนี้สินเชื่อส่วนบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ที่ยังมีมูลค่าสูง และมีบัญชีหนี้เสียยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งปัญหาของหนี้ครัวเรือนจะเป็นปัญหาในการฉุดรั้งการใช้จ่ายของประชาชนและฉุดรั้งการเติบโตของเศรษฐกิจ

“ปัญหาหนี้ครัวเรือนยังเป็นเรื่องที่น่ากังวลและจะเป็นระเบิดเวลาที่เกิดขึ้นได้ในระยะต่อไป และเป็นความท้าทายของทุกรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลต่อไปต้องให้ความสำคัญและเฝ้าระวัง เพราะที่ผ่านมาแม้จะมีการแก้ปัญหาเรื่องนี้มาต่อเนื่องแต่หนี้ครัวเรือนก็ยังเพิ่มขึ้น”

ขณะนี้เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ เศรษฐกิจยังเดินไปได้แบบนี้ การจ้างงานยังเดินไปแบบนี้ ระเบิดเวลาก็ยังไม่ระเบิด แต่ถ้าเศรษฐกิจไม่ขยายตัว เจอกับปัญหาให้หยุดชะงักก็มีความเสี่ยง ซึ่งในส่วนนี้ต้องดูทั้งเรื่องของมาตรการที่ต้องทำต่อเนื่อง เช่น การปรับโครงสร้างหนี้ ควบคู่ไปกับการดูแลการใช้จ่ายที่ประชาชนต้องมีวินัยการเงินของตัวเองไม่ให้ใช้จ่ายจนเกินตัว ต้องลดละเลิก ขณะที่ธนาคาร สถาบันการเงินก็ไม่ควรออกแคมเปญในการกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิต หรือบัตรกดเงินสดมากเกินไป มีส่วนทำให้คนเสียวินัยการเงิน

สำหรับสถานการณ์แรงงานของประเทศไทยไตรมาสที่ 1/66 สถานการณ์แรงงานปรับตัวดีขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมีการจ้างงาน 39.6 ล้านคน ขยายตัว 2.4% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งเป็นผลมาจากการจ้างงานทั้งในและนอกภาคเกษตรที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น 

ส่วนอัตราว่างงานลดลงเหลือ 1.05% โดยมีผู้ว่างงานอยู่ที่ 4.6 แสนคน โดยการขาดแคลนแรงงานยังอยู่ในกลุ่มแรงงานดิจิทัล และไอที ซึ่งมีความต้องการแรงงานมากขึ้น 2 – 3 หมื่นตำแหน่ง แต่ยังมีผู้จบการศึกษาในด้านนี้ไม่เพียงพอ นอกจากนี้ยังต้องจับตาการจ้างงานในภาคเกษตรที่จะได้รับผลกระทบจากปรากฎการณ์แอลนีโญที่ทำให้ผลผลิตทางเกษตรเสียหาย

สำหรับเรื่องนโยบายการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำที่เป็นนโยบายของพรรคก้าวไกลที่จะปรับขึ้น 450 บาททันทีนั้นเลขาธิการ สศช.กล่าวว่า การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำมีทั้งผลดีและผลเสีย โดยผลเสียคือการเพิ่มต้นทุนของผู้ประกอบการโดยต้นทุนในเรื่องของค่าแรงนั้นบางส่วนอาจเป็นต้นทุนที่ผู้ผลิตส่งต่อไปยังราคาสินค้า และเป็นภาระกับผู้บริโภคต่อไปได้ 

 ขณะเดียวกันต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในส่วนของค่าแรงขั้นต่ำอาจทำให้นักลงทุนที่กำลังตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยย้ายไปลงทุนในประเทศอื่นๆ เพราะต้นทุนจากค่าแรงนั้นเป็นหนึ่งในองค์ประกอบที่นักลงทุนใช้ตัดสินใจและเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆว่าจะตั้งโรงงาน และฐานการผลิตในประเทศใด

 นายดนุชากล่าวถึงสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้ว่า จำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันสร้างบรรยากาศทางการเมืองให้เอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ โดยขณะนี้เศรษฐกิจภายในประเทศสามารถขยายตัวไปได้ดีและกำลังฟื้นตัวจากสถานการณ์โควิด-19 ดังนั้นหากไม่เกิดความขัดแย้งทางการเมือง เศรษฐกิจก็สามารถที่จะเดินหน้าต่อไปได้  ซึ่งมีความสำคัญมากในช่วงที่สถานการณ์ภายนอกประเทศเศรษฐกิจโลกมีความผันผวนไม่แน่นอนสูงและมีความเสี่ยงจากปัจจัยเรื่องภูมิรัฐศาสตร์ที่มีความขัดแย้งกัน

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here