คาร์บอนเครดิต  สิ่งที่องค์กรภาคธุรกิจไม่อาจมองข้าม

0
409
kinyupen

สิ่งที่จะมีความสำคัญกับองค์กรภาคธุรกิจมากขึ้นเรื่อยๆ นับจากนี้ คือ การทำธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อม คำนึงถึงภาวะโลกร้อน หรือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

แม้จะไม่ได้สมัครใจ หรือไม่ได้อยู่ในความสนใจ  หากแต่ในอนาคต สภาพการณ์ทั้งหลายจะบีบบังคับด้วยกฎเกณฑ์ทางการค้าระดับประเทศ มาตรการการส่งออก ภาษีต่างๆ กระทั่งการมีกฎหมายที่มีสภาพบังคับที่ชัดเจน

สำหรับการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ หรือโลกร้อน  องค์กรภาคธุรกิจต่างๆ จะต้องมาโฟกัสกับ คำว่า คาร์บอนเครดิต

เพราะต่อไปจะยิ่งทวีความสำคัญขึ้นเรื่อยๆ

คาร์บอนเครดิตคืออะไร

องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) อธิบายว่า   คาร์บอนเครดิต หมายถึง สิทธิที่เกิดจากการลดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม  อันเนื่องมาจากการที่บุคคลหรือองค์กรได้ดำเนินโครงการหรือมาตรการที่มีเป้าหมาย เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือก๊าซเรือนกระจกสู่สิ่งแวดล้อม

กล่าวให้เข้าใจง่ายขึ้น ก็คือ ก๊าซที่ทำให้เกิดปฏิกิริยาเรือนกระจก (จำนวนคาร์บอน) ที่แต่ละองค์กรสามารถลดได้ต่อปี และหากปล่อยคาร์บอนน้อยกว่าเกณฑ์ จะถูกตีราคาเป็นเงิน ก่อนจะถูกขายเป็นเครดิตให้กับองค์กรอื่นได้

ยกตัวอย่างเช่น  บริษัทกรีนกรีน จำกัด ทำโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา 100 หน่วย แต่มาตรฐานของอุตสาหกรรมนี้ ถูกหนดไว้ว่า ต้องปล่อยไม่เกิน 80 หน่วย แสดงว่า บริษัทนี้ ติดลบอยู่ 20 หน่วย ซึ่งต่อไปอาจจะมีกฎหมายมากำหนดว่า ถ้าเกินแบบนี้ ต้องเสียภาษีสูงขึ้น หรือถูกกีดกันทางการค้าระหว่างประเทศ

ทางแก้คือก็ต้องซื้อคาร์บอนเครดิตมาชดเชยอีก 20 หน่วย

ในทางกลับกัน อีกบริษัทหนึ่ง คือบริษัทสกายสกาย จำกัด ทำโรงงานอุตสาหกรรม แต่มีระบบจัดการที่ดี  ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศเพียง 60 หน่วย ทั้งที่มาตรฐานของอุตสาหกรรมประเภทที่บริษัทสกายสกาย ทำ กำหนดไว้ว่า ปล่อยได้ไม่เกิน 100 หน่วย นั่นคือ บริษัทสกายสกาย มีคาร์บอนเครดิตเหลือ 40 หน่วย    ซึ่ง 40 หน่วยนี้นำไปขายได้

ทั้งนี้การกำหนดปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในแต่ละอุตสาหกรรม การคำนวณปริมาณคาร์บอน การกำหนดราคาซื้อขาย มีหน่วยงานที่รับผิดชอบในปัจจุบัน คือองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์กรมหาชน) เป็นหน่วยงานที่ให้การรับรองโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (Thailand Voluntary Emission Reduction: T-VER)

นอกจากนี้ แหล่งคาร์บอนเครดิต อาจจะมาจากอีกแหล่งคือ การปลูกต้นไม้

เช่น ในพื้นที่ 1 ไร่ ปลูกไม้ยืนต้นกี่ต้น(อาจจะต้องเป็นไม้ยืนต้นในประเภทที่กำหนด)  สูงเท่าไหร่ เส้นรอบวงเท่าไหร่  จากนั้น ก็ให้หน่วยงานข้างต้น มาคำนวณแล้วออกใบรับรองให้ว่า ในแต่ละปีจะสามารถดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์ได้กี่หน่วย ซึ่งจำนวนหน่วยที่ว่าสามารถนำไปขายได้ (เช่น ขายให้กับภาคอุตสาหกรรมที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เกินมาตรฐาน และไม่ต้องการมีปัญหาภาระภาษี หรือไม่ต้องการถูกกีดกันทางการค้าในระดับสากล เป็นต้น )

สุดท้ายนี้ เพื่อความชัดเจน ในการกำหนดกฎเกณฑ์และแบบแผนการปฏิบัติต่าง ๆ สำหรับประเทศไทยเอง  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ก็อยู่ระหว่าง เร่งจัดทำร่าง พ.ร.บ.การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (พ.ร.บ.โลกร้อน) พ.ศ. ….ขณะนี้ อยู่ในขั้นตอนการนำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาเห็นชอบภายในปี 2566  ซึ่งเป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง จะต้องคอยอัพเดทข้อมูลข่าวสารกันต่อไป

คาร์บอนเครดิตกำลังจำเป็นและมีบทบาทสำคัญ ถึงขั้นหลายบริษัทมองเห็นโอกาสในการทำธุรกิจ ผลิตคาร์บอนเครดิตสำหรับขาย และมีแนวโน้มขายคาร์บอนเครดิตเป็นรายได้หลักเลยทีเดียว

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here