หน้าฝนทีไร คนที่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ ๆ ต่างออกอาการอกโรย ยิ่งคนกรุงเทพฯ ยิ่งเป็นชีวิตที่น่าเห็นใจ ไม่ได้อ่วมแค่เรื่องน้ำ แต่ใจจะระเบิดเพราะแช่อยู่บนถนนที่การจราจรติดมหาวินาศ
เซ็งมาก ๆ เข้าก็นึกถึงไอเดียย้ายเมืองหลวง ยิ่งได้เห็นเพื่อนบ้านอินโดนีเซียมีแพลนย้ายเมืองหลวง ให้นึกตงิดใจ อยากให้บ้านเราเปลี่ยนแปลงไปในทางดีขึ้นอย่างเขาบ้าง เพราะถ้าโลกไม่แตกเสียก่อน อีก 30 ปีข้างหน้า กรุงเทพฯ จมน้ำแน่นอน
รายงานจากสภาเศรษฐกิจโลก บอกว่า กรุงเทพฯ ติด 1 ใน 10 เมืองหลวงที่กำลังจะจมน้ำ ด้วยเหตุผลคล้าย ๆ กันทุกแห่งคือ อุณหภูมิโลก ระดับน้ำทะเลกำลังเพิ่มสูงขึ้น พายุโซนร้อนที่เข้มข้นมากขึ้น การเป็นเมืองชายฝั่งทะเลที่อยู่ในระดับต่ำ การสูบน้ำบาดาลมาใช้มากเกินไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของความดันและปริมาณที่ทำให้ดินจม เมืองหลวงที่อยู่ในลิสต์จมน้ำเหล่านี้ ส่วนใหญ่เป็นเมืองชายฝั่งทะเล เพราะทะเลเป็นประตูของการค้า
สมัยผู้เขียนเป็นเด็ก ได้ยินผู้ใหญ่พูดถึงการย้ายเมืองหลวงไปเพชรบูรณ์ (สมัยจอมพล ป. พิบูลสงคราม) แต่ไม่เข้าใจว่าจะย้ายทำไม เพราะกรุงเทพฯ สมัยก่อนเป็นเมืองน่าอยู่ ต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น ยังจำได้ว่าหน้าหนาวนั้นหนาวจริง ๆ
โตขึ้นทำงานก็ได้ยินผู้นำปรารภอีกว่าจะย้ายเมืองหลวงไปฉะเชิงเทรา (สมัยพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ) ไปนครนายก (สมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร) แต่ก็เป็นแค่ทอล์ก ออฟ เดอะ ทาวน์ ไม่จริงจังเหมือนแผนการย้ายเมืองหลวง-จาการ์ตา ไปที่ใหม่-นูซินตารา อย่างอินโดนีเซีย
จาการ์ตาเป็นเมืองหลวงที่ทรุดตัวเร็วที่สุดแห่งหนึ่งในโลก นักวิชาการสถาบันเทคโนโลยีบันดุง บอกว่า จาการ์ตาจะจมน้ำในปี 2050 (ช่วงเวลาเดียวกับกรุงเทพฯ) ด้วยความที่พื้นที่กว่าร้อยละ 90 อยู่ติดทะเลชวา มีแม่น้ำถึง 13 สายไหลผ่านเมือง (กรุงเทพฯ แค่สายเดียวก็อ่วมแล้ว) แผ่นดินดังกล่าวจะทรุดตัวและจมลงใต้น้ำ
การย้ายเมืองหลวงนอกจากเป็นงานช้าง ยังเป็นอภิมหาการลงทุนที่ต้องเป็นผู้นำใจเด็ดมาก ๆ โจโก วิโดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย แถลงข่าวเมื่อ 26 สิงหาคม ว่า กรุงจาการ์ตาไปต่อไม่ไหวแล้ว ทั้งเรื่องความแออัดหนาแน่นของประชากรกว่า 10 ล้านคน ปัญหาจราจร น้ำท่วม แผ่นดินทรุดตัว แผ่นดินไหว และเป็นเมืองที่รับภาระหนักเกินไปในฐานะศูนย์กลางการปกครอง ธุรกิจ การเงิน การค้า การบริการ ขณะที่ตำแหน่งเมืองหลวงแห่งใหม่มีความเสี่ยงทางภัยธรรมชาติน้อยที่สุด
ปัญหาเหมือนกรุงเทพฯ เป๊ะ เพื่อนตัดสินใจย้าย แล้วเราไปต่อยังไง?
รศ.ดร.อภิวัฒน์ รัตนวราหะ จากภาควิชาการวางแผนภาคและเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เขียนบทความในเพจข่าวจุฬาฯ ว่า การย้ายเมืองหลวงเป็นการตอบสนองวัตถุประสงค์ของนโยบายยุทธศาสตร์การสร้างชาติรูปแบบหนึ่ง ขึ้นอยู่กับว่าผู้นำประเทศมองเห็นว่าจะได้อะไรกับการย้ายเมืองที่เป็นศูนย์กลางการปกครอง เป็นการลงทุนที่ใช้ต้นทุนสูงในการสร้างพื้นที่ใหม่ และทำลายสิ่งแวดล้อมที่มีอยู่เดิม
อาจารย์บอกว่า การย้ายเมืองหลวงคือการทุ่มทุนมหาศาล และเป็นการตัดสินใจที่ต้องเด็ดขาดมาก ซึ่งที่ผ่านมา “ไม่มี” ผู้นำไทยคนไหนมีความเด็ดขาดขนาดนั้น เพราะเห็นตัวเลขก็กลัวแล้ว
ปัญหาผังเมืองที่ทำให้เกิดน้ำท่วม แผ่นดินทรุดตัว อาจารย์บอกว่า สามารถใช้วิธีการทางวิศวกรรมและการใช้ประโยชน์จากที่ดินแก้ปัญหาได้หากมีการวางแผนที่ดีพอ มันก็ยังพอมีความหวัง ยังแก้ไขได้ ทั้งเรื่องความแออัดของเมือง โดยกระจายการพัฒนาไปสู่เมืองรอง เป็นการสร้างทางเลือกในพื้นที่ให้คนไม่มากระจุกตัวที่กรุงเทพฯ ลดภาระการลงทุนที่มุ่งกรุงเทพฯ เพียงแห่งเดียว มีหลายประเทศแก้ปัญหาโดยการแบ่งเมืองเศรษฐกิจกับเมืองราชการ อย่างออสเตรเลีย ก็แบ่งแคนเบอร์รากับซิดนีย์ อเมริกาก็แบ่งวอชิงตัน ดีซี กับนิวยอร์ก เป็นต้น
เรื่องรถติด บ่นมาทั้งชาติ ตอนนี้ก็พอบรรเทาด้วยระบบขนส่งมวลชนทางเลือกทั้งรถไฟฟ้าบนดิน ใต้ดิน และหากมีการพัฒนาระบบรถเมล์ พัฒนาทางเท้า เราก็ไม่แย่ถึงกับต้องย้ายเมืองหลวง
ทั้งหมดนี่ ผู้เขียนน่าจะไปเฝ้าเซียนบนสวรรค์ก่อนจะได้เห็น
ยกเว้นว่าเมืองไทยจะบังเกิดผู้นำที่ ตั้งใจ ตั้งใจ ตั้งใจ // ทำงาน ทำงาน ทำงาน //
เราก็น่าจะกู้กรุงคืนได้โดยไม่ต้องย้ายเมืองหนี