เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนมิถุนายน 2565 อยู่ที่ 7.66% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากมาตรการของภาครัฐที่พยายามช่วยเหลือประชาชนอย่างเต็มที่ และผู้ประกอบการภาคเอกชนได้ให้ความร่วมมือกับภาครัฐในการตรึงราคาขายปลีกเพื่อไม่ให้เป็นภาระต่อค่าครองชีพของประชาชน
อย่างไรก็ตาม หากมองในมิติการเพิ่มขึ้นของอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ พบว่า ปัจจัยหลักยังคงเป็นราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันเชื้อเพลิง ค่าไฟฟ้า และก๊าซหุงต้ม ซึ่งมีสัดส่วนถึง 61.83% และทำให้อัตราเงินเฟ้อขยายตัว 7.66% นอกจากนี้ เป็นผลจากหลักการของการคำนวณเงินเฟ้อที่ต้องนำดัชนีราคาผู้บริโภคในเดือนมิถุนายนปี 2565 ที่ระดับ 107.58 มาคำนวณกับเดือนมิถุนายนปี 2564 ที่ระดับฐานต่ำ (99.93) ทำให้อัตราเงินเฟ้อเดือนมิถุนายน 2565 มีผลลัพธ์ในอัตราที่เพิ่มสูงขึ้นที่ 7.66%
สำหรับสินค้าสำคัญที่ทำให้เงินเฟ้ออยู่ที่ระดับดังกล่าว ได้แก่ กลุ่มพลังงาน มีอัตราการเติบโตของราคา 39.97% จึงส่งผลให้พลังงานมีสัดส่วนถึง 61.83% ของอัตราเงินเฟ้อในเดือนนี้ ทั้งนี้ สินค้ากลุ่มพลังงานประกอบด้วย น้ำมันเชื้อเพลิง มีอัตราการเติบโตของราคา 39.45% ค่าไฟฟ้า 45.41% และราคาก๊าซหุงต้ม 12.63% กลุ่มอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ มีอัตราการเติบโตของราคา 6.42% จึงส่งผลให้กลุ่มอาหารมีสัดส่วน 34.27% ของอัตราเงินเฟ้อในเดือนมิถุนายน 2565 อาทิ เนื้อสุกร ไก่สด ไข่ไก่ และเครื่องประกอบอาหาร สาเหตุที่กลุ่มอาหารมีราคาเปลี่ยนแปลงเนื่องจากพลังงานเป็นต้นทุนแฝงในกระบวนการผลิตสินค้าอาหารทุกขั้นตอน
ขณะที่ สินค้าสำคัญอีกหลายรายการราคาปรับลดลง ได้แก่ กลุ่มข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ลดลง 2.73% โดยเฉพาะราคาข้าวสาร เนื่องจากปริมาณผลผลิตมีจำนวนมาก และการจัดโปรโมชันตามห้างสรรพสินค้า กลุ่มผลไม้สด ลดลง 2.53% อาทิ เงาะ มังคุด ลองกอง ตามปริมาณผลผลิตที่มีค่อนข้างมาก ส่วนดัชนีราคาผู้ผลิต เดือนมิถุนายน 2565 สูงขึ้น 13.8% เป็นการสูงขึ้นในทุกหมวดสินค้า โดยเฉพาะปิโตรเลียมดิบ ก๊าซธรรมชาติ และสินค้าที่เกี่ยวเนื่อง จากราคาวัตถุดิบ ต้นทุนการผลิตและการนำเข้าที่เพิ่มขึ้น ประกอบกับความต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
อย่างไรก็ตาม ดัชนีราคาผู้ผลิตซึ่งสะท้อนถึงราคาต้นทุนหรือราคาหน้าโรงงานสูงขึ้นมากกว่าเงินเฟ้อที่สูงขึ้นเพียง 7.66% แสดงว่าราคาหน้าโรงงานแพงกว่าราคาขายปลีกค่อนข้างมาก ซึ่งชี้ให้เห็นว่ารัฐบาลได้ดำเนินการเต็มที่ในการช่วยเหลือประชาชนผู้บริโภค ส่วนดัชนีราคาวัสดุก่อสร้าง สูงขึ้น 5.5%
สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคโดยรวม อยู่ที่ระดับ 44.3 เทียบกับเดือนก่อนหน้าที่ระดับ 44.7 สาเหตุเกิดจากความกังวลของประชาชนต่อเศรษฐกิจของประเทศ โดยเฉพาะราคาน้ำมัน ทำให้สินค้าโภคภัณฑ์มีราคาเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลต่อเศรษฐกิจโลก และส่งผ่านมายังเศรษฐกิจไทย
“ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อไตรมาสที่ 3/2565 ยังมีแนวโน้มขยายตัวในระดับที่ใกล้เคียงกับไตรมาสที่ผ่านมา และจากสถานการณ์ที่ยังมีความไม่แน่นอนในหลายปัจจัยทั้งในประเทศและต่างประเทศ สนค.จะยังคงคาดการณ์เงินเฟ้อทั้งปี 2565 ไว้ในกรอบเดิมก่อนที่ 4-5% โดยค่ากลางอยู่ที่ 4.5% ซึ่งกระทรวงพาณิชย์จะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป” นายรณรงค์ กล่าว