ในยุคนี้เลี่ยงไม่ได้ว่าโซเชียลมีเดียกลายเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำหรับหลายๆ คน อย่างไรก็ตามในการใช้โซเชียลนั้นควรใช้อย่างมีขอบเขต โดยโซเชียลมีเดียเหล่านี้อยู่ภายใต้การดูแลของกฎหมาย PDPA หรือ พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล วันนี้กินอยู่เป็น 360 องศาแห่งการใช้ชีวิตจะพาคุณมาเช็กลิสต์กันว่า โพสต์โซเชียลอย่างไรไม่ให้ผิดกฎหมายของ PDPA
โพสต์โซเชียลอย่างไร ไม่ให้ผิดกฎหมาย PDPA
1.การถ่ายรูป-ถ่ายคลิป ติดภาพคนอื่นโดยเจ้าตัวไม่ยินยอม กรณีหากคุณมีการถ่ายรูป-ถ่ายคลิปโดยภายในคลิปหรือรูปภาพนั้นติดบุคคลอื่น โดยผู้ถ่ายรูป-ถ่ายคลิปมีเจตนา และการถ่ายรูปถ่ายคลิปดังกล่าวนั้นสร้างความเสียหายกับผู้ถูกถ่าย กรณีนี้ถือว่าผิดกฎพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล
2.หากนำรูปถ่ายหรือวิดีโอไปโพสต์โซเชียลมีเดีย โดยเจ้าตัวไม่ยินยอม ในการใช้โซเชียลมีเดีย ถ่ายรูปหรือวิดีโอของบุคคลอื่นนั้น คุณสามารถโพสต์อะไรก็ได้จริง แต่ต้องเพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว ไม่ใช้แสวงหากำไรทางการค้าและไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคล หากเจ้าของรูปหรือผู้ที่อยู่ในวิดีโอไม่ยินยอม คุณจะเข้าข่ายผิดกฎพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลค่ะ
3.ติดกล้องวงจรปิดแล้วไม่มีป้ายแจ้งเตือน หากการติดกล้องวงจรปิด ภายในบ้าน ไม่จำเป็นต้องมีป้ายแจ้งเตือน โดยหากมีจุดประสงค์เพื่อป้องกันอาชญากรรม และรักษาความปลอดภัยกับตัวเจ้าของบ้าน แต่หากมีจุดประสงค์นอกเหนือจากนี้อย่างเช่น ติดตั้งเผื่อบุกรุกสิทธิของบุคคุลอื่น หรือแอบติดตั้งโดยที่บุคคลที่อยู่ในคลิปไม่ยินยอม ก็จะถือว่าเข้าข่ายผิดกฎของ PDPA ค่ะ
4. เจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลต้องให้ความยินยอมทุกครั้งก่อนนำข้อมูลไปใช้ หากคุณจำเป็นที่จะต้องโพสต์หรือนำข้อมูลส่วนบุคคลของคนอื่นไปใช้ คุณจำเป็นต้องขอความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลดังกล่าวก่อนค่ะ แต่จะไม่ขอความยินยอมจากผู้ที่เป็นเจ้าของข้อมูลดังกล่าวนั้นก็ต่อเมื่อกรณี
(1) เป็นการทำตามสัญญา
(2) เป็นการใช้ที่มีกฎหมายให้อำนาจ
(3) เป็นการใช้เพื่อรักษาชีวิตและ/หรือ ร่างกายของบุคคล
(4) เป็นการใช้เพื่อการค้นคว้าวิจัยทางสถิติ
(5) เป็นการใช้เพื่อประโยชน์สาธารณะ
(6) เป็นการใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ หรือสิทธิของตนเอง
อย่างไรก็ตามทั้งนี้หลักการข้างต้น อาจเปลี่ยนแปลงตามข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นเป็นกรณีๆ ไป โดย PDPA หรือ “พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562″นี้ จะเริ่มใช้อย่างเป็นทางการในวันที่ 2 มิถุนายน 2565 นี้ค่ะ