หอสมุดแห่งความรัก “เนียลสัน เฮส์” (Neilson Hays Library)

0
1034
kinyupen

แม้การดิสรัปท์ของเทคโนโลยีส่งผลให้หลายสิ่งที่ปรับตัวไม่ทันสูญสลายไปแบบเงียบๆ หากยังมีหอสมุดใจกลางกรุงเทพฯ ที่ยังยืนยงมากว่า 100 ปี วันนี้ กินอยู่เป็น 360 แห่งการใช้ชีวิต พามาหาคำตอบที่ “เนียลสัน เฮส์” อีกหนึ่งหอสมุดสำคัญทางประวัติศาสตร์ ที่ยังคงมีชีวิตหล่อเลี้ยงผู้รักวรรณกรรม ทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5

ความโดดเด่นเชิงสถาปัตยกรรม

บนถนนสุรวงศ์ ย่านบางรัก เป็นที่ตั้งของอาคารหอสมุด “เนียลสัน เฮส์” แหล่งรวมหนังสือ ที่มีกว่าสองหมื่นเล่ม โดยบางเล่มบอกได้เลยว่าแก่กว่าอายุของหอสมุดแห่งนี้เสียอีก

หอสมุดเนียลสัน เฮส์ ออกแบบโดย มารีโอ ตามัญโญ สถาปนิกชาวอิตาเลียน ผู้รังสรรค์สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ของไทย ไม่ว่าจะเป็น พระที่นั่งอัมพรสถาน พระที่นั่งอภิเษกดุสิต วังบางขุนพรหม ตำหนักปารุสกวัน สะพานผ่านฟ้าลีลาศ สะพานมัฆวานรังสรรค์ พระที่นั่งอนันตสมาคม และพระราชวังพญาไท

กล่าวกันว่า อาคารหอสมุดเนียลสัน เฮส์ แห่งนี้เป็นผลงานชิ้นเอกที่มารีโอ ตามัญโญ รักเป็นอย่างมาก

มารีโอ ตามัญโญ ออกแบบอาคารหอสมุดเนียลสัน เฮส์ ในสไตล์นีโอคลาสสิค ผสานความเป็นกรีกและโรมันเข้าด้วยกัน ตัวอาคารแห่งนี้จึงมีกลิ่นอายของยุโรปที่เด่นชัด

ส่วนโครงสร้างพื้นฐานหอสมุดถูกออกแบบให้เป็นระบบฐานรับน้ำหนัก เพื่อช่วยระบายลม และป้องกันความชื้นภายในตัวอาคาร

ห้องอ่านหนังสือถูกออกแบบเป็นผนังสองชั้น เพื่อสะดวกในการบรรจุหนังสือจำนวนมากเอาไว้

ที่มาของห้องสมุดเนียลสัน เฮส์ (Neilson Hays Library)

หอสมุดแห่งนี้ ถูกจดทะเบียนเป็นสมาคมหอสมุด ตั้งแต่รัชสมัยรัชกาลที่ 5 เมื่อวันที่ 25 มกราคม ปีพุทธศักราช 2412 (สองพันสี่ร้อยสิบสอง) โดยกลุ่มสมาชิกสมาคมสตรี เพื่อใช้แลกเปลี่ยนความรู้ ความคิดเห็นของกลุ่มชาวต่างประเทศในกรุงเทพฯ ครั้งอดีต

นายกสมาคมสตรีคนแรก คือ ซาราห์ บรัคลีย์ แบรดลีย์ ภรรยาหมอบรัดเลย์ บุคคลสำคัญแห่งวงการแพทย์ไทยที่หลายท่านรู้จักทางหน้าประวัติศาสตร์

เดิมทีหอสมุดของสมาคมแห่งนี้ไม่มีที่ตั้งที่แน่นอน กระทั่ง ดร.โทมัส เฮย์เวิร์ด เฮส์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลทหารเรือกรุงเทพฯ และอาจารย์สอนวิชาแพทย์คนแรกของโรงพยาบาลศิริราช ตั้งใจสร้างอาคารแห่งนี้เพื่ออุทิศเป็นอนุสรณ์สถานแห่งความรักของท่านที่มีต่อ “เจนนี่ เนียลสัน เฮส์” ภรรยา ผู้อุทิศตัวทำงานให้สมาคมหอสมุดยาวนานกว่า 25 ปี จวบจนวันสุดท้ายของชีวิต

ที่นี่จึงถูกใช้เป็นที่ตั้ง “หอสมุดเนียลสัน เฮส์” มาจนถึงปัจจุบัน

แหล่งรวมวรรณกรรม ประวัติศาสตร์

ปัจจุบันหอสมุดเนียลสัน เฮส์ เป็นแหล่งรวมหนังสือจากทุกมุมโลก โดยกว่า 80% เป็นหนังสือภาษาอังกฤษ ที่เหลืออีก 20% แบ่งออกเป็นหนังสือภาษาไทย และภาษาอื่นๆ อาทิ จีน ญี่ปุ่น

ภายในหอสมุดจัดเรียงโซนพื้นที่ตั้งของหนังสือออกเป็น 4 หมวดใหญ่ๆ คือ Fiction, Non-Fiction, Rare, Young Adult โดยอายุหนังสือก็จะมีตั้งแต่เล่มที่ตีพิมพ์ปัจจุบัน

จนถึงหนังสือเก่าแก่ทางประวัติศาสตร์ หลายเล่มมีอายุกว่าร้อยปี เช่น หนังสือเล่มนี้ที่เขียนโดยเซอร์จอห์น เบาว์ริง อีกหนึ่งบุคคลสำคัญที่มีบทบาทอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงของราชอาณาจักรสยามในอดีต

สำหรับการดำเนินงานกว่าหนึ่งศตวรรษของหอสมุดแห่งนี้ มาจากสองส่วน คือ ทีมงานบรรณารักษ์ของสมาคมหอสมุด กับอาสาสมัครทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่ต่างชักชวนกันมา เรียกได้ว่าเป็นเหล่าจิตอาสาที่รักหนังสือตัวจริง

เปิดสถานที่ให้บุคคลภายนอกเข้ามาใช้ทำประโยชน์

นอกจากจุดเด่นด้านสถาปัตยกรรม และ การเป็นแหล่งรวบรวมวรรณกรรม หอสมุดเนียลสัน เฮส์ ยังมีกิจกรรมให้สมาชิก หรือ ผู้สนใจทั่วไปเข้ามาร่วมต่อเนื่อง คือ เล่านิทานภาษาอังกฤษสำหรับเด็ก ในทุกเช้าวันเสาร์ และทุกสิ้นเดือนมีการแสดงดนตรีคลาสสิก

นอกจากนี้ ยังมีบริการให้บุคคลทั่วไปเช่าสถานที่จัดกิจกรรม เช่นงานจัดแสดงผลงานศิลปะ งานเปิดตัวสินค้า งานแต่งงาน งานปาร์ตี้ งานคอนเสิร์ต

ทางเจ้าหน้าที่บอกกับทีมงานกินอยู่เป็น ว่าการเปิดให้บุคคลต่างๆ เข้ามาทำกิจกรรมร่วมกับหอสมุด ถือเป็นการดำเนินตามเจตนารมณ์ที่สืบต่อมาตั้งแต่สมัยแรกก่อตั้ง ซึ่งต้องการให้หอสมุดแห่งนี้เป็น “หอสมุดสาธารณประโยชน์ของชุมชน” อย่างแท้จริง

และในวันที่ 11 มิถุนายน พ.ศ. 2565 หอสมุดเนียลสัน เฮส์ จะจัดงาน “101 Years Strong” มหกรรมวรรณกรรม สถาปัตยกรรม เฉลิมฉลองวาระครบรอบหนึ่งศตวรรษ โดยมีกิจกรรมน่าสนใจมากมาย พร้อมคอนเสิร์ตการกุศลโดย “นภ พรชำนิ” สำหรับผู้สนใจร่วมงาน หรือ ต้องการสมัครเป็นสมาชิกหอสมุดเนียลสันเฮส์ สามารถติดต่อตามที่อยู่ด้านล่างนี้ได้เลยค่ะ โดยราคาสมาชิกมีให้เลือกหลายแบบตามความสนใจ

หอสมุด….แม้มีตัวอาคารงดงามและหนังสือมากมายเพียงใด แต่ถ้า “ขาดชีวิต” ไม่สามารถเป็นศูนย์กลางให้ผู้คนเข้ามาอ่านหนังสือ พบปะ สันทนาการ ใช้เวลาว่างร่วมกัน ก็อาจถูกลืมเลือนคุณค่าตามกาลเวลา

ดังนั้นหอสมุดแห่งนี้ จึงเติม “ชีวิต” ผ่านงานศิลปะ ดนตรี หรือ กิจกรรมแห่งความสุขต่างๆ ของคนเมืองที่เปลี่ยนผ่านตามแต่ละยุคสมัยอยู่เสมอ

นี่อาจเป็นคำตอบสำคัญว่าทำไม “หอสมุดเนียลสัน เฮส์” ถึงยืนยงคู่เมืองไทยมาได้อย่างยาวนานกว่า 100 ปี

kinyupen

LEAVE A REPLY

Please enter your comment!
Please enter your name here