ผู้สูงอายุเดิน 6,000 ก้าว/วัน ช่วยป้องกันโรคหัวใจและหลอดเลือด

0
450
kinyupen

มีเอกสารงานวิจัยออกมาค่ะว่า “การเดิน” สามารถช่วยลดการเกิดโรคภัยได้ เพราะการเดินคือการออกกำลังกายรูปแบบหนึ่ง ซึ่งจำนวนก้าวในการเดินก็มีความสัมพันธ์กันในแต่ละช่วงอายุ ดังนั้น กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต จึงขอนำสาระความรู้ เรื่องการเดินมาแบ่งปันให้ทุกคนได้ทราบกันค่ะ

นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยถึงผลการวิจัยจากวารสาร The Lancet โดย Assistant Professor Amanda Paluch และคณะ ซึ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างจำนวนก้าวเดินในแต่ละวันกับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โดยวิเคราะห์ข้อมูลจาก 8 การวิจัยขนาดใหญ่ใน 40 ประเทศทั่วโลก โดยติดตามจำนวนก้าวเดินของผู้ใหญ่ อายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 20,152 คน เริ่มตั้งแต่ยังไม่เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด เป็นระยะเวลาเฉลี่ย 6 ปี

โดยเปรียบเทียบผู้ที่มีการก้าวเดินจำนวน 2,000 ก้าวต่อวัน กับผู้ที่เดิน 4,000 ก้าว 6,000 ก้าว และ 9,000 ก้าวต่อวัน พบว่า จำนวนก้าวต่อวันสามารถช่วยลดการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดในผู้สูงอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป ได้ร้อยละ 20 , 38 และ 49 ตามลำดับ (Hazard ratio = 0.80, 0.62 และ 0.51) อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ มีการควบคุมปัจจัยร่วมอื่นๆ เช่น อายุ เพศ การศึกษา รายได้ ดัชนีมวลกาย การสูบบุหรี่ การดื่มแอลกอฮอล์ ภาวะความดันโลหิตสูง เบาหวาน เป็นต้น

ด้านนายแพทย์อุดม อัศวุตมางกุร ผู้อำนวยการกองกิจกรรมทางกายเพื่อสุขภาพ กล่าวว่า ผลการวิจัยนี้สอดคล้องกับข้อแนะนำการก้าวเดินของประเทศไทย ภายใต้แผนการส่งเสริมกิจกรรมทางกาย พ.ศ.2561-2573 โดยความร่วมมือของกระทรวงสาธารณสุข เครือข่ายคนไทยไร้พุง โรงพยาบาลรามาธิบดี คณะกายภาพบำบัด มหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น ที่แนะนำให้ผู้สูงอายุเดินให้ได้อย่างน้อยวันละ 5,000 ก้าว เพื่อป้องกันการหกล้ม เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อให้ทรงตัวดีขึ้น และหากมีการเดินเพิ่มมากขึ้นเป็นวันละ 7,000 – 10,000 ก้าว จะช่วยป้องกันโรคไม่ติดต่อ และเพิ่มสมรรถภาพทางกายให้ดีขึ้น ช่วยให้ผู้สูงอายุมีการเคลื่อนไหวที่ดี ป้องกันการหกล้ม ใช้ชีวิตอย่างกระฉับกระเฉง ช่วยเหลือตนเองได้ และเป็นผู้สูงอายุที่มีคุณภาพชีวิตที่ดีต่อไป 

ขอบคุณข้อมูลจาก : Facebook Fanpage ข่าวสารสูงวัย

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here