เริ่มแล้วสำหรับการการประชุม APEC 2022 Thailand ซึ่งปีนี้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพและพร้อมเปิดประตูต้อนรับผู้นำ ตัวแทนผู้นำอย่างเป็นทางการ ในวันที่ 16-19 พ.ย.2565 หนึ่งในไฮไลท์ของการเป็นเจ้าภาพของไทยในปี 2565 คือ งานเปิดตัวโลโก้ APEC ที่ห้างไอคอนสยาม เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดย “กระทรวงการต่างประเทศ” ได้เผยโฉมภาพโลโก้ “ชะลอม” ที่มาเป็นตราสัญลักษณ์ในปีที่ไทยเป็นเจ้าภาพการประชุม #APEC2022Thailand ในครั้งนี้ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต ขอนำทุกท่านมาทำความรู้จักกับตราสัญลักษณ์ในครั้งนี้เพิ่มเติมกันค่ะ
เมื่อเราพูดถึง “ชะลอม” เป็นเครื่องจักสานของไทย ใช้เป็นภาชนะใส่สิ่งของต่างๆ และเป็นสิ่งของสัญลักษณ์การค้าขายของไทยมาแต่โบราณ ซึ่งตราสัญลักษณ์การประชุม APEC 2022 ที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพปี 2565 นั้น เป็นผลงานรางวัลชนะเลิศจากการประกวดออกแบบตราสัญลักษณ์โดยกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อสร้างการมีส่วนร่วมของเยาวชน ซึ่งผู้ออกแบบคือ “คุณชวนนท์ วงศ์ตระกูลจง” นิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับแรงบันดาลใจมาจาก “ชะลอม” เครื่องจักสานไทยใช้ใส่สิ่งของในการเดินทางหรือนำไปมอบกับบุคคลที่ให้ความเคารพในสังคมไทย ถูกส่งต่อรุ่นสู่รุ่นจวบจนปัจจุบัน
คุณชวนนท์ เล่าถึงที่มาของการออกแบบตราสัญลักษณ์ APEC ว่า เมื่อพิจารณาดูสิ่งที่มีอยู่แล้วรอบตัว ถ้าพูดถึงอาหารก็จะนึกถึงต้มยำกุ้งหรือถ้าเป็นการเดินทางก็นึกถึงรถตุ๊กตุ๊ก แล้วอะไรจะเป็นตัวแทนสัญลักษณ์ที่สะท้อนภาพเศรษฐกิจไทยได้ดีในยุคที่ทั่วโลกให้ความสำคัญกับการค้าและเศรษฐกิจสีเขียว
นี่เป็นโจทย์ท้าทายให้ผมลงมือทำการบ้านและศึกษาเป็นเวลาหนึ่งเดือนเต็ม จนได้มาพบกับความหมายของชะลอม ปัจจุบันยังพอมีให้เห็นตามร้านขายของฝาก ซึ่งนำมาใช้แทนถุงใส่สินค้าอย่างผลไม้ ขนม และสิ่งของต่างๆ ซึ่งดูเข้ากับเทรนด์ตอนนี้ที่หลายคนต้องการหยุดใช้พลาสติกเพื่อลดโลกร้อน เมื่อพิจารณาเส้นตอกไม้ไผ่ที่สอดประสานกันทั้งแข็งแรงและยืดหยุ่น เหนียวแน่นและคงทน โอบอุ้มเศรษฐกิจภูมิภาคให้ “มั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน” หากแต่เส้นตอกไม้ไผ่สานกันเป็นชะลอม 21 ช่อง สื่อถึง 21 เขตเศรษฐกิจสมาชิก APEC
“ชะลอม” ได้สื่อแนวคิดหลัก “OPEN, CONNECT, BALANCE” ของการเป็นเจ้าภาพ APEC ปี 2565 ของไทย ได้แก่
OPEN– ชะลอมสื่อถึงการค้าที่เปิดกว้าง
CONNECT– ชะลอมเป็นสิ่งบรรจุสินค้าหรือส่งของสำหรับใช้ในการเดินทาง และสื่อถึงความเชื่อมโยง
BALANCE– ชะลอมทำจากวัสดุธรรมชาติเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สอดคล้องกับรูปแบบเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy- BCG)
นอกจากนี้ สีเส้นตอก 3 สี ได้แก่ สีน้ำเงิน สื่อถึง OPEN การเปิดกว้าง สีชมพู สื่อถึง CONNECT การสร้างความสัมพันธ์เชื่อมโยง และสีเขียว สื่อถึง BALANCE ความสมดุล ระหว่างกัน
Cr. APEC2022TH / ฐานเศรษฐกิจ