จากข่าวนักวอลเลย์จีน ไม่พอใจ ป้ายแม่รักคุณ เมื่อวันที่ 10 ส.ค. 65 นี้ ทำให้กระจ่างทันทีว่าคำว่า “แม่” นี้ซี้ซั้วพูดไม่ได้เชียวนะ เพราะความแตกต่างทางวัฒนธรรม ก่อเกิดดราม่าเข้าใจผิดขึ้นได้เพราะคำว่า “แม่” คำเดียว
คงมีแต่คนไทยนี้แหละที่ให้ความหมายกับคำว่าแม่เยอะขนาดนี้ เนื่องในโอกาสวันแม่แห่งชาติ กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตจะชวนทุกคนมาทำความเข้าใจความหมายของคำว่า “แม่” ของแต่บริบทกันค่ะ
คำว่า “แม่” สำหรับชาวจีน
เรื่องมีอยู่ว่า หลีหย่งเจิน นักวอลเลย์บอลดาวรุ่งของจีน ไม่พอใจป้ายเชียร์ คำว่า “แม่รักคุณ” จากแฟนคลับชาวไทย เขาชี้ไปที่ป้ายเชียร์พร้อมพูดว่า “I don’ t like this (ผมไม่ชอบอันนี้ครับ) ” กลางงานแข่งขัน AVC CUP 2022 ในจังหวัดนครปฐม
เนื่องจากคำว่า แม่ หรือ หม่าม๊า ในภาษาจีน คือคำเจาะจงว่า “แม่ผู้ให้กำเนิด” เพียงอย่างเดียว ดังนั้นการใช้คำว่า “แม่” แบบนี้ถือว่าไม่เคารพแม่ที่แท้จริงของเขา
ในขณะที่ชาวไทยต่างนิยมเรียก “แม่” กับคนที่ไม่ใช่แม่กัน เมื่อคำว่าแม่ไม่จำกัดความหมายแค่ผู้ให้กำเนิด
คำว่า “แม่” สำหรับชาวไทย
หลักๆ แล้วคำว่า “แม่” คือแม่ผู้ให้กำเนิดเช่นเดียวกัน หมายถึงสตรีผู้คลอดเราออกมา คือแม่คนแรกโดยไม่เกี่ยวว่าจะเลี้ยงดูเราหรือไม่ แม่ก็ทุกคนก็คือผู้หญิงผู้นี้ แต่ยังมีความหมายอื่นอีกมากมาย (ถ้าไม่นับ แม่น้ำ แม่มด แม่เล้า แม่ฮ่องสอน ฯลฯ นะคะ ฮ่าๆ) เช่น
แม่ = ความผูกพัน
คำว่าแม่เริ่มมีความหมายพิเศษในเชิงความคิดมากกว่า คนบางคนให้การเลี้ยงดูเป็นอย่างดียิ่งกว่าแม่แท้ๆ ของตัวเอง ก็ได้เรียกว่าเป็น “แม่” เช่น ยายของเราปกป้องและเลี้ยงดูเรามาตั้งแต่เล็กๆ เราเลยเรียกยายว่าแม่
แม่ = คำยกย่องนับถือ
จริงๆ แล้วแม่มีความหมายมากกว่านั้น แม้แต่ในราชบัณฑิตสภาเองยังระบุไว้อย่างชัดเจนว่านี่คือคำที่ตีความในฐานะถูกยกย่องให้เหนือกว่าและมีความพิเศษกว่าคนทั่วไป เช่น คำยกย่องเทวดาอย่างแม่กาลี แม่ธรณี เป็นต้น
ภาษาล้วนดิ้นได้ เช่นเดียวกับคำว่า “Queen” และ “King” ก็ไม่ได้หมายถึงสมาชิกราชวงศ์ แต่หมายถึงบุคคลผู้เป็นเลิศและได้รับการนับถือ ความเป็นหัวหน้า เราจึงได้ยินรุ่นน้องในออฟฟิศ ใช้สรรพนามเรียกรุ่นพี่ว่า “คุณแม่” “แม่” หรือเรียกดาราว่า “แม่โอปอล์” เป็นต้น
และมีวลีเด็ดคือ “แม่ก็คือแม่” ไว้สำหรับชื่นชมความเด็ดสุดยอดของคนคนหนึ่งได้ด้วย
แม่ = ความสนิทชิดเชื้อ
“เสร็จยังล่ะแม่”
“กินข้าวกันแม่”
คำว่าแม่ใช้เรียกเพื่อนฝูงหรืออายุน้อยกว่าได้ด้วย แต่ไม่ใช่ในความหมายของความเคารพในสถานะตัวแม่แต่อย่างใด แต่แสดงความสนิทสนม, เคารพในความเป็นหนึ่งอันเดียวกันจากสถานการณ์ชีวิตช่วงนั้นเสียมากกว่า
เอาจริงๆ ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะสมัยก่อนเขาก็มีคำว่าแม่นำหน้าชื่อเรียกกันอยู่แล้ว อย่าง “แม่ศรีนวล” “แม่การะเกด” เป็นต้น ถือเป็นแฟชั่นหนึ่งในยุคนั้นๆ ที่วิ่งวนย้อนกลับมายุคปัจจุบัน
แม่ = คำอุทานและคำเสียดสี
โอ๊ยงงมากแม่!, โถแม่… (ชื่อคน) …, เริ่ดมากแม่!, อุ๊ยแม่ร่วง!
สรุป : คำว่าแม่สำหรับชาวไทยขึ้นอยู่กับบริบทช่วงเวลาและความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล แต่ก็ดูทันสมัยและมีสีสัน
คำว่า “แม่” ยังคงมีพลังไม่ว่าจะมีความหมายแบบใดก็ตาม ไม่ว่าคุณจะมีแม่แบบไหน ก็จงรักษาความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันเอาไว้นะคะ
สุขสันต์วันแม่ค่ะ