ทำความรู้จัก “Perfect Storm” และพายุรูปแบบต่างๆ

0
700
kinyupen

ช่วงนี้เราได้ยินคำว่า Perfect Storm จากเพจวิเคราะห์เศรษฐกิจหลายสำนัก โดยพูดถึงสาเหตุว่ามาจากผลกระทบโควิด-19  ปัญหาราคาน้ำมันและก๊าซธรรมชาติที่แพงขึ้นจนมีผลต่อต้นทุนการผลิต วิกฤตการณ์การเงินทั่วโลกที่ทำให้เงินเฟ้อแรงสุดในรอบหลายสิบปี ปัญหาโครงสร้างเศรษฐกิจภายในของจีน ส่งผลต่อหลายประเทศที่มีดีลค้าขายกับจีน

แต่ละเรื่องเป็นพายุที่กระแทกมาเป็นระยะ ๆ จนถึงบัดนาวเจ้าสำนักต่าง ๆ ก็คาดการณ์ว่าน่าจะเป็นจุดที่เศรษฐกิจโลกเข้าเกณฑ์อย่างที่เรียกว่า Perfect Storm

เราคุ้นกับคำว่า Perfect ในทางบวก หนุ่มคนนั้นสาวคนนี้ช่างดูเพอร์เฟ็ก แต่เมื่อมาใช้กับความรุนแรง เช่น Perfect Storm หมายถึงความรุนแรงที่ผิดปกติ ในทางอุตุนิยมวิทยา ไม่ค่อยมีการเรียกพายุว่า Perfect Storm เพราะความรุนแรงที่ผิดปกติ มันยากที่จะเกิด หรือเกิดขึ้นไม่บ่อย

การเกิด Perfect Storm จะต้องมีปัจจัย 3 อย่างที่บังเอิญโคจรมาเจอกัน หนึ่ง-อากาศอุ่นจากความกดอากาศต่ำที่มาจากทิศทางหนึ่ง สอง-กระแสความเย็นและอากาศที่แห้งจากความกดอากาศสูงที่มาจากทิศทางตรงกันข้าม และสาม-ความชื้นที่เกิดจากพายุโซนร้อน หรือพายุเฮอร์ริเคน เมื่อสามปะทะนี้มาเจอกัน หายนะก็มาเยือน

คำว่า Perfect Storm มีระบุในพจนานุกรมของอ็อกซ์ฟอร์ดที่ตีพิมพ์ในปี ค.ศ. 1717 แต่คนที่นำคำนี้มาใช้ครั้งแรกคือสาธุคุณลอยด์ ท่านเขียนบันทึกการเกิดพายุรุนแรงในอังกฤษไว้เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม ค.ศ.1850 ไม่กี่ปีถัดมาก็มีนักข่าวใช้คำนี้เขียนเรื่องลงหนังสือพิมพ์ในเท็กซัสเกี่ยวกับความเชื่อมโยงของพายุและน้ำท่วม

แต่คำนี้มาดังจริง ๆ ในปี 1993 เมื่อเซบาสเตียน จังเกอร์ นักข่าวชาวอเมริกันเอามาใช้ในหนังสือเรื่อง The 1991 Halloween Nor’easter storm ว่าด้วยเรื่อง “ความรุนแรงพิเศษ” ของพายุไซโคลน พอเขียนจบก็รู้สึกว่าชื่อเดิมที่ตั้งใจว่าจะใช้ มันเช้ยเชย ก็เลยเปลี่ยนชื่อว่า The Perfect Storm แล้วในที่สุดก็ถูกดัดแปลงเป็นภาพยนตร์ชื่อเดียวกันที่สร้างในปี 2000

Perfect Storm ที่มี “ชื่อเสียง” เกิดขึ้นเมื่อปี 1991 คือพายุเฮอร์ริเคนเกรซ (พายุตัวเดียวกับหนังสือของเซบาสเตียน จังเกอร์) เป็นแค่เฮอร์ริเคนระดับ 2 แต่บังเอิญว่าเฮอร์ริเคนเกรซไปเจอกับอีก 2 ปัจจัย คืออากาศอุ่นที่เกิดจากความกดอากาศต่ำด้านหนึ่ง และกระแสอากาศเย็นและแห้งที่เกิดจากความกดอากาศสูงจากอีกทิศทางหนึ่ง เมื่อสองปัจจัยนี้มาเจอกับความชื้นของเฮอร์ริเคนเกรซ ก็ตูม! กลายเป็น Perfect Storm สร้างความวินาศให้กับชายฝั่งตะวันออกของสหรัฐอย่างรุนแรง

นับจากนั้นมาคำว่า Perfect Storm ก็ถูกมาใช้ในหลายบริบท เมื่อต้องการสื่อว่ามีเรื่องเลวร้ายเกิดขึ้นพร้อมกันหลายๆ อย่าง เช่นการสื่อถึงความวินาศสันตะโรในทางเศรษฐกิจ

พายุมีกี่แบบ?

ในโลกนี้มีพายุหมุนเขตร้อนมีฤทธิ์ทำลายล้างรุนแรงที่สุด 2 แบบคือ เฮอร์ริเคนกับทอร์นาโด

แต่ถ้าพูดถึงพายุ นักอุตุนิยมวิทยาแบ่งเป็น 3 กลุ่มหลัก คือพายุฝนฟ้าคะนอง พายุหมุนเขตร้อน (เฮอร์ริเคนอยู่ในกลุ่มนี้) และพายุทอร์นาโด

(1) พายุฝนฟ้าคะนอง (Thunderstorm) อันนี้เราฟังข่าว อ่านเจอบ่อย เป็นพายุที่เกิดประจำในพื้นที่เขตร้อนชื้น โดยเฉพาะบริเวณใกล้เส้นศูนย์สูตรของโลก บ้านเราจึงเจอประจำ พายุฝนฟ้าคะนองแบบนี้มีทั้งลมกระโชกแรง ฟ้าแลบ ฟ้าร้อง ฝนตกหนัก บางที่ก็มีลูกเห็บตก พายุแบบนี้มักเกิดเดือนมีนาคม-พฤษภาคม ถ้าหนักมาก ๆ มันสามารถพัฒนาตัวเองเกินขีดปกติไปเป็นพายุฤดูร้อนได้

(2) พายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone) เป็นพายุขนาดใหญ่ที่ก่อตัวขึ้นในทะเลและมหาสมุทรแถบเส้นศูนย์สูตร มันจะก่อตัวขึ้นบริเวณผิวน้ำทะเลหรือมหาสมุทรที่มีอุณหภูมิสูงกว่า 27 องศาเซลเซียส พายุในกลุ่มนี้จะมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางเกินกว่า 100 กิโลเมตร ความเร็วลมสูงสุดใกล้จุดศูนย์กลางตั้งแต่ 50-250 กม./ชม. พัดหมุนทวนเข็มนาฬิกาในซีกโลกเหนือ และหมุนตามเข็มนาฬิกาในซีกโลกใต้

พายุหมุนเขตร้อนแบ่งออกเป็น 3 ระดับตามเกณฑ์ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางพายุ ได้แก่

(2.1) ดีเปรสชั่น ((Tropical Depression) เป็นพายุที่มีความเร็วลมต่ำที่สุด ความเร็วลมสูงสุดใกล้จุดศูนย์กลางไม่เกิน 63 กม./ชม. เป็นกลุ่มเมฆหมุนวนที่ไม่มี “ตาพายุ” ที่ชัดเจน เกิดกระแสลมไม่แรง แต่จะเกิดฝนตกหนักติดต่อกันหลายวัน

บ้านเรามักเจอแค่ดีเปรสชั่น เนื่องจากพายุมักก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิก กว่าจะเคลื่อนที่มาถึงไทย พายุก็มักอ่อนกำลังลงจนเหลือความแรงระดับดีเปรสชั่น

(2.2) พายุโซนร้อน (Tropical Storm) เป็นพายุที่ก่อตัวขึ้นในทะเลก่อนเคลื่อนที่เข้าหาฝั่ง ความเร็วลมไม่เกิน 118 กม./ชม. ทำให้เกิดลมกระโชกแรงและฝนตกหนัก

(2.3) เฮอร์ริเคน (Hurricane) เป็นพายุที่มีความเร็วลมสูงกว่า 118 กม./ชม. บริเวณจุดศูนย์กลางของพายุที่เรียกว่า “ตาพายุ” นั้น กลับเงียบสงบอย่างประหลาด ปราศจากเมฆ ตาพายุจะถูกล้อมรอบด้วยกำแพงตาพายุ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีสภาพอากาศรุนแรงที่สุด ความเร็วของเฮอร์ริเคนอาจพัฒนาสูงกว่า 300 กม./ชม. คือสามารถถอนต้นไม้ใหญ่ ๆ ให้รากหลุดออกมาได้เลย

เฮอร์ริเคน (Hurricane) ไซโคลน (Cyclone) และไต้ฝุ่น (Typhoon) เป็นปรากฎการณ์สภาพอากาศเดียวกัน คือพายุหมุนเขตร้อน แต่เรียกต่างกันตามภูมิประเทศ

ถ้าเกิดในมหาสมุทรแอตแลนติกและมหาสมุทรแปซิฟิกบริเวณชายฝั่งประเทศเม็กซิโก เรียกว่า เฮอร์ริเคน

เกิดบริเวณมหาสมุทรอินเดีย เรียกว่า ไซโคลน

เกิดในมหาสมุทรแปซิฟิกเหนือด้านตะวันตก กับมหาสมุทรแปซิฟิกใต้และทะเลจีนใต้ เรียกว่า ไต้ฝุ่น อย่างเช่น ไต้ฝุ่นโนรูที่เคลื่อนตัวจากทะเลจีนใต้ และกำลังมาเข้าสู่ไทยปลายเดือนนี้

แต่ละปีจะมีการตั้งชื่อเฮอร์ริเคน (หรือไต้ฝุ่น หรือไซโคลน) แต่ละลูก โดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) ชื่อจะตั้งเรียงตามตัวอักษรเพื่อให้ง่ายต่อการเก็บข้อมูล ชื่อพายุอาจถูกนำมาตั้งซ้ำได้เมื่อเวลาผ่านไป 6 ปี เว้นแต่ว่ามันอยู่ในระดับรุนแรง ก็จะไม่นำมาใช้ซ้ำอีก

(3) พายุแบบสุดท้ายคือ ทอร์นาโด (Tornado) เป็นพายุที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางค่อนข้างเล็ก รัศมีประมาณ 50-500 เมตร แต่ความเร็วลมแรงมาก ตั้งแต่ 300-500 กม./ชม. เป็นความเร็วระดับรถไฟหัวกระสุนเลย

พายุทอร์นาโดเกิดจากการปะทะกันของมวลอากาศร้อนและมวลอากาศเย็น ปกติมักพบในทวีปอเมริกาเหนือ และมหาสมุทรแอตแลนติก เนื่องจากบริเวณดังกล่าวมีความแตกต่างของสภาพอากาศสูง พายุทอร์นาโดร้อยละ 90 เกิดบนบก มีความเร็วลมสูงจนเกิดลมหมุนบิดเป็นเกลียวจากฐานเมฆลงสู่พื้นดิน เรียกว่า “ลมงวง” หมุนไปถึงไหนก็ดูดทุกสิ่งลอยขึ้นสูอากาศในฉับพลัน โชคดีที่ทอร์นาโดเป็นพายุที่ไม่คงตัวอยู่นาน (ประมาณ 1-2 ชม.)

เราจะ “ฆ่า” ไต้ฝุ่น (หรือเฮอร์ริเคน) ได้ไหม?

มีสองสิ่งที่จะฆ่าพายุรุนแรงระดับนี้ได้ คือ

หนึ่ง-ทำให้ขาดเชื้อเพลิง

เชื้อเพลิงของพายุ ก็คืออากาศร้อนชื้นเหนือมหาสมุทรที่ถูกดูดเข้าไป เมื่อไอน้ำกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ ก็จะปลดปล่อยความร้อนแฝง ด้วยปริมาณไอน้ำที่มากมายมหาศาล ทำให้พายุปลดปล่อยพลังงานจำนวนมากออกในรูปของลมที่พัดรุนแรง ดังนั้นวิธีการฆ่าพายุทางแรก คือการที่พายุขึ้นบกเข้าสู่แผ่นดิน ทันทีที่หน้าพายุขึ้นฝั่งเชื้อเพลิงใหม่ที่เติมจะลดลง ยิ่งเข้าในแผ่นดินมากเท่าไร พายุยิ่งจะอ่อนกำลังลง ประเทศไทยโชคดีก็ด้วยเหตุนี้ คือมันขึ้นแผ่นดินของเพื่อนบ้านเสียก่อนแล้ว

สอง-มวลอากาศเย็นแห้ง

พายุเป็นกลุ่มความกดอากาศต่ำเหมือนเครื่องดูดฝุ่น มันจะดูดทุกอย่างเข้าไป เมื่อพายุดูดมวลอากาศเย็นและแห้งเข้าไป มันจะทำลายกลไกการกลั่นตัวของไอน้ำเป็นหยดน้ำ เท่ากับเป็นการตัดปฏิกิริยาในการสร้างพลังงานให้ตัวเอง พายุก็จะสลายตัวอย่างรวดเร็ว

แต่ทั้งสองปัจจัยนี้ยิ่งใหญ่เกินกว่าที่มนุษย์จะทำได้

ธรรมชาติได้จัดการกลไกด้วยตนเอง

อ้างอิง

https://www.tmd.go.th/info/info.php?FileID=28

https://www.meteorologiaenred.com/th/cuales-son-las-diferencias-entre-huracanes-y-tornados.html

เพจ ฝ่าฝุ่น https://web.facebook.com/farfoon.th

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here