ทำวันจันทร์ให้เพลินเพลินไปกับคอลัมน์ใหม่ของกินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิต “I Hate Monday.” เขียนโดย “พรวิไล คารร์” พบกับเรื่องน่ารู้ทุกสัปดาห์ เพื่อให้ทุกวันจันทร์ไม่น่าเบื่อ อ่านขำๆ แล้วไปลุยกันต่อ
สมัยผู้เขียนเป็นเด็ก เคยได้ยินผู้ใหญ่พูดถึง ‘ยาแก้เด็กจู้จี้’ ส่วนผสมมีอะไรบ้างไม่รู้ รู้แต่ว่าพอป้อนใส่ปาก ไอ้ที่ร้องไห้โยเย พักเดียวเงียบกริบ หลับจ้อย พ่อแม่เป็นอันสบายหู เล่ากันว่ายาเด็กจู้จี้นี้เป็นตำรับยาจีนโบราณ สืบทอดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 (ครองราชย์: 1 ตุลาคม 2411-23 ตุลาคม 2453)
ในห้วงเวลาเดียวกัน ที่สหรัฐอเมริกาก็มียาแก้เด็กจู้จี้ยี่ห้อ Mrs. Winslow’s Soothing Syrup แปลตรง ๆ ก็คือ น้ำเชื่อมผ่อนคลายของนางวินส์โลว์
ชาร์ล็อตต์ เอ็น. วินสโลว์ (Charlotte N. Winslow) เป็นพยาบาลกุมารเวชศาสตร์ในเมืองบังกอร์ รัฐเมน อยู่ทางะวันออกเฉียงเหนือของสหรัฐอเมริกา ติดกับแคนาดา ในปี ค.ศ. 1845 (พ.ศ. 2388) ขณะเป็นพยาบาลดูแลทารก นางคิดสูตรยาขึ้นมาขนานหนึ่ง แล้วนำสูตรที่ว่ามาให้ลูกบุญธรรมสองคนที่เป็นเภสัชกร ชื่อ เจอเรไมห์ เคอร์ทิส กับ เบนจามิน เพอร์กิน ช่วยกันผลิต
ผลิตเสร็จก็วางขายโดยโฆษณาว่าเป็นยารักษาอาการปวดฟัน และอาการเจ็บป่วยอื่น ๆ ที่ทารกสมัยเมื่อร้อยปีก่อนมักจะเป็นกัน เช่น ท้องเสีย โฆษณาของพวกเขาดูดึงดูดใจ โดยนำเสนอภาพแม่-ลูกในบ้านที่บรรยากาศอบอุ่น สวยงาม
“น้ำเชื่อมผ่อนคลายของนางวินส์โลว์” มีส่วนผสมหลักสองอย่าง คือ มอร์ฟีนกับแอลกอฮอล์ จึงไม่น่าแปลกใจที่น้ำเชื่อมที่มีสารโอปิออยด์ (opioid) จะสามารถช่วยบรรเทาอาการปวดฟันจากโรคฟันผุ ไม่ว่าจะฟันคุด ฟันผุ ฟันงอก รักษาโรคบิดซึ่งเป็นความเจ็บป่วยพื้นฐานในยุคที่ยังไม่มีระบบสาธารณสุข (ผลข้างเคียงทั่วไปของฝิ่น คือทำให้เกิดอาการท้องผูก) และรักษาอาการเจ็บปวดอื่น ๆ ที่ทำให้เด็กร้องโยเย
ในขวดหนึ่งของน้ำเชื่อมสูตรนางวินส์โลว์ มีมอร์ฟีน 65 มิลลิกรัมต่อออนซ์ รวมทั้งแอลกอฮอล์
วิธีใช้ระบุว่า ป้อนเด็กหนึ่งช้อนชา ในหนึ่งช้อนชามีปริมาณมอร์ฟีนเทียบเท่ากับทิงเจอร์ฝิ่น 20 ลอดานัม (laudanum-หยดที่เป็นใช้หน่วยวัดปริมาณทิงเจอร์ฝิ่น) ทิงเจอร์ฝิ่น (opium tincture) คือการนำฝิ่นมาทำเป็นทิงเจอร์ โดยมีความเข้มข้นของฝิ่นประมาณ 10% ใช้เป็นยารักษาอาการท้องเสียรุนแรงในผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาอื่น ๆ
น้ำเชื่อมของนางวินสโลว์หนึ่งช้อนชาจึงมีมอร์ฟีนเพียงพอที่จะฆ่าเด็กทั่วไปได้ ทารกหลายคนหยุดร้องโยเยหลังป้อนยา ทำให้บรรดาแม่ ๆ ทั้งหลายหายเครียด แต่ทารกหลายรายก็หลับแล้วไม่ตื่นอีกเลย นำไปสู่การเรียกน้ำเชื่อมนี้ในภายหลังว่า The Baby Killer
Mrs. Winslow’s Soothing Syrup ขวดละ 25 เซนต์ ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในเขตอเมริกาเหนือ มีการโฆษณาผ่าน “รีวิว” สรรพคุณในหน้าหนังสือพิมพ์ ในช่วงทศวรรษ 1800 ยาที่วางขายไม่จำเป็นต้องระบุส่วนผสม ผู้บริโภคไม่มีทางรู้ถึงอันตรายเลย
เมื่อเรื่องถึงศาล เคอร์ทิสสารภาพว่าพวกเขาขายน้ำเชื่อมสูตรเพชรฆาตนี้มากกว่า 1.5 ล้านขวดต่อปี พวกเขาเริ่มผลิตในปี ค.ศ. 1845 และขายเรื่อยมาจนกลายเป็นเรื่องถึงศาลในปี ค.ศ. 1868 (พ.ศ. 2411)
วินสโลว์หรือลูกบุญธรรมผู้ผลิต “น้ำเชื่อม” ไม่ได้ถูกจับ นอกจากไม่มีการแจ้งความแล้ว ยังมีบรรดาแม่ ๆ เขียนจดหมายชมว่าน้ำเชื่อมของนางช่วยให้ผ่อนคลายจากการเลี้ยงลูกเสียอีก ดังนั้นอย่างมากที่ทำได้คือ สมาคมการแพทย์อเมริกันประณามการกระทำของนางวินสโวล์ปี ค.ศ.1911 (พ.ศ. 2454) ถึงอย่างนั้น The Baby Killer ก็ยังขายดิบขายดีต่อไปได้จนถึงปี ค.ศ.1930 (พ.ศ. 2473)
เนื่องจากไม่มีเชื่อมโยงการเสียชีวิตของเด็ก ๆ ที่ได้รับน้ำเชื่อมของนางวินสโลว์ จึงไม่มีสถิติหรือตัวเลขที่พิสูจน์อย่างเป็นทางการเกี่ยวกับจำนวนเด็กที่เสียชีวิต เพียงแต่ประมาณการว่ามีเด็กหลายพันคนที่เสียชีวิตจากการใช้ยาเกินขนาด
สหรัฐอเมริกาออกพระราชบัญญัติอาหารและยา (U.S. Food and Drug Administration) ในปี ค.ศ. 1956 (พ.ศ. 2449) บังคับให้บริษัทผู้ผลิตเปิดเผยส่วนผสมออกฤทธิ์บนบรรจุภัณฑ์ยา บริษัทต้องแน่ใจว่าระดับความบริสุทธิ์ของยาไม่ต่ำกว่าระดับที่กำหนดโดยเภสัชตำรับของสหรัฐอเมริกาหรือสูตรแห่งชาติ
ก่อนจะมีพ.ร.บ.นี้ ฉลากยาส่วนใหญ่ไม่ระบุส่วนผสม สาเหตุก็คือ บางครั้งผู้คิดค้นยาไม่เข้าใจผลที่ออกฤทธิ์เต็มที่ของส่วนผสมที่ใช้ อาศัยโฆษณาทำให้คนเชื่อถือ อีกอย่างหนึ่ง ห้วงเวลานั้น คนส่วนใหญ่ก็ไม่รู้จักอันตรายของมอร์ฟีน ด้วยการตลาดที่น่าเชื่อถือแท้ ๆ (โฆษณา+รีวิว) ทำให้ Mrs. Winslow’s Soothing Syrup ขายดิบขายดี เป็นยาแก้เด็กจู้จี้ได้ดังใจ
มีใครแก่ทันได้กินยาเด็กจู้จี้กันบ้างไหม?
ที่มา: