รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อมูลผ่านเฟซบุ๊ก Thira Woratanarat กล่าวถึงสถานการณ์โควิดว่า….
15 กันยายน 2565…
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 433,452 คน ตายเพิ่ม 980 คน รวมแล้วติดไป 615,164,973 คน เสียชีวิตรวม 6,521,701 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น รัสเซีย ไต้หวัน และฝรั่งเศส
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 17 ใน 20 อันดับแรกของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็นร้อยละ 90.85 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 74.28
…สถานการณ์ระบาดของไทย
จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า
จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 14 ของโลก และอันดับ 7 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม
…ผู้สูงอายุที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จะเสี่ยงเป็นอัลไซเมอร์มากขึ้น
Wang L และทีมงาน จาก Case Western Reserve University School of Medicine ประเทศสหรัฐอเมริกา ทำการศึกษาเปรียบเทียบกลุ่มผู้สูงอายุที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 410,748 คน กับกลุ่มผู้สูงอายุที่ไม่ได้ติดเชื้อ จำนวน 5,834,534 คน โดยดูอัตราการเกิดโรคอัลไซเมอร์ในช่วงเวลา 360 วัน
พบว่า กลุ่มผู้สูงอายุ (ตั้งแต่ 65 ปีขึ้นไป) ที่ติดเชื้อจะมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคอัลไซเมอร์ มากกว่ากลุ่มที่ไม่ติดเชื้อ 1.69 เท่า
ทั้งนี้ยิ่งอายุมากขึ้น ความเสี่ยงยิ่งมากขึ้น
และเพศหญิงจะมีความเสี่ยงมากกว่าเพศชาย โดยเพศหญิงที่ติดเชื้อจะเสี่ยงขึ้น 1.82 เท่า และเพศชายที่ติดเชื้อจะเสี่ยงขึ้น 1.5 เท่าตามลำดับ
ผลการศึกษานี้ชี้ให้เราเห็นความสำคัญในการป้องกันตัว ทั้งตัวผู้สูงอายุเอง รวมถึงสมาชิกในครอบครัว
…ปัจจัยกำหนดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อแพร่เชื้อในปัจจุบันนั้นขึ้นอยู่กับพฤติกรรมการป้องกันตัวของเราแต่ละคน
การใส่หน้ากากอย่างถูกต้องสม่ำเสมอ ระมัดระวังพฤติกรรมเสี่ยง กิจกรรมเสี่ยง สถานที่เสี่ยง
คำว่า “ขออย่าได้กังวล” กับสายพันธุ์ไวรัสที่กลายพันธุ์นั้น หากพิจารณาบทเรียนตลอดสองปีที่ผ่านมา ทั้งสายพันธุ์ G, Alpha, Delta, Omicron BA.1 BA.2 BA.4 และ BA.5 นั้น โดยใช้สติ ปัญญา และความรู้เท่าทัน ย่อมทำให้เราทราบดีว่าควรปฏิบัติตัวอย่างไร
ดูกราฟจำนวนเสียชีวิตเฉลี่ยรอบสัปดาห์ต่อประชากรล้านคน รวมถึงอัตราการเสียชีวิตส่วนเกินที่เกิดขึ้น ก็จะทราบสถานการณ์ได้ว่าเป็นเช่นไร แม้จะมีการปรับระบบรายงานตัวเลขจนลดลงดังที่เราทราบกันดี
เชื่อในสิ่งที่ควรเชื่อ ทำในสิ่งที่ควรทำ
เพราะสุดท้ายแล้วเวลาเกิดปัญหาขึ้นมา ผู้ที่ติดเชื้อ ป่วย เสียชีวิต หรือเกิดปัญหาระยะยาวอย่าง Long COVID ขึ้นมา ก็ต้องเผชิญกับปัญหา และหาทางจัดการด้วยตนเองเป็นหลัก และไม่สามารถถามหาความรับผิดชอบจากใครอื่นได้
ไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
อ้างอิง
Wang L et al. Association of COVID-19 with New-Onset Alzheimer’s Disease. Journal of Alzheimer’s Disease. 18 July 2022.
ขอขอบคุณข้อมูลจาก : https://www.facebook.com/thiraw