กกร.ชี้วิกฤตอาหารโลกเป็นจังหวะดี หนุนผู้ส่งออกไทยบุกตลาด แนะรัฐเร่งให้ความรู้เรื่อง PDPA พร้อมเว้นโทษในช่วงแรกไปก่อน
เมื่อวันที่ 1 มิถุนายนที่ผ่านมา คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) มีการแถลงข่าวประจำเดือนมิถุนายน โดยสรุปว่า
• ภาคการส่งออกไทยเริ่มได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลง เศรษฐกิจโลกเผชิญ headwind จากสงครามรัสเซียและยูเครนที่ยังยืดเยื้อ ความกังวลเกี่ยวกับอาหารขาดแคลน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์และอัตราเงินเฟ้อในระดับสูง การขาดแคลนสินค้าสำคัญใน supply chain ภาคอุตสาหกรรม การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของหลายธนาคารกลาง และการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่จีดีพีอาจจะขยายตัวเพียง 4.5% ซึ่งต่ำกว่าเป้าหมายของรัฐบาลที่ 5.5%
ปัจจัยต่างๆ เหล่านี้ทำให้เศรษฐกิจโลกมีแนวโน้มชะลอตัวลงและอาจจะกระทบต่อการส่งออกของไทยในช่วงที่เหลือของปี โดยมีสัญญาณเตือนจากตัวเลขการส่งออกของไทยไปยังประเทศจีนและญี่ปุ่นในเดือน เม.ย. 2565 ที่หดตัวเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า
แต่สำหรับภาพรวมการส่งออกเดือน เม.ย.ที่ผ่านมาตัวเลขการส่งออกยังเติบโตได้อยู่ในระดับ 9.9% ด้านการขนส่งและ โลจิสติกส์ระหว่างประเทศ Supply ยังสามารถไปได้ แต่ยังประสบภาวะราคาค่าขนส่งที่เพิ่มสูงขึ้นจากราคาพลังงานที่ยังมีแนวโน้มสูงขึ้น
• การท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวจะเป็นแรงขับเคลื่อนหลักที่สนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงที่เหลือของปี แม้อัตราเงินเฟ้อที่พุ่งสูงขึ้นจะฉุดรั้งกำลังซื้อและการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ แต่เศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีจะได้รับแรงส่งจากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้น
การเปิดประเทศเมื่อ 1 พ.ค. ทำให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติมีจำนวนที่เพิ่มขึ้นชัดเจน ซึ่งคาดว่าเป้าหมายนักท่องเที่ยวปีนี้ที่ตั้งไว้ 6-8 ล้านคน น่าจะเป็นไปได้
นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวชาวไทยที่เดินทางในประเทศมีสัญญาณที่ดี โดยขณะนี้ฟื้นตัวได้แล้วถึงระดับ 80% ของจำนวนนักท่องเที่ยวในปี 2562 ดีกว่าคาดการณ์ที่ระดับ 70% และในระยะข้างหน้ายังได้อานิสงส์จากการขยายสิทธิโครงการเราเที่ยวด้วยกันเพิ่มเติม
• วิกฤติอาหารโลกรุนแรงขึ้นจนหลายประเทศระงับการส่งออกอาหาร ขณะที่ ไทยอาจได้รับประโยชน์จากการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารเพิ่มเติม สงครามยูเครนและรัสเซียที่ยืดเยื้อทำให้ผลผลิตทางการเกษตรของโลกในภาพรวมลดลง ส่งผลให้ดัชนีราคาอาหารโลกในเดือน เม.ย. 2565 ปรับเพิ่มขึ้นถึง 29.8%YoY
ทำให้หลายประเทศเริ่มเผชิญกับการขาดแคลนอาหาร และทำให้กว่า 20 ประเทศใช้มาตรการห้ามส่งออกอาหาร โดยเฉพาะในกลุ่มข้าวสาลี น้ำตาล และน้ำมันพืช สำหรับประเทศไทยคาดว่าโอกาสที่จะเกิดปัญหาขาดแคลนอาหารมีน้อย เนื่องจากความต้องการบริโภคอาหารยังน้อยกว่าผลผลิตที่ผลิตได้ในประเทศ
อีกทั้งในปี 2565 มีปริมาณสินค้าคงคลังสำหรับสินค้าอาหารสำคัญเทียบกับความต้องการในประเทศในระดับสูงกว่าหรือใกล้เคียงกับในอดีต ดังนั้น การที่หลายประเทศตัดสินใจระงับการส่งออก จะเป็นโอกาสของการส่งออกสินค้าของไทย
อย่างไรก็ตาม ต้องมีการติดตามและบริหารจัดการสต็อกสินค้าเกษตรและอาหารที่ดี รวมทั้งบริหารจัดการไม่ให้เกิดการขาดแคลนปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยเคมี และอาหารสัตว์
• ที่ประชุม กกร. คงประมาณการเศรษฐกิจไทยในกรอบเดิม แม้เศรษฐกิจไทยยังเผชิญความเสี่ยงรอบด้าน จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอลง รวมทั้ง ต้นทุนและเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้นแต่การท่องเที่ยวและการส่งออกที่ยังขยายตัวจะเป็นแรงส่งเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี
ทำให้ที่ประชุม กกร. คงประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 จะขยายตัวได้ในกรอบ 2.5% ถึง 4.0% ในกรอบเดิม และคงประมาณการการส่งออกในปี 2565 ว่าจะยังขยายตัวในกรอบ 3.0% ถึง 5.0% และอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในปี 2565 ว่าจะขยายตัวในกรอบ 3.5% ถึง 5.5%
นอกจากนี้ กกร. ยังได้มีการหารือในประเด็นอื่น เพิ่มเติม ดังนี้
• สมาคมธนาคารไทย กรมสรรพากร และ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID) ร่วมด้วยสถาบันการเงิน 11 แห่ง ยกระดับการยืนยันตัวตน และเชื่อมข้อมูลการให้บริการภาษี วันที่ 23 พฤษภาคม 2565 กรมสรรพากร และ บริษัท เนชั่นแนลดิจิทัลไอดี จำกัด (NDID) ร่วมด้วยสถาบันการเงิน 11 แห่ง ได้ลงนามในบันทึกความเข้าใจ เรื่อง การเข้าถึงระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัล เพื่อสนับสนุนข้อมูลสำหรับการให้บริการธุรกรรมภาษี
โดยเชื่อมต่อกับระบบการพิสูจน์และยืนยันตัวตนทางดิจิทัลของ NDID เมื่อระบบนิติบุคคลสำเร็จ ก็พร้อมต่อยอดนำไปขอข้อมูล ภงด. เพื่อประกอบการขอสินเชื่อ หรือขยายผลไปยัง Use Case อื่นๆ เช่น Smart Financial Infrastructure การใช้บริการภาครัฐแบบ Pure Digital ทั้งหมดต้องช่วยกันผลักดันให้เป็นวาระแห่งชาติ
• ประเด็น พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 หรือ PDPA ที่มีผลบังคับใช้ในวันนี้ (1 มิ.ย. 65) จะเป็นเรื่องที่ดีและสร้างมาตรฐานให้กับการทำธุรกิจ แม้ว่าเรื่อง PDPA ได้มีการประกาศออกมาเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้ว แต่หลายฝ่ายยังคงกังวลในแนวปฏิบัติของกฎหมายที่ยังไม่ชัดเจน และมีความเสี่ยงสูงต่อการถูกลงโทษ ตามบทลงโทษที่รุนแรงตามกฎหมาย ซึ่งปัจจุบันกฎหมายลำดับรองกว่า 20 ฉบับยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
กกร. จึงได้เสนอให้ภาครัฐ พิจารณาทบทวนการไม่ใช้บทลงโทษจนกว่าจะออกกฎหมายลำดับรองที่จำเป็นครบถ้วน เพื่อไม่ให้เกิดการลงทุนในการปรับปรุงระบบที่ซ้ำซ้อนหรือไม่ถูกต้อง นอกจากนี้ ภาครัฐควรเน้นการประชาสัมพันธ์ สร้างให้ความรู้ความเข้าใจให้ภาคเอกชนและประชาชนในการศึกษาเตรียมตัวในระยะเวลาที่เพียงพอเหมาะสม ซึ่งจะช่วยทำให้การบังคับใช้กฎหมายเป็นไปตามเจตนารมย์และเป็นประโยชน์ในภาพรวมของประเทศ