เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2565 กระทรวงการคลังร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) จัดงาน “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ คือ
ระยะแรก จะเปิดช่องทางการเจรจาไกล่เกลี่ยหนี้ ระหว่างลูกหนี้ที่ประสบปัญหาการชำระหนี้และยังไม่ได้รับความช่วยเหลือ กับเจ้าหนี้ ผ่านระบบออนไลน์ ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน ถึง 30 พฤศจิกายน 2565 เป็นระยะเวลา 2 เดือน โดยกระทรวงการคลัง และ ธปท. ได้จับมือกับสมาคมสถาบันการเงินต่าง ๆ และชมรมของผู้ประกอบธุรกิจทางการเงิน โดยขณะนี้ มีสถาบันการเงินตอบรับเข้าร่วมแล้ว 56 ราย ครอบคลุมหนี้จากสินเชื่อบัตรเครดิต สินเชื่อส่วนบุคคล เช่าซื้อรถ จำนำทะเบียนรถ นาโนไฟแนนซ์ รวมถึงสินเชื่อที่อยู่กับบริษัทบริหารสินทรัพย์ และสินเชื่อทุกประเภทของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ
ระยะที่สอง กระทรวงการคลัง ธปท. ร่วมกับสมาคมสถาบันการเงินของรัฐจะเพิ่มโครงการส่งเสริมความรู้ทางการเงินควบคู่กับการสร้างวินัยทางการเงิน รวมถึงการสนับสนุนให้ประชาชนที่มีความจำเป็นสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนของสถาบันการเงินของรัฐ และจะจัดงานมหกรรมสัญจรทั้งในกรุงเทพฯ และภูมิภาคทั้ง 4 ภาคทั่วประเทศ โดยคาดว่าจะจัดระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2565 ถึงเดือนมกราคม 2566
ทั้งนี้ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2565 ทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจ และผู้ประกอบธุรกิจที่มิใช่ธนาคาร (นอนแบงก์) มีลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่ต้องได้รับการดูแลภายใต้มาตรการช่วยเหลือ ทั้งสิ้น 3.89 ล้านบัญชี วงเงิน 2.98 ล้านล้านบาท
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยว่า การแก้หนี้ที่ยั่งยืน นอกเหนือจากการไกล่เกลี่ยและบรรเทาภาระหนี้ที่มีอยู่เดิมแล้ว สิ่งสำคัญคือ การสร้างทักษะทางการเงินและความรู้ในการประกอบอาชีพแก่ประชาชนรายย่อย เพื่อให้สามารถมีรายได้ที่เพียงพอ องค์ความรู้ทางการเงิน ความรู้ในการประกอบอาชีพ และความรู้ด้านดิจิทัล เพื่อนำไปสื่อสารให้แก่ประชาชนรายย่อยทั่วประเทศ รวมถึงมีแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาทักษะทางการเงิน พ.ศ. 2565 – 2570 โดยมีเป้าหมายในการปลูกฝังความรู้ทางการเงินตั้งแต่เด็กและต้องศึกษาเรียนรู้เรื่องนี้ไปตลอดช่วงอายุของชีวิต
นายรณดล นุ่มนนท์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า หนี้ครัวเรือนไทยเป็นปัญหาใหญ่ที่สั่งสมมานานจากหลายสาเหตุ ซึ่งการแก้ไขต้องใช้เวลาและทำอย่างครบวงจรโดยอาศัยความร่วมมือของทุกภาคส่วน ที่สำคัญ ต้องพิจารณาถึงแนวทางที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงผลข้างเคียงต่าง ๆ โดยเฉพาะต่อลูกหนี้อย่างรอบด้าน
การจัดมหกรรมแก้หนี้ในครั้งนี้ จึงเป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญในการแก้ปัญหาหนี้ให้กับลูกหนี้กลุ่มเปราะบางที่รายได้ยังไม่กลับมาปกติจากสถานการณ์โควิด 19 หรือได้รับผลจากค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ให้ได้รับความช่วยเหลืออย่างครอบคลุม และตรงจุด นอกจากนี้ ในการดูแลภาระหนี้สินภาคครัวเรือนให้ครบวงจร ธปท. จะออกแนวนโยบายการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน อาทิเช่น หลักเกณฑ์การให้สินเชื่ออย่างมีความรับผิดชอบ (responsible lending) ซึ่งครอบคลุมการปล่อยหนี้ใหม่ที่มีคุณภาพ และการให้ข้อมูลที่ลูกหนี้ควรรู้อย่างถูกจังหวะเพื่อกระตุกพฤติกรรมให้เกิดวินัยทางการเงิน รวมถึงการมีโครงสร้างพื้นฐานที่เอื้อต่อการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน เพื่อเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนและประสานการทำงานของทุกภาคส่วนในเรื่องนี้ต่อไป อนึ่ง เพื่อขยายความช่วยเหลือให้ลูกหนี้เช่าซื้อลิสซิ่งได้รับความคุ้มครองทางการเงินมากขึ้น ธปท. อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อออกกฎหมายในการกำกับดูแลธุรกิจนี้เพิ่มเติมอีกด้วย
อนึ่ง งานมหกรรมร่วมใจแก้หนี้ : มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน จะเริ่มเปิดให้ลูกหนี้ลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 26 กันยายน 2565 เป็นต้นไป