“ยามไหน” ที่ร่างกายอยากได้การดูแล ฉบับแพทย์แผนจีน

0
740
kinyupen

ทุกคนเชื่อไหมคะว่า ในแต่ละช่วงเวลาของวัน ร่างกายเราจะมีปฏิกิริยาตอบสนองที่แตกต่างกันออกไป ดังนั้น จะดีกว่าไหม ถ้าเราดูแลร่างกายได้ถูกช่วงเวลาพอดี กินอยู่เป็น 360  องศาแห่งการใช้ชีวิต มีเรื่องราวของศาสตร์จีนที่เกี่ยวข้องกับการดูแลสุขภาพในแต่ช่วงเวลามาฝากทุกคนค่ะ

การเกิดแก่เจ็บตายล้วนเป็นสัจธรรมที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แทนที่จะฝืนธรรมชาตินอนดึกตื่นสายกินนอนไม่เป็นเวลาใช้ชีวิตตามอำเภอใจโดยไม่ฟังเสียงร่างกายตัวเองลองหันมาเรียนรู้และเข้าใจ “นาฬิกาชีวิตแห่งธรรมชาติ” แล้วคุณจะค้นพบกุญแจสู่การมีสุขภาพที่ดีแบบยั่งยืน

นอนพักกลางวันสักงีบ วันละ 15-30 นาที ในช่วง “ยามอู่” เวลาระหว่าง 11.00-13.00น. เพื่อช่วยบำรุง “หัวใจ” ทำให้สมองได้พักและเพิ่มความสดชื่นให้ร่างกาย เพราะเป็นเวลาที่เส้นลมปราณของหัวใจทำหน้าที่อย่างแข็งขัน

“ยามเว่ย” ช่วงเวลาระหว่าง 13.00-15.00 น. เป็นเวลาย่อยและดูดซึมสารอาหารกับน้ำของ “ลำไส้เล็ก” โดยอาศัยม้ามส่งไปยังหัวใจและปอดเพื่อเลี้ยงร่างกายกากอาหารจะถูกส่งไปยังลำไส้ใหญ่โดยน้ำจะดูดซึมและขับออกไปที่กระเพาะปัสสาวะ ยามเว่ยนี้จะเป็นช่วงเวลาที่ลำไส้เล็กทำงานได้ดีที่สุด ฉะนั้นไม่ควรทานอาหารกลางวันเกินบ่ายโมง เผื่อเวลาสำหรับการย่อยและการดูดซึม

“ยามเซิน” ช่วงเวลาระหว่าง 15.00-17.00 น. เป็นเวลาที่เส้นลมปราณของ “กระเพาะปัสสาวะ” ทำหน้าที่จึงเหมาะเจาะที่สุดที่จะดื่มน้ำและขับถ่ายปัสสาวะโดยเฉพาะเวลา 17.00 น. จะเป็นช่วงที่หลอดเลือดหัวใจและกล้ามเนื้อในร่างกายมีความแข็งแรงที่สุด จึงเหมาะแก่การออกกำลังกายแต่ไม่ควรออกกำลังกายหนักๆ เพราะจะทำให้นอนไม่หลับ ลองเดินช้าๆ

“ยามโหย่ว” ช่วงเวลาระหว่าง 17.00-19.00 น. หลีกเลี่ยงอาหารเค็มเพราะเป็นเวลาที่เส้นลมปราณของ “ไต” ทำงานแข็งขัน ไตจะเก็บสะสมสารจำเป็นแต่กำเนิดซึ่งได้รับถ่ายทอดจากพ่อแม่มาเก็บไว้ โดยสารจิงชี่จะควบคุมการเจริญเติบโตและความสามารถในการสืบพันธุ์ ในช่วงยามโหย่วควรรับประทานอาหารที่มีรสจืดและหลีกเลี่ยงอาหารเค็ม

“ยามซวี “ช่วงเวลาระหว่าง 19.00-21.00 น. เป็นเวลาทำงานของ “เยื่อหุ้มหัวใจ” เพื่อปกป้องหัวใจและการรุกรานจากภายนอก ในยามซวีเส้นลมปราณของเยื่อหุ้มหัวใจและเส้นประสาทสมองจะทำงานได้ดีที่สุด จึงไม่ควรรับประทานอาหารมื้อเย็นจนอิ่มเกินไป และหลังอาหารเย็นถือเป็นช่วงเวลาของการผ่อนคลายทั้งทางร่างกายและทางอารมณ์ควรรักษาอารมณ์ให้ดีอยู่เสมอ รีแลกซ์ด้วยการฟังเพลงและอ่านหนังสือ เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการเข้านอนอย่างมีคุณภาพ

“ยามไฮ่” ช่วงเวลาระหว่าง 21.00-23.00 น. เป็นเวลาทำงานของ “ซานเจียว” ประกอบด้วยระบบหายใจ ระบบย่อยอาหารและระบบขับถ่าย โดยซานเจียวจะทำหน้าที่เป็นทางผ่านของชี่และน้ำจะเกี่ยวข้องกับการทำงานของอวัยวะต่างๆทั่วร่างกายเป็นช่วงที่ร่างกายปรับสมดุลความร้อนและอุณหภูมิในร่างกายจะค่อยๆลดลง ยามไฮ่นี้ร่างกายจะเริ่มหลั่งเมลาโทนิน ควรเตรียมตัวให้พร้อมสำหรับการนอนหลับพักผ่อนหากเป็นไปได้ควรแช่เท้าด้วยน้ำอุ่นประมาณ 20 นาที เพื่อให้เหงื่อออกเล็กน้อย จะช่วยให้ชี่และระบบเลือดไหลเวียนสะดวกทำให้ร่างกายที่ทำงานหนักมาทั้งวันได้พักผ่อนและช่วยให้นอนหลับเต็มที่สุขภาพร่างกายจะแข็งแรง

นอกจากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้สอดคล้องกับนาฬิกาชีวิตแล้ว การเลือกรับประทานอาหารให้เหมาะสมและมีความสมดุลก็ถือเป็นเคล็ดลับของการสร้างสุขภาพที่ดีอย่างยั่งยืนตามศาสตร์การแพทย์แผนจีนเชื่อว่า การทานเค็มมากเกินไป ทำให้เลือดไหลเวียนติดขัด, การทานเผ็ดมากเกินไป ทำให้เส้นเอ็นตึง เล็บแห้งเปราะบาง, การทานขมมากเกินไป ส่งผลให้ผิวแห้ง ผิวหมองคล้ำ ผมหลุดร่วงง่าย, การทานเปรี้ยวมากเกินไป ทำให้ผิวหนังเหี่ยวย่นและการทานหวานมากเกินไป ทำให้ปวดตามกระดูกและผมร่วงสำคัญที่สุดคือไม่ควรทานจนอิ่มเกินไปหรือปล่อยให้หิวเกินไปเพราะจะทำให้ร่างกายขาดการหล่อเลี้ยงและบำรุงส่งผลให้การทำงานของอวัยวะต่างๆถดถอยในทางกลับกันถ้าทานอิ่มเกินไปจะทำให้กระเพาะอาหารและลำไส้รับภาระหนักเกินไปมีอาหารตกค้างและหมักหมม ระบบอาหารย่อยไม่ดี เสี่ยงเกิดโรคร้ายตามมามากมายให้ถือคติ “มื้อเช้ากินอย่างราชา มื้อกลางวันกินให้อิ่มแค่พอดี และมื้อเย็นกินน้อยๆ เพื่อชีวิตยืนยาว”.

ที่มา:  นสพ.ไทยรัฐ ฉบับวันที่ 14 ม.ค. 2566

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here