นายพูน พานิชพิบูลย์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน Krungthai GLOBAL MARKETS ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยถึงภาวะค่าเงินบาทวันที่ 6 กรกฎาคม 2565 ว่า เปิดตลาด ที่ระดับ 35.94 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนค่าลงจากระดับปิดวันก่อนหน้า ที่ระดับ 35.80 บาทต่อดอลลาร์
ตลาดการเงินผันผวนหนักและอยู่ในภาวะปิดรับความเสี่ยงมากขึ้น ท่ามกลางความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลัก อย่าง สหรัฐฯ และ ยุโรป อาจชะลอตัวลงหนักจนเข้าสู่สภาวะถดถอย หลังจากที่ ข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดจากฝั่งยุโรป อย่าง ดัชนี PMI ได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง
ซึ่งความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจเสี่ยงที่จะเข้าสู่สภาวะถดถอยดังกล่าวนั้น ได้กดดันให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ อาทิ ราคาน้ำมันดิบปรับตัวลงหนักกว่า -10% ส่วนในฝั่งตลาดหุ้นนักลงทุนก็พากันเทขายสินทรัพย์เสี่ยงเพิ่มมากขึ้นโดยเฉพาะในฝั่งตลาดหุ้นยุโรป ทำให้ดัชนี STOXX600 ของยุโรป ดิ่งลงกว่า -2.11%
ส่วนในฝั่งสหรัฐฯ ผู้เล่นในตลาดต่างเทขายสินทรัพย์เสี่ยงเช่นกัน ส่งผลให้ดัชนี S&P500 ปรับตัวลงไปกว่า -2.0% ก่อนที่จะรีบาวด์ขึ้น จนปิดตลาดที่ +0.16% หนุนโดยแรงซื้อ Buy on Dip หุ้นเทคฯ ใหญ่ อาทิ Alphabet (Google) +4.2%, Amazon +3.6% ซึ่งแรงซื้อหุ้นกลุ่มเทคฯ รวมถึงหุ้นสไตล์ Innovation (ARK Innovation ETF +9.1%) นั้นมาจากการปรับตัวลดลงต่อเนื่องของบอนด์ยีลด์ 10 ปี สหรัฐฯ ท่ามกลางมุมมองของผู้เล่นในตลาดที่เริ่มประเมินว่า เฟดอาจไม่สามารถเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรงได้ หากเศรษฐกิจชะลอตัวลงชัดเจน
ในฝั่งตลาดค่าเงิน เงินดอลลาร์กลับมาแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องเมื่อเทียบกับสกุลเงินหลัก โดยล่าสุดดัชนีเงินดอลลาร์ (DXY Index) ได้ปรับตัวขึ้นใกล้ระดับ 106.5 จุด นอกจากนี้ เงินดอลลาร์ยังได้แรงหนุนจากการอ่อนค่ารุนแรงของ สกุลเงินฝั่งยุโรป ทั้งเงินยูโร (EUR) และ เงินปอนด์ (GBP) หลังรายงานข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุด สะท้อนภาพการชะลอตัวต่อเนื่องของเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ การแข็งค่าหนักของเงินดอลลาร์ ยังคงเป็นอุปสรรคที่กดดันให้ ราคาทองคำไม่สามารถปรับตัวขึ้นได้ ล่าสุด ราคาทองคำได้ปรับตัวลดลงต่อเนื่องสู่ระดับ 1,768 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเป็นระดับต่ำที่สุดนับตั้งแต่ปลายปี 2021 ทั้งนี้ โซน 1,740-1,760 ดอลลาร์ต่อออนซ์ อาจเป็นโซนแนวรับที่สำคัญ ซึ่งผู้เล่นบางส่วนอาจรอจังหวะเข้ามาซื้อทองคำได้ แต่ผลข้างเคียงของโฟลว์ธุรกรรมซื้อทองคำดังกล่าวก็อาจกดดันให้เงินบาทอ่อนค่าลงได้เช่นกัน
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท การอ่อนค่าอย่างรวดเร็วจนแตะระดับ 36 บาทต่อดอลลาร์ นั้น หลักๆ แล้วมาจากการแข็งค่าของเงินดอลลาร์ จากความต้องการสินทรัพย์ปลอดภัย รวมถึงการอ่อนค่าลงหนักของสกุลเงินฝั่งยุโรป จากความกังวลแนวโน้มเศรษฐกิจหลักเสี่ยงถดถอย ทำให้เรามองว่า หากตลาดยังคงกังวลภาพเศรษฐกิจถดถอยอยู่ เงินดอลลาร์ก็ยังมีโอกาสได้แรงหนุนต่อเนื่อง กดดันเงินบาทอ่อนค่าลงได้
ทั้งนี้ จุดกลับตัวของเงินดอลลาร์อาจเกิดขึ้นในช่วงการประชุมเฟดปลายเดือนนี้ หากเฟดไม่ได้ส่งสัญญาณพร้อมเร่งขึ้นดอกเบี้ยรุนแรง แต่ความเสี่ยงเงินบาทอ่อนค่าทะลุ 36 บาทต่อดอลลาร์ยังมีอยู่ หากทางการจีนกลับมาใช้มาตรการ Lockdown อีกครั้ง หลังเริ่มมีรายงานยอดผู้ติดเชื้อในจีนเพิ่มขึ้น ซึ่งหากภาพดังกล่าวเกิดขึ้นในช่วงที่ไทยก็เริ่มเจอการระบาดระลอกใหม่ ก็อาจยิ่งกดดันค่าเงินบาท
อย่างไรก็ดี เราประเมินว่า ผู้ส่งออกอาจเริ่มกลับมาทยอยขายเงินดอลลาร์ได้ หลังเงินบาทอ่อนค่าแตะโซน 36 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งอาจช่วยชะลอการอ่อนค่าของเงินบาทได้เช่นกัน ขณะที่ผู้นำเข้าส่วนใหญ่ได้ทยอยซื้อเงินดอลลาร์ไว้พอสมควรแล้ว ทำให้ภาพ Panic Buy เงินดอลลาร์จากผู้นำเข้าอาจไม่ได้เกิดขึ้น และมองว่าผู้นำเข้าอาจรอจังหวะการย่อตัวของเงินบาทกลับมาต่ำกว่า 36 บาทต่อดอลลาร์
มองกรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 35.85-36.05 บาท/ดอลลาร์